บินไทยเดินหน้าฟื้นฟูกิจการ เร่งขายสมบัติเดิม-จ่อกู้เพิ่มลุยธุรกิจ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

บินไทยเดินหน้าฟื้นฟูกิจการ เร่งขายสมบัติเดิม-จ่อกู้เพิ่มลุยธุรกิจ

Date Time: 1 พ.ย. 2564 06:10 น.

Summary

  • “บินไทย” แจงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เขย่า โครงสร้างธุรกิจ ลดคน ลดรายจ่าย ลดแบบเครื่องบิน ลดทุน จัดสภาพคล่องการเงินผ่านฉลุย เร่งขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“บินไทย” แจงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ เขย่า โครงสร้างธุรกิจ ลดคน ลดรายจ่าย ลดแบบเครื่องบิน ลดทุน จัดสภาพคล่องการเงินผ่านฉลุย เร่งขายอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ 19 รายการ ขายได้แล้ว 3 รายการ หวังเสริมกระแสเงินสดในมือสิ้นปีนี้ให้ได้ 1.6 พันล้านบาท ขณะที่แผนจัดหาสินเชื่อใหม่ คาด ธ.ค.นี้ ยื่นสัญญาขอกู้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนดังกล่าวตั้งแต่ 15 มิ.ย.64 ว่า ขณะนี้การบินไทยได้เริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูมากว่า 4 เดือน มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องทั้งเรื่องการชำระหนี้ สำหรับงวดระหว่างวันที่ 15 มิ.ย.-14 ก.ย.64 โดยได้ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน รวมการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเงินกว่า 1,200 ล้านบาท ส่วนการปรับโครงสร้างทุน การลดทุนและการเพิ่มทุนนั้น ผู้บริหารแผนได้ดำเนินการลดทุนจดทะเบียนจาก 26,900 ล้านบาท เป็น 21,800 ล้านบาท โดยการตัดหุ้นของบริษัทที่ยังไม่ได้ออกและจำหน่าย 516 ล้านหุ้นเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ การบินไทยยังได้ปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งการปรับลดค่าใช้จ่ายบุคลากร ปรับและบูรณาการกระบวนการทำงาน ปรับลดค่าเช่าและเช่าซื้ออากาศยาน ปรับลดแบบเครื่องบินจาก 8 แบบ เหลือ 5 แบบ ปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 เหลือ 4 ประเภท และปรับปรุงระเบียบข้อบังคับการทำงาน ซึ่งการปรับโครงสร้างและลดขนาดองค์กรในช่วงที่ผ่านมานั้น ทำให้ปัจจุบันการบินไทยมีจำนวนพนักงานจาก 29,500 คน เหลือ 21,300 คน และจะปรับลดต่อเนื่องในปี 65 ให้เหลือ 14,500-14,750 คน อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาการบินไทยได้จัดสภาพคล่องทางการเงิน โดยขยายระยะเวลาการชำระหนี้ พักชำระหนี้และดอกเบี้ย ปรับลดหนี้ในส่วนที่มีภาระดอกเบี้ย เจรจาปรับลดภาระผูกพันตามสัญญา เพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ อาทิ การใช้บัตรกำนัลแทนเงินสด ส่วนแผนแปลงหนี้เป็นทุน ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากมีกรอบเวลาดำเนินการภายหลังจากได้รับสินเชื่อใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในปี 64 การบินไทยได้ปรับลดฝูงบินที่ไม่สอดคล้องกับแผนดำเนินงาน โดยปลดระวางอากาศยานเพิ่มเติมจำนวน 45 ลำ จากปี 63 ที่มีจำนวน 103 ลำ คงเหลือฝูงบินดำเนินงาน 58 ลำ สำหรับอากาศยานที่จอดรอขายในปีนี้ แบ่งออกเป็น แอร์บัส A330-300 จำนวน 3 ลำ แอร์บัส A230-800 จำนวน 2 ลำ โบอิ้ง 747-400 จำนวน 10 ลำ โบอิ้ง 777-200 จำนวน 6 ลำ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และโบอิ้ง 777-300 จำนวน 6 ลำ รวมทั้งยังมีอากาศยานจอดรอคืน แบ่งเป็น แอร์บัส A330-300 จำนวน 12 ลำ และแอร์บัส A380-300 จำนวน 6 ลำ

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน การบินไทยมีแผนประกาศขายอสังหา ริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 19 รายการ โดยช่วงที่ผ่านมาจำหน่ายแล้วเสร็จ 3 รายการ อยู่ระหว่างดำเนินการขาย 16 รายการ โดยแบ่งเป็น อสังหาริมทรัพย์ในประเทศรวม 10 แห่ง ขายแล้วเสร็จ 3 แห่ง และอยู่ระหว่างดำเนินการขายอีก 7 แห่ง ประกอบด้วยที่ดินและอาคารสำนักงานสีลม, ที่ดินและอาคารรักคุณเท่าฟ้า ดอนเมือง, ที่ดินและอาคารจังหวัดเชียงใหม่, ที่ดินและอาคารจังหวัดเชียงราย, ที่ดินและอาคารจังหวัดพิษณุโลก, ที่ดินและอาคารจังหวัดอุดรธานี และที่ดินและอาคารจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ ยังมีแผนประกาศขายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ รวม 9 รายการ คือ อังกฤษ 2 รายการ, อิตาลี 1 รายการ, ฟิลิปปินส์ 1 รายการ, ฮ่องกง 2 รายการ, สิงคโปร์ 2 รายการ และอินโดนีเซีย 1 รายการ

สำหรับแผนปรับโครงสร้างและการจัดการสภาพคล่องนี้ การบินไทยประมาณการว่าภายในเดือน ธ.ค.64 จะมีกระแสเงินสดในมืออยู่ที่ 1,651 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประมาณการรวมขายที่ดินและอาคารและการขายหุ้น BAFS แต่ไม่รวมการขายเครื่องบิน ส่วนกรณีที่การบินไทยต้องดำเนินการจัดหาสินเชื่อใหม่ ปัจจุบันได้จัดทำรูปแบบ เงื่อนไข และข้อกำหนดของสินเชื่อใหม่ให้ผู้บริหารแผนพิจารณา คาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ จะสามารถร่างสัญญาสินเชื่อใหม่ พร้อมนำส่งสัญญาให้กับผู้ให้สินเชื่อใหม่ได้

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงการช่วยเหลือธุรกิจสายการบินว่า ได้ช่วยเหลือด้วยการเติมสภาพคล่องการเงิน ผ่านธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) โดยพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม ขณะที่นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ เอ็กซิม แบงก์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ช่วยเหลือสินเชื่อธุรกิจสายการบินไปแล้ว 3,000-4,000 ล้านบาท เป็นการเติมสภาพคล่องให้สามารถจ้างพนักงานต่อเนื่องได้ ยกเว้นสายการบินที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากติดข้อกฎหมายไม่สามารถช่วยเหลือได้ ส่วนการช่วยเหลือเพิ่มเติมหลังเปิดประเทศ หรือปี 65 ต้องพิจารณาแผนธุรกิจและรายได้ของสายการบินด้วยว่าจะปล่อยสินเชื่อให้ได้เท่าไร.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ