ยกหลักฐาน 9 เคสควบรวมมายัน “ต่อพงศ์” กสทช.เสียงข้างมากแจงเหตุผล

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยกหลักฐาน 9 เคสควบรวมมายัน “ต่อพงศ์” กสทช.เสียงข้างมากแจงเหตุผล

Date Time: 24 ต.ค. 2565 05:04 น.

Summary

  • เปิดบันทึกความเห็นบอร์ด กสทช.เสียงข้างมากคนแรก “ต่อพงศ์” แจงต้องยึด ประกาศปี 61 ที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้ กสทช.ใช้อำนาจดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ ยกเคส 9 ราย รวมธุรกิจก่อนหน้า

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

เปิดบันทึกความเห็นบอร์ด กสทช.เสียงข้างมากคนแรก “ต่อพงศ์” แจงต้องยึดประกาศปี 61 ที่มีเจตนารมณ์ไม่ให้ กสทช.ใช้อำนาจดุลพินิจอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ ยกเคส 9 ราย รวมธุรกิจก่อนหน้า ก็ไม่ได้ใช้อำนาจอนุญาต ย้ำหลัง รวมธุรกิจถ้ามีผูกขาด ลดการแข่งขันสั่งห้ามรวมกิจการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากมติเสียงข้างมาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 รับทราบการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และให้กำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครอง ผู้บริโภคและพัฒนากิจการโทรคมนาคมนั้น มติบอร์ด ดังกล่าวยังกำหนดให้คณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 5 ราย ได้แก่ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ นายศุภัช ศุภชลาศัย น.ส.พิรงรอง รามสูต และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ต้องจัดส่งบันทึกความเห็นของแต่ละบุคคลด้วย

ทั้งนี้ การประชุมเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ซึ่งใช้ เวลาในการประชุมกว่า 11 ชั่วโมง มีมติเสียงข้างมาก รับทราบการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทค ในสัดส่วน 3 : 2 โดยเสียงข้างมากซึ่งเห็นว่าบอร์ดมีอำนาจแค่ รับทราบการควบรวม แต่สามารถกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคและอุตสาหกรรม ได้แก่ นพ.สรณ และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ งดออกเสียง ส่วน กสทช.เสียงข้างน้อย ซึ่งมีความเห็นไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ ได้แก่ นายศุภัช และ น.ส.พิรงรอง ซึ่ง กสทช.เสียงข้างน้อย 2 ราย ได้ส่งบันทึกความเห็นเรียบร้อยแล้ว

ล่าสุดนายต่อพงศ์ก็ได้ส่งบันทึกความเห็นให้กับเลขาธิการ กสทช.แล้ว ชี้แจงว่าการดำเนินการใดๆที่เป็นการรวมธุรกิจ ต้องดำเนินการตามประกาศฉบับที่ พ.ศ.2561 ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเจตนารมณ์ของประกาศ พ.ศ.2561 จัดทำขึ้นเพื่อไม่ให้ กสทช.มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตหรือไม่ อนุญาตการขอรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตอีกต่อไป สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บัญญัติว่า รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นแต่คงมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับ เพื่อป้องกันความเสียหายได้ โดยภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรร คลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดว่า กสทช.มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้มีการผูกขาดและก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

นอกจากนั้น ที่ผ่านมา เมื่อผู้รับใบอนุญาตขอรวมธุรกิจจำนวน 9 ราย ตามประกาศฉบับ 2561 กสทช.ไม่ได้ใช้อำนาจเพื่อพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตแต่อย่างใด อีกทั้งคณะกรรมการยังไม่เคยจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อที่จะใช้พิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตตามประกาศฉบับปี 2549 ด้วยและศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามโครงการจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจของทรูและดีแทคยังมีความเห็นว่า ตามประกาศ พ.ศ.2561 เรื่องผู้รับใบอนุญาตขอรวมธุรกิจ กสทช.ทำได้เพียงพิจารณากำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจอีกต่อไป โดยหากเกิดผลกระทบต่อการมีอำนาจเหนือตลาด กสทช.สามารถใช้กฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องมากำหนดเงื่อนไขได้ ภายหลังการรวมธุรกิจแล้ว หากบริษัทใหม่ไม่ปฏิบัติตามที่กำหนด ส่งผลให้เกิดการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขัน กสทช.มีอำนาจสั่งห้ามรวมกิจการได้ นอกจากนั้นยังมีอำนาจบังคับทางปกครอง สั่งระงับ การกระทำที่ฝ่าฝืน หรือให้แก้ไขในเวลาที่กำหนด รวมทั้งมีอำนาจปรับไม่ต่ำกว่าวันละ 20,000 บาทด้วย กรณีมีความเสียหายร้ายแรงต่อสาธารณะ มีอำนาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ