ปี 62 ความก้าวหน้าของคนไทยคงที่ แต่รายได้ลดฮวบหนี้สินท่วมหัวคนจนเพิ่ม

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปี 62 ความก้าวหน้าของคนไทยคงที่ แต่รายได้ลดฮวบหนี้สินท่วมหัวคนจนเพิ่ม

Date Time: 26 พ.ย. 2562 09:48 น.

Summary

  • สภาพัฒน์เผยดัชนีความก้าวหน้าของคนไทยปี 2562 ในภาพรวมคงที่จากปี 2558 แต่พบ 4 ด้านสำคัญถดถอย โดยเฉพาะด้านรายได้แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ครัวเรือนกลับมีหนี้สินท่วมหัว สัดส่วนคนจนพุ่งทะยาน

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

สภาพัฒน์เผยดัชนีความก้าวหน้าของคนไทยปี 2562 ในภาพรวมคงที่จากปี 2558 แต่พบ 4 ด้านสำคัญถดถอย โดยเฉพาะด้านรายได้แม้จะเพิ่มขึ้น แต่ครัวเรือนกลับมีหนี้สินท่วมหัว สัดส่วนคนจนพุ่งทะยาน และความไม่เสมอภาคของรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ หรือ สศช.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการพัฒนาคนของประเทศไทย ว่า ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index-Hai) ในปี 2562 ชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาคนในภาพรวมของคนไทยค่อนข้างคงที่ โดยค่าดัชนีการพัฒนาคนในปี 2562 เท่ากับ 0.6219 ใกล้เคียงกับปี 2558 และปี 2560 โดยดัชนีที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น พบว่าอยู่ใน 4 ด้าน คือ การศึกษา ชีวิตการงาน ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม รวมถึงคมนาคมและการสื่อสาร

สำหรับด้านที่มีความก้าวหน้าลดลงใน 4 ด้าน คือ รายได้ สุขภาพชีวิตครอบครัวและชุมชน และการมีส่วนร่วม โดยด้านรายได้พบว่า แม้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในปี 2562 จะเพิ่มขึ้นเป็น 26,946 บาทต่อเดือน จาก 26,915 บาทต่อเดือนในปี 2558 แต่สัดส่วนคนยากจนเพิ่มขึ้นเป็น 9.85% ของประชากร จาก 7.21% ในปี 2558 อีกทั้งครัวเรือนที่มีหนี้สิน มีสัดส่วนสูงถึง 36.56% ของครัวเรือนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 34.46% ในปี 2558 ทำให้ความก้าวหน้าด้านรายได้ลดลง และค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ (Gini-coefficient) เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนเรื่องของสุขภาพนั้น แม้จะมีการพัฒนาให้ดำเนินงานอย่างมีคุณภาพและครอบคลุมทั่วถึงมากขึ้น มีหลักประกันสุขภาพของประชากรครอบคลุมเกือบ 100% แต่อัตราการเจ็บป่วยและสัดส่วนผู้พิการยังมีเพิ่มขึ้น ขณะที่การเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุและการเพิ่มขึ้นของครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนเดี่ยว ทำให้ความก้าวหน้าด้านชีวิตและครอบครัวและชุมชนลดลง ขณะที่ด้านการมีส่วนร่วมนั้น มีความก้าวหน้าลดลงมากที่สุด เนื่องจากใช้ตัวชี้วัดจากจำนวนประชากรที่ไปใช้สิทธิลงมติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่มีเพียง 59.40% น้อยกว่าผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งปี 2554 ที่ 75.03% ส่วนความก้าวหน้าการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ พบว่า นนทบุรี กรุงเทพฯ ปทุมธานี ภูเก็ต ระยอง มีความก้าวหน้าพัฒนาคนมากที่สุด ขณะที่นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ และบุรีรัมย์ มีความก้าวหน้าพัฒนาคนน้อยที่สุด

“4 ด้านของไทยที่มีความก้าวหน้า มีรายละเอียดคือ ด้านการศึกษามีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น เพราะนักเรียนอยู่ในระบบการศึกษายาวนานขึ้น แต่ยังต้องเร่งพัฒนาเชิงคุณภาพ เห็นได้จากการทดสอบโอเน็ต ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีคะแนนเฉลี่ยยังไม่ดีขึ้น ขณะที่ด้านชีวิตการงาน มีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตรและผู้ประกอบการอาชีพอิสระรายย่อย ยังมีประกันสังคมค่อนข้างต่ำ”

สำหรับด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม มีดัชนีความก้าวหน้าของคนมากที่สุด แต่ยังต้องพิจารณาในเชิงคุณภาพของที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม และเป็นที่น่าสังเกตว่า กรุงเทพฯ ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่อื่น กลับมีสัดส่วนการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยต่ำ เพราะการเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้สภาพการอยู่อาศัยส่วนหนึ่งเป็นการเช่า และอีกส่วนเป็นผู้ซื้ออยู่ระหว่างการเช่าซื้อและผ่อนชำระ ส่วนด้านคมนาคมและการสื่อสาร มีความก้าวหน้าของการพัฒนาเพิ่มขึ้นมากที่สุด เป็นผลจากการขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้คนเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตทั่วถึงมากขึ้น แต่อุบัติเหตุบนท้องถนนต้องเร่งแก้ไข.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ