จิตชัย นักธุรกิจในสมุทรสาคร ขอสู้สุดใจพาคนมหาชัยฝ่าวิกฤติโควิด-19

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จิตชัย นักธุรกิจในสมุทรสาคร ขอสู้สุดใจพาคนมหาชัยฝ่าวิกฤติโควิด-19

Date Time: 8 ม.ค. 2564 15:31 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • จิตชัย ผู้บริหาร JWD เผยผู้ประกอบการในสมุทรสาคร ขอสู้สุดใจฝ่าวิกฤติโควิด-19 ทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกายให้กับทีมแพทย์ และสาธารณสุข พร้อมเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดขั้นสูงสุด

จิตชัย ผู้บริหาร JWD เผยผู้ประกอบการในสมุทรสาคร ขอสู้สุดใจฝ่าวิกฤติโควิด-19 ทั้งกำลังทรัพย์ กำลังกายให้กับทีมแพทย์ และสาธารณสุข พร้อมเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดขั้นสูงสุด

จิตชัย นิมิตรปัญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น หรือ PCS ผู้ให้บริการห้องเย็น ในเครือ บริษัทเจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า คนในมหาชัย สมุทรสาคร ก็ไม่คาดคิดว่าจะมีเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น แต่พอปัญหาเกิดขึ้นแล้ว พวกเราก็ร่วมมือร่วมใจกันเพื่อทำให้ทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้

"ผมคิดว่าตอนนี้คนมหาชัยเอง รวมไปถึงทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ต้องการมากที่สุด คือ กำลังใจ เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น"

ทั้งนี้ ในพื้นที่สมุทรสาคร โดยเฉพาะมหาชัย มีโรงงานไม่ต่ำกว่า 7 พันแห่ง มีทั้งผู้ประกอบขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ ในหลายๆ ธุรกิจไม่ใช่แค่การแปรรูปอาหารเพียงอย่างเดียว หากย้อนกลับไปในอดีต แรงงานส่วนใหญ่ในมหาชัยนั้นเป็นแรงงานไทยทั้งหมด


เมื่อแรงงานไทยมีความสามารถ และพัฒนาตัวเองไปสู่แรงงานอาชีพที่มีทักษะมากขึ้น เช่น ไปทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ทำให้มีภาคอุตสหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง และการแปรรูปอาหารทะเลขาดแคลนมากที่สุด จึงมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาเพื่อชดเชยในส่วนที่ขาดหายไป 

สำหรับภาพรวมธุรกิจห้องเย็นของเรา โดยทั่วไปกระทบค่อนข้างน้อย เพราะสินค้าบางตัวเตรียมกระจายและบริโภคในประเทศ พอเจอโควิดทำให้สินค้าบางตัวต้องอยู่ในห้องเย็นนานขึ้น ซึ่งลูกค้าที่อยู่ในสมุทรสาครจะเป็นลูกค้าขนาดใหญ่ ลูกค้าที่ทำสินค้าแปรรูปอาหารจากเนื้อปลา และผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ เป็นต้น

ทั้งนี้ PCS มีพนักงานในบริษัทที่อยู่ในสมุทรสาครแบ่งเป็น 2 แบบ คือ พนักงานที่ต้องใช้แรง ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานต่างด้าว และพักอยู่ในหอพักของบริษัท แรงงานฝีมือ จะมีคนไทยบ้าง และมีต่างด้าวที่ขึ้นมาเป็นแรงงานฝีมือก็มี

สำหรับการดูแลพนักงานของเราก็มีการให้ตรวจโควิด-19 ทุกคนโดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มเสี่ยง เช่น การสัมผัสกับคนนอก สัมผัสกับลูกค้าบ่อยๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานของเรา และลูกค้าที่ใช้บริการของเรา

"ผมอยู่มหาชัยมาตลอด เติบโตจากที่นี่ และเคยทำธุรกิจการประมงมาก่อนก็ได้เห็นพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในมหาชัย ซึ่งแรงงานต่างด้าวเองก็มาทำงานแลกเงิน ในขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องการแรงงานในลักษณะนี้เพื่อดำเนินธุรกิจให้เติบโต ที่ผ่านมาการที่องค์กรที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน รวมถึงรัฐบาลเองก็ผลักดันทำให้แรงงานต่างด้าวนั้นถูกกฎหมาย เหล่านี้ก็ส่งผลดีกับผู้ประกอบการ"

เมื่อปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามก็ไม่อยากให้เกิดปัญหานี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วในฐานะผู้ประกอบการ และเป็นคนมหาชัย ก็ต้องออกมาช่วยกันผลักดันให้ปัญหานี้หมดให้เร็วที่สุด และสิ่งที่อยากให้รัฐช่วยก็คือ clarify ต้นตอปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

นายจิตชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลในสมุทรสาครมีขีดจำกัดในการรับคนไข้ที่ติดโควิด ในฐานะที่เป็นคนสมุทรสาครก็ได้ร่วมบริจาคเงินจำนวนหนึ่งพร้อมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเราก็ต้องสืบถามจากเจ้าหน้าที่ก่อนว่า สิ่งไหนจำเป็นเร่งด่วน เราก็พร้อมที่จะบริจาค หรือจัดหาในส่วนที่ยังขาด เช่น ถุงมือแพทย์ ชุด PPE เฟซชิลด์ หน้ากาก N95 ถุงขยะแดง ถุงขยะดำ ฟ็อกกี้ฉีดน้ำ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ได้มีการจัดหาพื้นที่รองรับ และดูแลพนักงานในบริษัทของตนเอง เนื่องจากโรงพยาบาลสนามอาจจะไม่เพียงพอ ซึ่งตอนนี้โรงงานใหญ่ๆ ได้กันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ โดยประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาดูแล รวมถึงมาฝึกอบรมให้พนักงานได้มีความรู้และดูแลกันเองได้ เพราะตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอ 

"ความเข้าใจในเรื่องโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวอาจจะยังไม่เพียงพอ เช่น การล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย การใส่เฟซชิลด์ การเข้าห้องน้ำ หรือการใช้โรงอาหาร ไม่มีการเว้นระยะในการทานอาหาร ซึ่งหากพวกเขาอยู่ที่โรงงานอาจจะอยู่ในกรอบเพราะมีคนจัดการ แต่พอกลับบ้านไปแล้วอาจจะไม่รู้ว่าปฏิบัติอย่างไร"

ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัว A มีสมาชิก 5 คน แต่ละคนทำงานต่างโรงงานกันทำให้การปฏิบัติตัวจึงแตกต่างกัน อยู่ในโรงงานอาจจะปฏิบัติตัวตามขั้นตอนของสาธาณสุข แต่เมื่ออยู่บ้านก็จะไม่ได้ทำตามขั้นตอนนั้น ยังรวมไปถึงการไม่เข้าใจเรื่องการปฏิบัติตนหากต้องออกไปตลาด ไปในที่ชุมชน ซึ่งการทำโปสเตอร์เป็นภาษาพม่าจึงเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการจัดการอบรมผ่านล่าม ที่สำคัญพวกเขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้

นายจิตชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ตอนนี้เรากำลังลงนาม หรือทำ MOU กับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยทาง JWD จะนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากจุฬาฯ ส่งต่อไปยังจังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อก้าวผ่านวิฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ