นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า งบการเงินรวมของการบินไทยในปีนี้ จะยังเห็นผลขาดทุนอยู่ แต่พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบันการบินไทยสามารถบริหารฝูงบินได้ดี มีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินของการบินไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.15 ชั่วโมง เพิ่มจาก 12 ชั่วโมง ส่งผลให้อัตราการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และคาด ว่าปีหน้าจะเพิ่มต่อเนื่องในระดับ 2-3%
นอกจากนี้ การดำเนินงานของไทยสมายล์ยังสนับสนุนให้งบการเงินรวมทั้งบริษัทมีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ไทยสมายล์สามารถเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินได้ถึง 10 ชั่วโมง จากเดิม 8.15 ชั่วโมง จากจำนวนเครื่องบินที่บริหารอยู่รวม 20 ลำ โดยในปีนี้ ประเมินว่าภาพรวมการดำเนินงานของไทยสมายล์จะเริ่มเห็นกำไรเล็กน้อยและจะต่อเนื่องในปี 2563 “ปีนี้ทั้งปีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ของการบินไทยไม่ได้แย่ เฉลี่ยอยู่ที่ 80% ทั้งปี แต่ที่แย่คืออัตราผลตอบแทนต่อที่นั่ง (Yield) ที่ลดลงจากการแข่งขันราคา ปีหน้าจึงจะไม่แข่งขันราคาแล้ว แต่จะโฟกัสการทำตลาดกับกลุ่มสมาชิกรอยัล ออคิด พลัส (ROP) เน้นทำการตลาดแบบกำหนดราคาที่เหมาะสม”
นายสุเมธ กล่าวว่า ยอมรับว่าปีนี้งบรวมของการบินไทยยังเห็นผลขาดทุนอยู่ ซึ่งน่าจะขาดทุนลดลง เทียบจากปีก่อนที่ขาดทุน 3,600 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะขาดทุน 2,000- 2,200 ล้านบาท แต่ในปี 2563 มั่นใจว่าการบินไทยจะสามารถหยุดขาดทุนได้จากแผนธุรกิจที่ปรับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ขณะเดียวกัน ไตรมาส 4 ปีหน้าจะมีการรับมอบเครื่องบินใหม่ 3 ลำจากการเช่าซื้อเมื่อปี 2561 เข้ามาเสริมฝูงบิน เป็นรุ่นโบอิ้ง 777-300ER นำไปทำการบินเส้นทางยุโรป รวมทั้งมีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่กรุงเทพฯ-แมนเชสเตอร์ และทำการตลาดร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยปี 2563 ตั้งเป้ารักษาอัตราบรรทุกผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 80%.