เหลียวหลัง-แลหน้าอภิมหาดีลทรู-ดีแทค

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เหลียวหลัง-แลหน้าอภิมหาดีลทรู-ดีแทค

Date Time: 23 พ.ย. 2564 05:48 น.

Summary

  • 5 ปีก่อนตอนมีข่าวพาดหัวว่า “ทรูจ่อซื้อดีแทค” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

5 ปีก่อนตอนมีข่าวพาดหัวว่า “ทรูจ่อซื้อดีแทค” ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกกับสื่อมวลชนว่า “งงมาก” โดยเฉพาะเมื่อสื่อสายหุ้นดังกล่าวฟันธงว่าดีลนี้จะมีความชัดเจนในวันที่ 18 พ.ย.2559

ซีอีโอของทรู (ขณะนั้น) ตอบสื่อที่ยิงคำถามใส่เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2559 ว่า ไม่เคยมีการเจรจากัน แม้จะมีตัวกลาง หรือ Investment Bank เข้ามาทาบทาม ถามทรูว่าสนใจจะซื้อดีแทคหรือไม่ แต่ไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ไม่เคยมีการเจรจาแม้แต่ครั้งเดียว “ผมงงมาก จะมีอะไรได้อย่างไร เราไม่เคยเจรจากันเลย”

เขาทิ้งท้ายจบบทสนทนาในวันนั้นว่า “ในมุมธุรกิจ ทรูสนใจดีแทค แต่ไม่ได้หมายความว่าสนใจแล้วจะต้องเข้าไปซื้อเลย”

5 ปีล่วงเลยผ่าน ระหว่างทางจนถึงปัจจุบัน ข่าวทรูซื้อดีแทคไม่เคยจางหายไป แต่ย้อนกลับมาเป็นกระแสต่อเนื่องเป็นช่วงๆ หนาหูยิ่งขึ้นตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จวบจนเดือน พ.ย.เวียนมาบรรจบอีกครั้ง และคราวนี้ไม่ใช่ ”ข่าว” ที่ศุภชัยจะตอบว่า “งงมาก” ได้อีกต่อไป เมื่อสำนัก ข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ว่า เทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค ได้ออกแถลงการณ์ว่ากำลังอยู่ระหว่างเจรจากับซีพี (ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของทรู) เพื่อควบรวมกิจการมือถือเข้าด้วยกัน

ทันทีที่รอยเตอร์ยิงข่าวเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2564 ทรูและดีแทคก็ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามมาด้วยข้อความคล้ายคลึงกัน ระบุหากมีข้อชี้แจงใดๆ ซึ่งทางทรูและดีแทคมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทราบก็จะดำเนินการอย่างแน่นอน ขณะที่ซีพีมีแต่ความเงียบงัน เนื่องจากไม่ได้กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่มีภาระหน้าที่ในการชี้แจงข่าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสแก่นักลงทุน

ซิคเว่ เบรกเก้
ซิคเว่ เบรกเก้

หันมาดูในฝั่งของเทเลนอร์กันบ้าง ตอนถูกพาดหัวข่าวว่าดีแทคจะขายกิจการเมื่อปี 2559 นางกุนน์ วาร์ทสเตท ประธานกรรมการเทเลนอร์ กรุ๊ป (ขณะนั้น) เปิดเผยระหว่างเดือนทางมาเยือนไทยเมื่อเดือน ก.ย. 2559 ว่า เทเลนอร์ยังยืนหยัดลงทุนในไทย และดีแทคเป็นบริษัทที่ทำรายได้สูงที่สุดให้กับเทเลนอร์ สอดคล้องกับที่ ซิคเว่ เบรกเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันของเทเลนอร์ ตอกย้ำในงาน Webinar เมื่อเดือน ต.ค. 2564 ว่า เทเลนอร์อยู่ในประเทศไทยมา 20 ปีแล้ว และตั้งใจจะอยู่ต่อไปอีก 20 ปี

เพื่อให้เป็นไปตามที่ตั้งใจ ตลอดปีเศษในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด–19 พาสปอร์ตของ “ซิคเว่” จึงถูกประทับตราเดินทางเข้าประเทศไทยแบบเงียบๆ หลายครั้ง ผ่านการกักตัว 14 วันหลายรอบ

เพราะการจะอยู่ได้ยาวในสถานการณ์แบบดีแทค “ซิคเว่”จำเป็นต้องสร้างโมเดลใหม่เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดมือถือไทย ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นอย่างเทเลนอร์ที่คาดหวังดอกผลจากการลงทุนในดีแทคกลับคืนอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมาดีแทคเลือกที่จะส่งเงินกลับประเทศแม่มากกว่าทุ่มลงทุนด้านเครือข่าย เพื่อเสริมพลังการแข่งขัน ผลที่ตามมาก็เป็นอย่างที่เราๆท่านๆได้ประจักษ์ดีแทคร่วงลงมาจากผู้ให้บริการเบอร์ 2 สู่เบอร์ 3 โดยยังทำกำไรเพื่อจ่ายปันผลได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อความพยายามในการลดการลงทุน ลดค่าใช้จ่าย รัดเข็มขัดแบบสุดพลังได้ถูกทำไปหมดสิ้นแบบสุดซอย จึงน่าจะถึงเวลาที่ดีแทคจะก้าวไปสู่ Chapter ใหม่ๆที่ไม่ใช่การขายกิจการ แต่เป็นการจับมือกับทรูเพื่อเติบโตไปด้วยกัน ลดละเลิกการลงทุนซ้ำซ้อน โดยเฉพาะการประมูลค่าคลื่นความถี่ที่แพงมหาศาลในประเทศไทย หยุดการขยายโครงข่ายลงทุนสถานีฐานแข่งกันปักเสาสัญญาณถี่ยิบ แล้วหันมาโฟกัสเทคโนโลยีใหม่ๆ อัปเกรดสินค้าและบริการให้เป็นมากกว่าแค่โครงข่ายโทรคมนาคม เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในธุรกิจแห่งโลกอนาคต 20 ปีข้างหน้าด้วยกัน

เมื่อมองในมุมของทรู น้องเล็กที่เข้าสู่ตลาดท้ายสุด กัดฟันสู้จนก้าวขึ้นสู่ผู้ให้บริการเบอร์ 2 แน่นอนหากควบรวมกับดีแทคได้สำเร็จ ความใฝ่ฝันของ “ศุภชัย” ที่จะก้าวไปสู่การเป็นเบอร์ 1 ก็อยู่แค่เอื้อม ด้วยจำนวนฐานลูกค้ารวมกันทะลุ 50 ล้านเลขหมาย ทั้งทรูและดีแทคจะมีต้นทุนค่าบริการที่ต่ำลง เช่นเดียวกับต้นทุนอื่นๆในธุรกิจมือถือที่ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

เหนือไปกว่านั้นกลยุทธ์เปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นพันธมิตร จับมือกับเทเลนอร์ซึ่งมีเครือข่ายการลงทุนทั่วโลก ยังถือว่าตอบโจทย์วิสัยทัศน์การเปลี่ยนผ่าน (Transform) ทรูสู่โอกาสเติบโตใหม่ๆ (New S-Curve) ผ่านการขยายบริการด้านเทคโนโลยีหลากหลาย ต่อกรกับธุรกิจแพลตฟอร์มระดับโลก ที่ทำมาหากินอยู่บนโครงข่ายของทรูได้ในอนาคต นอกจากการช่วยยกระดับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ที่ “ศุภชัย” มองว่าเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโครงข่ายเสมอ

สิ่งที่น่าจะท้าทายยิ่ง นอกจากการประสานผลประโยชน์ให้ลงตัวทั้ง 2 ฝ่ายและการสอบผ่านเงื่อนไขด้านกฎหมาย ข้อบังคับของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว น่าจะเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างอย่างสุดขั้ว ดีแทคถูกบริหารแบบกระจายอำนาจ โครงสร้างองค์กรมีความคล่องตัว ความโปร่งใสสูงมาตรฐานประเทศสแกนดิเนเวีย ขณะที่ทรูยังถูกบริหารแบบอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ระดับบน

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด การจะกล่าวถึงทรูและดีแทค โดยที่ตกหล่น “เอไอเอส” ไป คงไม่สามารถปิดท้ายได้อย่างสมบูรณ์ สำหรับผู้ให้บริการเบอร์ 1 ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีอย่าง “เอไอเอส” นั้น หากไม่ซีเรียสเรื่องการดำรงไว้ซึ่งหัวโขนของความเป็นที่ 1 ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สังเวียนการแข่งขันที่จะเหลือกันแค่ 2 รายจาก 3 ราย (ไม่นับ NT ที่ต่อไปน่าจะเป็นทางเลือกด้านราคาที่น่าสนใจ) จะส่งผลดีต่อเอไอเอสในการสร้างกำไรได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยๆก็น่าจะช่วยลดการตะลุมบอนด้านราคาที่รุนแรงลง.

ศุภิกา ยิ้มละมัย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ