แบ่งธุรกิจ 3 กลุ่มลุยฝ่าโควิด-19 ส.อ.ท.ย้ำขอพักชำระหนี้ 2 ปี-จ่ายดอกบางส่วน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

แบ่งธุรกิจ 3 กลุ่มลุยฝ่าโควิด-19 ส.อ.ท.ย้ำขอพักชำระหนี้ 2 ปี-จ่ายดอกบางส่วน

Date Time: 15 ต.ค. 2563 08:50 น.

Summary

  • “สุพันธุ์” ชี้ทางเลือกปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวตามข้อเสนอ “สุพัฒนพงษ์” จะทำเอสเอ็มอีล้านรายไปไม่รอด ต้องล้มตาย สนับสนุนการพักชำระหนี้ 2 ปี

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

“สุพันธุ์” ชี้ทางเลือกปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวตามข้อเสนอ “สุพัฒนพงษ์” จะทำเอสเอ็มอีล้านรายไปไม่รอด ต้องล้มตาย สนับสนุนการพักชำระหนี้ 2 ปี จ่ายดอกเบี้ยบางส่วนให้ธุรกิจกลุ่มสีเหลืองที่พักหนี้แล้วเดินหน้าต่อได้ พร้อมเสนอปล่อยกู้เพิ่มให้ บสย.ค้ำประกันเพิ่มเป็น 50% จาก 30% ส่วนการปรับโครงสร้างหนี้เฉพาะกลุ่มสีแดงเท่านั้น ชงตั้งกองทุนฟื้นเศรษฐกิจ 1–2 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดประชุมแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีภาระหนี้สินและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลังจะหมดระยะเวลาพักชำระหนี้ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอี คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งตัวแทนของสถาบันการเงินต่างๆ

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการในศูนย์การบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19 (ศบศ.) ให้ สศช.ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีการขอพักหนี้ในช่วงที่ผ่านมา 12 ล้านบัญชี ที่ครบกำหนดพักชำระหนี้ วันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่ง ธปท.รายงานว่า หลังจากการคลายล็อกให้เศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มีลูกหนี้ที่กลับมาจ่ายหนี้ทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นได้แล้ว 60% ที่เหลือ 40% ยังเป็นกลุ่มที่อาจต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม

“ที่ประชุมจึงให้แบ่งกลุ่มการหารือออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อสรุปมาตรการที่จำเป็นโดยเร็ว เพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ศบศ.และออกเป็นมาตรการให้ชัดเจนก่อนวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งขณะนี้ต้องดูทุกข้อเสนอ เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ก็ทำงานหนักพอสมควรในการติดตามลูกหนี้ เพื่อดูว่ารายไหนไปได้ไปไม่ได้ และจะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร “

ขณะที่ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ให้ตั้งกองทุนบางลักษณะขึ้นมาดูแลผู้ประกอบการเพิ่มเติมที่ประชุมยังไม่ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ได้ยืนยันว่ายังมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาพักหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี แต่ให้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วนเช่น 10% เพราะเอสเอ็มอี บางส่วนยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมาก หากไปใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียว ตามแนวทางของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน โดยไม่มีการต่ออายุการพักชำระหนี้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี 1 ล้านรายอาจต้องปิดกิจการและส่งผลให้มีการปลดคนงานออกอีกจำนวนมาก

“ที่ประชุมหารือกันให้แยกภาคธุรกิจออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มสีเขียวเป็นธุรกิจที่สามารถกลับมาจ่ายหนี้ได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ถือเป็นกลุ่มที่ต้องให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เช่น การลดดอกเบี้ยให้บางส่วน อาทิ 1% จากที่ต้องจ่ายปกติเพื่อเป็นการจูงใจ และช่วยเหลือกลุ่มนี้ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น กลุ่มที่สอง เป็นผู้ประกอบการที่เป็นสีเหลือง จะไปไม่ไหว ก็ให้พักชำระหนี้ แต่จ่ายดอกเบี้ยบ้าง และกลุ่มที่สามสีแดงคือกลุ่มที่ไปต่อไม่ได้ มีปัญหา ก็เข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้”

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า หากไปเลือกใช้วิธีทุกคนต้องเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งหมดจะทำให้พวกสีเหลืองจะตกไปอยู่สีแดง ในที่สุดก็ต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะที่น่าเป็นห่วง คือกลุ่มที่อยู่ในภาคท่องเที่ยวที่ยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงนี้ แต่ในอีก 2 ปีข้างหน้าธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน

นอกจากนั้น การแก้ปัญหาให้ภาคธุรกิจ ต้องเสริมด้วยการปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพิ่มเติม จากวงเงินที่ ธปท.ดูแลอยู่และเหลืออยู่ 300,000 ล้านบาท โดย ส.อ.ท. เสนอให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่อ (บสย.) ค้ำ ประกันการกู้เงินเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 50% เพื่อช่วยให้สถาบันการเงินยอมปล่อยกู้ให้

“ภาคเอกชนได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจขนาดกองทุนประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท โดยใช้กลไกจากตลาดทุนในการระดมทุน หรือออกพันธบัตรระดมทุนจากประชาชน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน โดยกองทุนลักษณะนี้สามารถนำเงินทุนที่ระดมได้มาทำมาตรการช่วยเหลือประชาชนหรือธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มเติม”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ