“เอ็นที” คืออะไร ทำไมต้องควบรวม “ทีโอที–กสท”

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“เอ็นที” คืออะไร ทำไมต้องควบรวม “ทีโอที–กสท”

Date Time: 26 ม.ค. 2564 05:01 น.

Summary

  • การควบรวมกิจการระหว่าง “บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)” กับ “บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)” ให้เป็นองค์กรเพียงหนึ่งเดียว

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” สำนวนนี้สามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดีกับความพยายามในการควบรวมกิจการระหว่าง “บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)” กับ “บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)” ให้เป็นองค์กรเพียงหนึ่งเดียว

เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา ได้พยายามมาตลอดที่จะควบรวมองค์กรโทรคมนาคมทั้งสองนี้ให้เหลือเพียงองค์กรเดียว แต่ก็ไม่สำเร็จ ถูกคัดค้านอย่างหนักหน่วงจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ

แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในยุคสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่ทั้งผลัก ทั้งดัน ให้เกิดการควบรวม จนสามารถแปลงสภาพ จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ ไปเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564

ภายใต้ชื่อ “บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)” หรือ “เอ็นที” (National Telecom Public Company Limited : NT Plc.)

ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงสุดภาคภูมิใจของรัฐมนตรีพุทธิพงษ์ ที่สามารถผลักดันการควบรวมจนสำเร็จ ทั้งยังได้มอบนโยบายและตั้งเป้าหมายให้เอ็นทีก้าวขึ้นสู่การเป็น 1 ใน 3 ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมให้ได้ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ และยังได้ตั้งเป้าหมายว่าปี 2564 จะมีรายได้มากกว่า 100,000 ล้านบาท

“หลังการควบรวมจะส่งผลให้ “เอ็นที” มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด กลายเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่มีศักยภาพในการให้บริการโดยเฉพาะเรื่อง 5G และดาวเทียม ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม โดยจะเป็นผู้รวบรวมบิ๊กดาต้าผ่าน 5G ที่ประมูลได้ ซึ่งจะเริ่มนำมาให้บริการภาคสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ” รมว.ดีอีเอสกล่าวย้ำ

สำหรับเหตุผลที่การควบรวมนี้ประสบความสำเร็จ เกิดจากการหลอมรวมของเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม และกระแส “Digital Disruption” (ดิจิทัล ดิสรัปชัน) ทำให้ทีโอทีและ กสท ไม่สามารถยืนหยัดในบทบาทเดิมได้อีกต่อไป

จึงไม่มีเสียงคัดค้านการควบรวมจากพนักงานและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้งสององค์กรเลย เนื่องจากรู้สถานะว่า “ถ้าไม่ควบรวม กิจการไปไม่รอดแน่” เพราะเห็นฐานะทางการเงินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานมือถือเมื่อหลายปีที่ผ่านมา
จากเดิมที่เคยอู้ฟู่นับตั้งแต่ที่ “ทีโอที” ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2497 เพื่อให้ดำเนินภารกิจการให้บริการโทรศัพท์ในประเทศ มากว่า 67 ปี

ส่วน “กสท” เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2519 ในการให้บริการโทรศัพท์ต่างประเทศ
โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทั้งสององค์กรได้มีการลงทุนซ้ำซ้อน แข่งขันกันเอง เพราะธุรกิจเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว ตั้งแต่การให้บริการมือถือ อินเตอร์เน็ต และอีกหลายบริการ
ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคม มีการแข่งขันกันดุเดือดมาก หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป คงจะไม่รอดแน่

ดังนั้น ทางออกทาง รอดจึงมีทางเดียว และดีที่สุด คือ “ควบรวม” ให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อสร้างความแข็งแกร่งและ เพื่อรับมือกับคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที โดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากรที่ต่างลงทุนกันซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ เมื่อควบรวมกันแล้ว “เอ็นที” จะเป็นรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมเพียงองค์กรเดียวที่จะเป็นกลไกของรัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่ง ขยายบริการเพื่อสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างเข้มแข็งและสมบูรณ์

โดยมีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 300,000 ล้านบาท มีเสาโทรคมนาคมรวมกันเกิน 25,000 ต้น สายไฟเบอร์ออปติก ทั่วประเทศ ท่อร้อยสาย คลื่นความถี่ครบ

ทุกย่าน มีศูนย์บริการลูกค้าทั่วประเทศ 536 แห่ง ถือได้ว่ามีโครงข่ายโทรคมนาคม ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศ

สำหรับขณะนี้ยังได้เตรียมเม็ดเงินลงทุนไว้ราว 20,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนสร้างโครงข่าย 5 จี เพื่อให้บริการภาครัฐ และประชาชน เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมให้ภาคเกษตรและสังคม เป็นเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

จากนี้ไปจะไม่มีคำว่า “ทีโอที” และ “กสท” เหลือไว้เพียงตำนานให้เล่าขาน

ขณะเดียวกันก็ต้องมาเกาะติดการบริหารและการทำงานของผู้บริหารและพนักงาน “เอ็นที” ว่าจะสามารถฝ่าฟัน นำพาองค์กรให้เป็นบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศ เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนคนไทยได้อย่างที่วาดฝันไว้หรือไม่!!

ดวงพร อุดมทิพย์


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ