ยื่นขอสิทธิบัตรกัญชงกัญชาเพียบ กรมทรัพย์สินฯ อนุมัติแล้ว หวังดันมูลค่าอาหาร-เครื่องดื่ม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยื่นขอสิทธิบัตรกัญชงกัญชาเพียบ กรมทรัพย์สินฯ อนุมัติแล้ว หวังดันมูลค่าอาหาร-เครื่องดื่ม

Date Time: 10 เม.ย. 2564 05:45 น.

Summary

  • มีผู้ประกอบการได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงมากถึง 31 คำขอ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ

Latest

เศรษฐกิจคอนเทนต์อาเซียนโตพุ่ง 4.85 แสนล้าน สวนทางรายได้ “ครีเอเตอร์” ไม่ได้เยอะอย่างที่ฝัน

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า หลังพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ที่ผลบังคับใช้เมื่อ 19 ก.พ.62 โดยเปิดช่องให้นำกัญชาและพืชกระท่อมไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และยังได้ปลดล็อกให้นำส่วนต่างๆของกัญชาและกัญชง ยกเว้นช่อดอกและเมล็ดไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้โดยไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด มีผลเมื่อ 15 ธ.ค.63 ว่า มีผู้ประกอบการได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงมากถึง 31 คำขอ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 6 คำขอ, ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 4 คำขอ, เวชภัณฑ์ที่มีสารสกัดเป็นสารออกฤทธิ์ 3 คำขอ, เครื่องจักรและกรรมวิธีการสกัดจากกัญชา 11 คำขอ, อุปกรณ์หรือชุดทดสอบสารสกัดจากกัญชา 3 คำขอ, ผลิตภัณฑ์ปล่อยสารระเหยจากกัญชา 2 คำขอ และผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้านที่มีกัญชงเป็นองค์ประกอบ 2 คำขอ

“หลังรัฐบาลปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากยาเสพติดแล้ว มีคนมายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์ และสินค้าต่างๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชาจำนวนมาก ล่าสุดกรมได้รับจดทะเบียน และออกอนุสิทธิบัตรแล้ว 2 คำขอ คือกระถางผ้าเพาะปลูกและชุดเครื่องจักรสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์”

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มหลายราย เริ่มทยอยยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาหารและเครื่องดื่มแล้ว แต่กว่าจะผลิตอาหารและเครื่องดื่มออกขายได้จริง ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ออกระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณของสารในกัญชาและกัญชง ที่จะใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม เพราะผู้บริโภคแต่ละคน รับสารที่ให้ความเมาในกัญชาและกัญชงได้ไม่เท่ากัน บางคนรับได้นิดเดียวก็เมาแล้วแต่บางคนรับได้มากกว่า อย.จึงต้องกำหนดปริมาณการใช้ให้ชัดเจน แต่กัญชงน่าจะนำมาทำอาหารและเครื่องดื่มได้ง่ายกว่ากัญชา เพราะมีปริมาณสารให้ความเมาน้อยกว่า สำหรับการใช้ใบสดขณะนี้เริ่มเห็นร้านอาหาร ร้านเบเกอร์รี่ นำใบกัญชามาเป็นส่วนประกอบบ้างแล้ว

“ตอนนี้ผู้ประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม เริ่มมองถึงอนาคตของอาหารและเครื่องดื่มที่มีพืช 2 ชนิดนี้เป็นส่วนประกอบกันมากขึ้น เป็นทางเลือกใหม่แต่คาดว่า ในไทยจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะทำให้มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีพืช 2 ชนิดนี้เป็นส่วนผสม เพิ่มขึ้นราว 10% จากมูลค่าตลาดรวมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ ส่วนมูลค่าตลาดในต่างประเทศ ประเมินไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศมีกฎระเบียบแตกต่างกัน”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ