เปิดสูตรแลกหุ้น “ทรู-ดีแทค” เปลี่ยนผ่านสู่เทคคัมปะนี

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดสูตรแลกหุ้น “ทรู-ดีแทค” เปลี่ยนผ่านสู่เทคคัมปะนี

Date Time: 23 พ.ย. 2564 07:03 น.

Summary

  • บอร์ดทรู-ดีแทค เคาะศึกษาแผนควบรวมแลกหุ้นตั้งบริษัทใหม่เปิดสูตรแลกหุ้น “ศุภชัย–ซิคเว่” เปิดวิสัยทัศน์ควบรวมสู่บริษัทเทคโนโลยี เพื่อความอยู่รอดในอีก 20 ปีข้างหน้า

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

บอร์ดทรู-ดีแทค เคาะศึกษาแผนควบรวมแลกหุ้นตั้งบริษัทใหม่เปิดสูตรแลกหุ้น 1 หุ้นดีแทคแลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 24.53 หุ้น ราคาหุ้นละ 47.76 บาท ส่วนทรู 1 หุ้นแลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 2.40 หุ้น ราคาหุ้นละ 5.09 บาท “ศุภชัย-ซิคเว่” เปิดวิสัยทัศน์ควบรวมสู่บริษัทเทคโนโลยี เพื่อความอยู่รอดในอีก 20 ปีข้างหน้า โชว์รายได้รวมกัน 2.1 แสนล้านบาท กำไร 8 หมื่นล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC (ดีแทค) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ถึงมติคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทเกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไข ซึ่งดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.บริษัทมหาชน พ.ศ.2535

ทั้งนี้ การทำบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (MOU) เพื่อศึกษาการควบรวมธุรกิจ ด้วยวิธีการควบรวมบริษัท โดยทั้ง 2 บริษัท ได้กำหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สำหรับหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม ให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ดังนี้ 1 หุ้นดีแทคแลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 24.53 หุ้น ขณะที่ 1 หุ้นทรูแลกหุ้นบริษัทใหม่ได้ 2.40 หุ้น โดยอัตราการจัดสรรหุ้นนี้ กำหนดขึ้นจากสมมติฐานว่า หลังการควบรวมบริษัทใหม่จะมีหุ้นออกจำหน่ายทั้งหมด 138,208 ล้านหุ้น (พาร์ 1 บาท) ซึ่งบอร์ดทั้ง 2 บริษัทพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนการควบรวมบริษัทต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมทั้ง 2 บริษัท ยังรับทราบจากบริษัท ซิทริน โกลบอล จำกัด ในฐานะผู้ทําคําเสนอซื้อ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ผู้ถือหุ้นใหญ่ทรู) และเทเลนอร์ เอเซีย (ผู้ถือหุ้น ดีแทค) โดยซิทริน โกลบอล จะทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ 2 บริษัท โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนทําคําเสนอซื้อ โดยราคาเสนอซื้อหุ้นดีแทค อยู่ที่หุ้นละ 47.76 บาท และราคาหุ้นทรูอยู่ที่หุ้นละ 5.09 บาท และจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ประสงค์จะถือหุ้นในบริษัทใหม่สามารถขายหุ้นในการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์โดยสมัครใจได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากพิจารณาสัดส่วนการแลกหุ้นเดิมของผู้ถือหุ้นทรู และดีแทค เป็นหุ้นในบริษัทใหม่ ที่จะมีหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมด 138,208 ล้านหุ้น โดยมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท นั้น แบ่งเป็นผู้ถือหุ้นทรู 80,107 ล้านหุ้น หรือ 57.96% และผู้ถือหุ้นดีแทค 58,100 ล้านหุ้น หรือ 42.03%

ควบรวมเพื่ออยู่รอดอีก 20 ปีข้างหน้า

ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 22 พ.ย.64 หลังการแจ้งข่าวควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคต่อตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วงเช้าไปแล้ว นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และประธานกรรมการทรู และนายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ (ผู้ถือหุ้นใหญ่ดีแทค) ก็ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายซิคเว่กล่าวว่า บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นความร่วมมือระหว่างซีพีและเทเลนอร์อย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) สนับสนุนให้ทรูและดีแทคปรับโครงสร้างธุรกิจไปสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ที่สามารถอยู่รอดและแข่งขันในโลกธุรกิจอีก 20 ปีข้างหน้าได้ต่อไป ซึ่งการควบรวมดังกล่าวนำไปสู่การมีรายได้รวมกัน 217,000 ล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 83,000 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดหรือมาร์เกตแชร์ในแง่ของรายได้ไม่เกิน 40% โดยเอไอเอสยังคงครองที่ 1 อยู่

ทั้งนี้ หลังประกาศความร่วมมือกันวันที่ 22 พ.ย.64 แล้ว จากนี้จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะธุรกิจ หรือ Due Diligence ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 ก่อนเริ่มต้นลงนามในข้อตกลงและเงื่อนไขทางธุรกิจ รวมทั้งข้อกฎหมายต่างๆ ในไตรมาส 2 ปี 65 ตลอดจนการทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หรือคำเสนอซื้อหุ้นจากรายย่อยของทั้งดีแทคและทรู เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการควบรวม

ด้านนายศุภชัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมมีมูลค่าเพิ่มน้อยลงทุกที จนเหมือนเป็นท่อส่งข้อมูลโง่ๆ (Dump pipe) จึงมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มมูลค่าใหม่ๆเปลี่ยนผ่าน (Transform) ทรูและดีแทคไปสู่บริษัทเทคโนโลยีที่ไม่ได้โฟกัสเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคม และสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยมีเป้าหมายขยายสินค้าและบริการไปสู่ธุรกิจ AI (ปัญญาประดิษฐ์), แพลตฟอร์มดิจิทัลมีเดีย, IoT (Internet of Things), คลาวด์ รวมทั้งการตั้งกองทุน Venture Capital มูลค่าไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญฯ เน้นลงทุนในสตาร์ตอัพไทยและต่างประเทศ ที่ตั้งในประเทศไทย และศึกษาเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) ด้วย

วิน-วินทุกฝ่ายยกเว้นผู้ใช้บริการ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารทั้งหมดปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะดีแทคและทรู โดยระยะสั้นราคาหุ้นจะปรับขึ้นใกล้เคียงกับราคาที่ตั้งโต๊ะเสนอซื้อหุ้นคืน ซึ่งสูงกว่าราคาซื้อขายในกระดาน ส่วนระยะยาวอาจต้องพิจารณามูลค่าเพิ่ม เมื่อรวมกันเป็นบริษัทใหม่อีกครั้ง ส่วนเอไอเอสที่ได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการแข่งขันลดลง โดยบริษัทหลักทรัพย์ต่างปรับขึ้นราคาเป้าหมายของ 3 ยักษ์สื่อสาร เพราะตลาดมีผู้เล่นลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย อาจทำให้การแข่งขันด้านราคาลดลง ส่งผลกระทบผู้บริโภค และหลังจากนี้ ดีแทคและทรูจะต้องเตรียมเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดฯ เพื่อนำบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียน คาดว่าต้องใช้เวลา 4-6 เดือน

บล.เอเซียพลัสวิเคราะห์ดีลการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคบวกต่อกลุ่มสื่อสารทั้งภาพรวมธุรกิจและภาพรวมอุตสาหกรรม สร้างประโยชน์ต่อทั้งทรูและดีแทค ช่วยปิดจุดอ่อนแต่ละฝ่าย สำหรับจุดแข็งของบริษัทใหม่ คือลดต้นทุนที่ซับซ้อน เช่น โครงข่าย สาขาให้บริการลงปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท, ประหยัดงบลงทุน จากดีแทคกับทรู เคยแยกกันลงทุนปีละ 40,000 ล้านบาท เทียบกับเอไอเอส ปีละ 27,500 ล้านบาท เมื่อควบรวมแล้วคาดว่าจะลดลงปีละ 10,000 ล้านบาท ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมจากจำนวนผู้ประกอบการเหลือ 2 ราย คาดว่าความเข้มข้นการแข่งขันจะลดลง ซึ่งจะเป็นบวกต่อการเติบโตรายได้ทั้งกลุ่มสื่อสาร

“กสทช.” เปรยอาจเข้าข่ายครอบงำตลาด

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหลังการเข้าชี้แจงของดีแทคต่อกรณีประกาศควบรวมกิจการกับทรูว่า ดีแทคยังไม่สามารถให้รายละเอียดการควบรวมได้มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าจะมีผู้ให้บริการหายไปจากตลาดหรือไม่ หากหายไปก็จะกระทบต่อจำนวนผู้แข่งขันในตลาดแน่นอน “ภายใต้เกณฑ์ครอบงำตลาดนั้น ปัจจุบันเราวางไว้ที่การมีส่วนแบ่งตลาดหรือมาร์เกตแชร์ทั้งในแง่ของรายได้และจำนวนเลขหมายเกิน 25% ซึ่งเกินเกณฑ์ทั้ง 3 ราย ดังนั้น หากมีการควบรวมกันอีกก็น่าจะยิ่งเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทจะต้องเข้ามารายงานความคืบหน้าทุกเดือน โดยในวันที่ 23 พ.ย. จะเป็นคิวของทรูเข้ามาชี้แจงต่อบอร์ด กสทช.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ