วิริยะประกันภัย ชูความเก๋าสู้โควิด-19

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

วิริยะประกันภัย ชูความเก๋าสู้โควิด-19

Date Time: 5 เม.ย. 2565 06:42 น.

Summary

  • ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปียามยากของธุรกิจประกันภัย เพราะต้องเผชิญกับอุบัติภัยใหม่ นั่นคือ “โรคโควิด-19” ทำให้หลายบริษัทประกันภัยต้องม้วนเสื่อหรือขาดสภาพคล่องที่รุนแรง

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นปียามยากของธุรกิจประกันภัย เพราะต้องเผชิญกับอุบัติภัยใหม่ นั่นคือ “โรคโควิด-19” ทำให้หลายบริษัทประกันภัยต้องม้วนเสื่อหรือขาดสภาพคล่องที่รุนแรง

อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายบริษัทประกันภัยที่ยังคงสามารถกัดฟันฮึดสู้จนผ่านพ้นพายุร้ายแรงนี้ได้ ด้วยประสบการณ์ความเก๋าที่อยู่ในธุรกิจนี้มายาวนานและด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่สามารถบริหารจัดการได้ดี

บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งปีนี้ครบรอบ 75 ปีของการดำเนินกิจการ นับเป็นหนึ่งในบริษัทประกันภัยที่สอบผ่านวิกฤติ “โควิด-19”

ปีที่ผ่านมามีผลประกอบการบรรลุเป้า ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 38,800 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 1.56% ในขณะที่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง ด้วยทรัพย์สิน 77,500 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 600.51% มีเงินกองทุนประมาณ 41,400 ล้านบาท จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสินไหมโควิดที่ต้องจ่าย แถมมีเพียงพอที่จะจ่ายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทุกฉบับ ที่บริษัทได้ให้ความคุ้มครองไว้

“อมร ทองธิว” กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย เปิดเผยว่า การดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบต่างเจอโจทย์ที่ยากที่สุด เพราะต้องเผชิญกับอุบัติภัยใหม่ “โรคโควิด-19” ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่สอง

“แต่ด้วยประสบการณ์ในการบริหารจัดการของวิริยะประกัน ภัย และการพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวทันอยู่ตลอดเวลา ทำให้วิริยะประกันภัยสามารถบริหารจัดการและก้าวผ่านโจทย์ที่ท้าทายนี้ไปได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง”

เห็นได้จากการได้รับความไว้วางใจจากผู้เอาประกันภัย ทำให้วิริยะประกันภัยยังคงเป็นผู้นำที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งของธุรกิจประกันวินาศภัยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 30

โดยในปี 2564 วิริยะประกันภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้นประมาณ 38,800 ล้านบาท มีอัตราเติบโต 1.56% แยกเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) 33,400 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) 5,400 ล้านบาท และยังคงมีกำไรสุทธิประมาณ 500 ล้านบาท

“อมร” กล่าวว่า การดำเนินงานในปีที่ผ่านมา สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดก็คือการบริหารจัดการการจ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด “เจอ จ่าย จบ” เพราะมีจำนวนของผู้เอาประกันภัยที่มาเปิดเคลมประกันภัยโควิดมีปริมาณมาก และยื่นพร้อมเพรียงในคราวเดียวกันหรือช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน จึงได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้เอาประกันภัยได้รับทราบว่า การยื่นเคลมค่าสินไหมสามารถยื่นได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการสินไหมทดแทนของบริษัทที่มีอยู่ทุกที่ทั่วไทย”

“ส่งผลให้ภาวะกระจุกตัวในการทำเคลมได้ถูกกระจายไปยังแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนรวดเร็ว ตามกลยุทธ์ การยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลางให้บริการครบวงจรด้วยความยืดหยุ่น”

“อมร” ยังย้ำอีกว่าสำหรับปีนี้แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น แต่บริษัทได้มีการประเมินความเสี่ยงตลอดเวลา และจากการประมาณการในสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ บริษัทฯก็มีสินทรัพย์สภาพคล่องและเงินกองทุน เพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยโควิดทุกฉบับที่ได้ให้ความคุ้มครองไว้ ด้วยปรัชญาในการทำธุรกิจของเรา นั่นก็คือ “ความเป็นธรรม คือ นโยบาย”

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2564 วิริยะประกันภัยมีสินทรัพย์รวม 77,500 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 600.51% มีเงินกองทุนประมาณ 41,400 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายอยู่ในระดับสูงเกินกว่ามาตรฐานที่สำนักงาน คปภ. กำหนดไว้ถึง 170%

ในส่วนของแผนการดำเนินงานในปี 2565 วิริยะประกันภัยจะดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “Data-Driven Innovation : เข้าใจ เข้าถึง เคียงข้างคุณทุกความเสี่ยงภัย”

อันเป็นกลยุทธ์ที่เกิดจากคณะผู้บริหารของบริษัทเห็นพ้องกันว่าจากเหตุการณ์วิกฤติโควิดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปอย่างมากและยังส่งผลกระทบไปถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะหดตัว กำลังซื้อลดลง วิริยะประกันภัยจึงเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองผู้เอาประกันภัยให้ทันต่อสถานการณ์ โดยการนำ Data-Driven Innovation มาใช้

“เราเป็นบริษัทประกันภัยอันดับ 1 ของตลาด ตั้งมากว่า 75 ปี มีลูกค้ากว่า 8 ล้านกรมธรรม์ จึงสามารถนำข้อมูลมากมายที่เก็บสะสมมาตลอด เพื่อคำนวณและประมาณการหาความคุ้มครองที่เหมาะสมกับผู้เอาประกันภัยกลุ่มต่างๆ ด้วยเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม”.

เจริญสุข ลิมป์บรรจงกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ