กังวลเสถียรภาพการเมือง ฉุดดัชนีผู้บริโภคร่วงต่ำสุด รอบ 21 เดือน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

กังวลเสถียรภาพการเมือง ฉุดดัชนีผู้บริโภคร่วงต่ำสุด รอบ 21 เดือน

Date Time: 4 ก.ค. 2562 13:45 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย. ร่วงต่อเนื่องเดือนที่ 4 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน กังวลเสถียรภาพการเมือง ความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก ทำให้ต้องระมัดระวังใช้จ่าย

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค มิ.ย. ร่วงต่อเนื่องเดือนที่ 4 ต่ำสุดรอบ 21 เดือน กังวลเสถียรภาพการเมือง ความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก ทำให้ต้องระมัดระวังใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มิ.ย.62 พบว่า อยู่ที่ระดับ 76.4 จาก 77.7 ในเดือนพ.ค. ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2560 เป็นต้นมา จากความกังวลเสถียรภาพทางการเมืองในอนาคต, ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีความรุนแรงมากขึ้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 63.4 จาก 64.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 72.2 จาก 73.3 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 93.5 จาก 95.0 แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

ทั้งนี้ การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมืองเป็นสำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่สามของปีนี้ และหากสามารถจัดตั้ง ครม.ได้ภายในเดือน ก.ค. ขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เติมเงินอัดฉีดงบประมาณเข้าระบบ ดูแลค่าเงินบาทและใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย

ส่วนปัจจัยลบที่สำคัญเพิ่มเติม ได้แก่ ปัญหาสงครามการค้าโลก, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 62 เหลือ 3.3% และปรับลดส่งออกเหลือโต 0%, การส่งออกในเดือนพ.ค.หดตัวที่ -5.79%, ผู้บริโภคกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว และราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย ที่ 1.75%, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง และเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ