“โมเดิร์นเทรด” ซึมยอดขายลด ชีวิตยุคโควิดคนขยาดเดินห้าง

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

“โมเดิร์นเทรด” ซึมยอดขายลด ชีวิตยุคโควิดคนขยาดเดินห้าง

Date Time: 31 ก.ค. 2563 05:30 น.

Summary

  • “โมเดิร์นเทรด” ซมพิษโควิด–19 ทำวิถีชีวิตเปลี่ยน คนเข้าห้างน้อยลง ซื้อเฉพาะของจำเป็น เศรษฐกิจไม่ดีไม่อยากใช้จ่าย ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 2 ปีนี้

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

“โมเดิร์นเทรด” ซมพิษโควิด–19 ทำวิถีชีวิตเปลี่ยน คนเข้าห้างน้อยลง ซื้อเฉพาะของจำเป็น เศรษฐกิจไม่ดีไม่อยากใช้จ่าย ดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 2 ปีนี้ ดิ่งลงจากไตรมาสก่อนหน้า และผู้ประกอบการเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว ในไตรมาส ที่ 3 จี้รัฐหามาตรการเพิ่มให้คนใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งแก้กฎหมายแรงงานให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง เพื่อให้จ้างงานเฉพาะช่วงที่จำเป็นได้ หากแก้ได้พร้อมรับทันที 5,000 คน

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 63 ที่สำรวจจากผู้ประกอบการ 102 ตัวอย่างทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.-20 ก.ค.63 ว่า ดัชนีอยู่ที่ 46.4 ลดจาก 47.2 ในไตรมาส 1 ปี 63 โดยมีปัจจัยลบจากความวิตกกังวลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว และภาคบริการ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ออกจากบ้านน้อยลง อยู่ในห้างสรรพสินค้าน้อยลง และซื้อเฉพาะสินค้าจำเป็น การแข่งขันของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ที่รุนแรงมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยลบจากการส่งออกที่หดตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ราคาสินค้าอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือน ภาระหนี้สินของครัวเรือน สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันที่ไม่เอื้อต่อการบริโภค ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

“ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย แต่มีสัญญาณดี ที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.1 แสดงให้เห็นว่า ดัชนีได้ปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดแล้ว คาดว่าดัชนีจะปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น อัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายอย่างช้อปช่วยชาติที่นำเงินค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 50,000 บาท หรือมาตรการชิม ช้อป ใช้ เพราะจะช่วยให้เกิดการใช้จ่าย และช่วยฟื้นห้างโมเดิร์นเทรดได้ด้วย”

นอกจากนี้ ต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน เช่น ฝึกอาชีพ ให้กู้เงินเพื่อลงทุนโดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6-12 เดือน ออกมาตรการทางภาษี เช่น ลดอัตราภาษีเงินได้ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่ม หากมีการลงทุน เร่งคืนเงินประกันสังคมสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และขยายการสนับสนุนการจ่ายเงินให้ผู้ประกันสังคมจนถึงสิ้นปี 63
“จากการสอบถาม ผู้ประกอบการก็ยังยืนยันว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ตอนนี้ยังไม่มีการเลิกจ้างพนักงานในกลุ่มของโมเดิร์นเทรด แต่ในระยะยาว หากการระบาดยังไม่ดีขึ้น ยอดขายลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้”

นายสุรงค์ กล่าวต่ออีกว่า เสนอให้รัฐบาลเร่งแก้กฎหมายแรงงาน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจ้างงานกับผู้ว่างงาน จากปัจจุบันกฎหมายจะบังคับจ้างงานแบบเป็นรายวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและความต้องการของผู้ประกอบการ หากแก้กฎหมายให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ โดยสามารถเพิ่มการจ้างงานในชั่วโมงเร่งด่วน หรือช่วงเทศกาลต่างๆที่มีประชาชนใช้บริการจำนวนมากได้ โดยเฉพาะห้างโมเดิร์นเทรดต้องการลูกจ้างรายชั่วโมงไม่ต่ำกว่า 5,000 อัตรา แต่ไม่สามารถจ้างงานได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ปัจจุบันหลายฝ่ายกังวลว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร เห็นได้จากผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ยังคงขาดสภาพคล่อง และได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งช่วยเหลือ และกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ