“จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” กางแผนธุรกิจปี 65 เทหมดหน้าตัก 500 ล้านบาท ผลิตศิลปิน-มิวสิควิดีโอเพิ่ม 100% เหตุโควิด-19 เริ่มลดลง ดันเต็มสูบ กระตุ้นนักร้องพัฒนาทักษะ Reskill-Upskil ใช้สื่อโซเชียลที่ถนัดเสริมศักยภาพมิวสิกมาร์เกตติ้งสู่ช่องทางหารายได้ใหม่ๆ ด้วยจำนวนศิลปินในเครือ 300 ชีวิต ผู้ติดตามมากกว่า 100 ล้านคน ยอดวิวปีละ 18,000 ล้านครั้ง
นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้จะเป็นปีที่จีเอ็มเอ็ม มิวสิคเดินหน้าลงทุนเต็มพิกัดอีกครั้ง มีเป้าหมายผลิตศิลปินและมิวสิกวิดีโอเพิ่ม 100% จากช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 2 ปีที่ผ่านมาลดสเกลลงเหลือ 30-50% เท่านั้น
“เราเรียนรู้ว่าเราไม่สามารถหยุดนิ่งได้ในช่วงวิกฤติ ในทางตรงกันข้ามยิ่งต้องเดินหน้าลุย เพิ่มจำนวนศิลปินเพื่อความหลากหลายรองรับความต้องการของตลาด ปีนี้จีเอ็มเอ็ม มิวสิคตั้งงบลงทุนไว้สูงถึง 500 ล้านบาทเพื่อขยายฐานศิลปินที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 คน”
เดินหน้าจัดเทศกาลดนตรีทั่วไทย
สำหรับทิศทางของธุรกิจเพลงในปีนี้ นอกจากการกลับมาจัดเทศกาลดนตรีเต็มรูปแบบทั่วทุกภาค จากปี 2564 ที่ไม่ได้จัดทั้งปี คิกออฟด้วยเทศกาลดนตรีที่ชะอำ “นั่งเล บีชปาร์ตี้แอนด์มิวสิกเฟสติวัล” วันที่ 30 เม.ย.นี้ รองรับคนได้ราว 10,000 คน รวมทั้งเทศกาลดนตรีใหญ่ที่สุดของแกรมมี่คือคอนเสิร์ตบิ๊กเมาท์เท่น (Big Mountain) ที่รองรับผู้ชมได้กว่า 70,000 คนก็จะกลับมาแน่นอน ภายใต้เป้าหมายพัฒนาธุรกิจโชว์บิซ (จัดคอนเสิร์ต) สู่ระดับสากลเทียบเท่าเทศกาลดนตรีระดับโลกที่มีผู้ชม 300,000 คน ซึ่งไทยมีพื้นที่รองรับการจัดงานในระดับนั้นได้อย่างสบาย
จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ยังเพิ่งบุกเข้าสู่ธุรกิจสตรีมมิ่งผ่านแอปพลิเคชัน “เพลิน” (Plern) หลังเปิดตัว 3 เดือน ทำยอดดาวน์โหลดสูงสุดบนกูเกิลเพลย์ที่ 1 ล้านโหลด อย่างไรก็ตาม แม้ช่องทางดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเพลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การขายผ่านสินค้าดั้งเดิม (Physical) ไม่ว่าจะเป็นแผ่นซีดี, MP3 thumb drive แผ่น MP3 ตลอดจนแผ่นไวนิล ก็ยังไม่ตาย ขายได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะในตลาดนักสะสม
ทั้งนี้ จากการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ธุรกิจเพลงซึ่งเป็นธุรกิจหลักของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ประกอบด้วยธุรกิจดิจิทัล มิวสิคและการขายลิขสิทธิ์, ธุรกิจบริหารศิลปิน, ธุรกิจโชว์บิซ และการจำหน่ายสินค้าศิลปิน สินค้าเพลงและธุรกิจอื่นๆ โดยในปี 2564 มีรายได้จากธุรกิจเพลง 1,816.1 ล้านบาท หรือ 47.4% ของรายได้จากการดำเนินงานทั้งหมดที่ 3,835.4 ล้านบาท ลดลง 34.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องด้วยโควิด ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ จึงไม่มีรายได้จากการจัดคอนเสิร์ต
นักร้องก็ต้อง Reskill-Upskil
นายภาวิตยังกล่าวอีกว่า ปี 2565 ยังจะเป็นปีที่จีเอ็มเอ็มคาดหวังว่าภูมิทัศน์ของธุรกิจเพลงจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญเสียที โดยเฉพาะการใช้มิวสิกมาร์เกตติ้งมาช่วยขยายตลาดและปิดการขาย โดยคาดหวังว่าจะมีเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาในตลาดมิวสิกมาร์เกตติ้งมากขึ้น จากปัจจุบันมีสัดส่วนราว 5-10% ของงบโฆษณาทั้งระบบที่ราวปีละ 100,000 ล้านบาท
“นี่เป็นเหตุให้ในช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามกระตุ้นศิลปินในค่ายให้พัฒนาทั้งปรับทักษะ (Reskill) เพิ่มทักษะ (Upskill) รองรับการสร้างรายได้ใหม่ๆไปด้วยกัน โดยเฉพาะการมีบัญชีโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเอง ใครถนัดแพลตฟอร์มไหน ก็ให้หัดลอง หัดเล่น สมัยก่อนเราเห็นลูกค้าแสวงหาพรีเซนเตอร์ที่ดีเพียบพร้อม แต่ปัจจุบันเทรนด์คือการนำเสนอตัวตนที่แท้จริงที่สอดคล้องกับแบรนด์ ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียคือการสื่อตัวตนที่แท้จริงของศิลปินได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ปัจจุบันจีเอ็มเอ็มมิวสิคมีศิลปินในเครือกว่า 300 ชีวิต ผู้ติดตามรวมกันผ่านทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากกว่า 100 ล้านคน ยอดวิว (View) หรือยอดการรับชมมิวสิกวิดีโอปีละ 18,000 ล้านครั้ง มีความหลากหลายของศิลปิน ตั้งแต่เบิร์ด ธงไชย, ตูน บอดี้สแลม, เป๊ก ผลิตโชค ไปจนถึงศิลปินรุ่นใหม่อย่าง Three Man Down, Tilly Birds, ไททศมิตร ตลอดจนศิลปินลูกทุ่ง เช่น ไผ่-พงศธร, ไมค์-ภิรมย์พร, ต่าย-อรทัย, ตั๊กแตน-ชลดา และลำเพลิน วงศกร เป็นต้น
เลือกเพชรปั้นให้มาเป็นเพชร
นอกเหนือจากการกระตุ้นให้ศิลปินในเครือ 300 กว่าชีวิต พัฒนาทักษะรองรับการหารายได้ใหม่ๆแล้ว ปีนี้จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ยังเดินหน้าสร้างศิลปินหน้าใหม่แบบเต็มสูบ โดยเฉพาะตลาดไอดอลซึ่งมีฐานแฟนคลับรองรับการบุกสู่มิวสิกมาร์เกตติ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคัดเลือกเด็กในวัย 10 ขวบ มาฝึกฝนเพื่อเดบิวต์เป็นศิลปิน ซึ่งเมื่อเดือน ก.ย. 2564 ได้ร่วมทุนกับ YG Entertainment Inc. แห่งประเทศเกาหลีใต้ เปิดบริษัทพัฒนาศิลปินแบบครบวงจร YG”MM (วายจีเอ็มเอ็ม) ประกาศออดิชันหรือคัดเลือกเข้าเป็นศิลปินฝึกหัด ซึ่งมีผู้สมัครกว่า 60,000 คน จาก 93 ประเทศทั่วโลก ล่าสุดกระบวนการคัดเลือกเสร็จสิ้นแล้วและถูกเก็บเป็นความลับ ผู้ที่ผ่านการออดิชันจะได้เข้ารับการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพในประเทศไทย และต่อยอดในการเป็นศิลปินของ YG”MM
“เป้าหมายการคัดเลือกศิลปิน ซึ่งเกาหลีมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้มาก คือการเลือกเพชรให้มาเป็นเพชร นั่นคือเพชรที่พร้อมถูกเจียระไนเพื่อให้เป็นเพชรที่สมบูรณ์แบบ เพราะหินขัดอย่างไรก็ไม่เป็นเพชร จากการออดิชันที่ผ่านมา เราพบว่าศิลปินยุคใหม่เก่งมากๆ โดดเด่นโดยเนื้อแท้ มีดีเอ็นเอที่แตกต่าง แต่แม้จะเก่งสักเท่าไร ก็ต้องยอมรับความจริงที่ว่าการสร้างศิลปินอยู่ภายใต้สมการ 100-90-10-1 นั่นคือเลือกจาก 100 คัดเหลือ 90 คัดเหลือ 10 และสุดท้ายศิลปินผู้เจิดจรัสจะเหลือเพียง 1 เดียวและระยะเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์”
นายภาวิตกล่าวปิดท้ายว่า ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจไร้อายุ (Music is ageless) เพลงเป็นที่ชื่นชอบของคนทุกวัย หน้าที่ของจีเอ็มเอ็มในฐานะพี่ใหญ่แห่งธุรกิจ จึงจำเป็นที่จะต้องช่วยขับเคลื่อนผ่านการลงทุนต่อเนื่อง เพาะบ่ม ปลูก-เติมต้นกล้าศิลปินเพลงรุ่นใหม่ให้เติบโต แม้ในช่วงวิกฤติ.