ดัชนีเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกเดือน เม.ย.ลดลง 43% ยอดขายร่วง 40% หนักหนาไม่ต่างกับช่วงล็อกดาวน์ปี 63 โดยในพื้นที่คุมเข้มพิเศษสีแดง 6 จังหวัด กินสัดส่วนกว่า 22% ของ GPP ประเทศ กระทบการจ้างงานภาคค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหารและการท่องเที่ยวกว่า 3.12 ล้านคน เสนอรัฐช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50%
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทย โดยในเดือน เม.ย. เป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 16-24 เม.ย.2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000แห่ง และร้านค้าปลีก ภัตตาคาร ร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 6,000 แห่ง
โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) เดือน เม.ย. ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมในเดือน เม.ย. same store sale growth (SSSG) เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. (Month on Month)มีทิศทางลดลงกว่า 40% สะท้อนให้เห็นว่ายอดขายสาขาลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิลและความถี่ในการจับจ่าย โดยดัชนีลดลงชัดเจนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคใต้ ที่เป็นสถานที่แพร่เชื้อหลัก
เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเมื่อจำแนกตามประเภทร้านค้าปลีก เปรียบเทียบระหว่างเดือน เม.ย.และ มี.ค. พบว่าลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 ในทุกประเภทร้านค้าปลีก สะท้อนว่าผู้ประกอบการร้านค้าปลีกทุกประเภทไม่มีความหวัง และไม่มีความมั่นใจในมาตรการภาครัฐที่จะฟื้นกำลังซื้อกลับมาได้เร็ว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของร้านค้าปลีกประเภทวัสดุก่อสร้างมีการปรับลดลงแต่ยังอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 จากกระแสทำงานที่บ้านทำให้มีการปรับภูมิทัศน์ที่อยู่อาศัย
นอกจากนั้นยังมีประเด็นคำถามพิเศษให้ผู้ประกอบการประเมินผลกระทบต่อยอดขาย กำลังซื้อจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง บอกว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณแย่กว่าเดือน มี.ค.มากกว่า 25% โดยคาดว่ายอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% โดยมีการยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐมีมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% รวมถึงควรหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ Soft Loan ที่เข้าถึงง่าย
“โควิดระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก เฉพาะในเขตควบคุมพิเศษสีแดงเข้ม 6 จังหวัดนั้น ส่งผลกระทบถึง 22% ของ GPP (Gross Provice Product-ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด) โดยมีการจ้างงานกว่า 3.12 ล้านคน
สมาคมจึงวิตกถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์เมื่อปี 2563 ร้านค้าแม้ไม่ถูกปิดแต่ก็ไม่มีลูกค้า ภัตตาคาร ร้านอาหารไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้าน ธุรกิจที่ผ่านมาต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก การเลิกจ้าง การว่างงานมีมาอย่างต่อเนื่อง สต๊อกสินค้าล้นเนื่องจากไม่มีการขาย ธุรกิจขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
โดยขอให้ภาครัฐช่วยเหลือได้แก่ 1. สนับสนุนค่าจ้างพนักงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง 2.สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) อย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลือดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน 3.ประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง 4.เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว ครอบคลุม และทั่วถึง.