จากงานสัมมนายุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยปี 64 ซึ่งจัดโดย “ไทยรัฐกรุ๊ป” เมื่อ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมองทิศทางและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย วันนี้เรามารับฟังเสียงสะท้อนนักวิชาการถึงนายกรัฐมนตรี จากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในหัวข้อ “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ทางออกของไทย” จัดทำโดย นายจิตเกษม พรประพันธ์ และ น.ส.พรชนก เทพขาม ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
โดยระบุว่า “การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ” เป็นทางออกสำคัญในภาวะที่การฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 โดยจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการยกระดับปรับทักษะแรงงาน รวมทั้งการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ซึ่งบทความระบุว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐจะต้องตรงจุดในกลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้า แก้ปัญหาครบวงจรได้ทั้งกระบวนการ ตลอดจนยืดหยุ่นเท่าทัน จากที่เน้นเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในวงกว้างซึ่งเป็นภาระต่องบประมาณมากหากสถานการณ์ยืดเยื้อ โดย ธปท.ได้ปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการช่วยเหลือเป็นการทั่วไป เป็นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย
อีกตัวอย่าง การปรับโครงสร้างของภาครัฐ คือ มาตรการที่กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลัก และ ธปท.ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำเว็บไซต์ www.ไทยมีงานทำ.com จับคู่งานให้แรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานเพื่อแก้ปัญหาการว่างงานที่ตรงจุด เป็นกลไกที่เอื้อให้แรงงานทราบถึงทักษะที่เป็นที่ต้องการ ตลอดจนภาครัฐจะสามารถสนับสนุนการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้เหมาะสม ผ่านการออกแบบนโยบายร่วมกันกับผู้แทนภาคธุรกิจ
ขณะที่ตัวเลขสถิติการใช้งานที่สะท้อนถึงปัญหาอีกด้านของตลาดแรงงานไทย คือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างความต้องการของนายจ้างกับแรงงาน หลังตำแหน่งงานเกือบ 200,000 ตำแหน่งอยู่ในภาคการผลิต แต่จำนวนการสมัครงานในภาคการผลิตกลับมีเพียง 12,000 ครั้ง จากผู้สมัคร 7,000 คน คิดเป็นเพียง 10% ซึ่งปัญหานี้จะต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างครบวงจรระหว่างผู้ฝึกอบรม ผู้แทนฝั่งนายจ้าง และผู้แทนแรงงาน
แรงงานภาคการท่องเที่ยวอาจต้องเพิ่มทักษะให้เพียงพอที่จะย้ายไปยังสาขาการผลิตที่มีความต้องการแรงงานมากกว่า ขณะที่แรงงานภาคเกษตรอาจต้องศึกษาการใช้งานนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่เดิมก่อนโควิด ทั้งการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่เข้มข้นขึ้น สะท้อนจากคนที่อายุเกิน 60 ปีแล้ว แต่ยังทำงานอยู่เพิ่มจาก 3 ล้านคน เป็น เกือบ 4 ล้านคนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า แรงงานที่มีการพัฒนาทักษะมีรายได้สูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยพัฒนาทักษะเกือบ 15%.