ถ้า “ต๊อบ เถ้าแก่น้อย” และ “เมย์ อาฟเตอร์ยู” คือต้นแบบของนักธุรกิจอายุน้อย ที่สร้างความสำเร็จและความร่ำรวยขึ้นด้วยหนึ่งสมอง สองมือ ของพวกเขาเอง
5 นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่พวกเรา “ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” กำลังจะแนะนำให้ท่านผู้อ่านรู้จักนับตั้งแต่บรรทัดนี้จะเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพิสูจน์ให้พวกเราเห็นว่า อายุเป็นเพียงตัวเลขและไม่ใช่อุปสรรคแห่งความสำเร็จ หากมีความเพียรพยายาม ความมานะอดทน ความคิดสร้างสรรค์ และความรักในสิ่งที่ทำ
5 นักธุรกิจรุ่นใหม่ของพวกเรา มีความเหมือนในเส้นทางที่แตกต่าง นั่นคือพวกเขาล้วนก่อร่างสร้างตัวและประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง ไม่ได้กินบุญเก่าจากเงินของครอบครัว
และไม่รู้ว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ ทุกคนปักหมุดและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ณ แลนด์มาร์กแห่งกรุงเทพมหานคร “สยามสแควร์” เมืองหลวงของวัยรุ่นในทุกยุคสมัย...
เมื่อโจทย์ของเราคือการศึกษาถึงความคิดและกุญแจแห่งความสำเร็จของนักธุรกิจรุ่นใหม่ ชื่อของ “บอยและไปร์ท” หิรัญ ตันมิตร (บอย) ซีอีโอ และ ปริญญา วะนะศุข (ไปร์ท) รองซีอีโอของอีฟแอนด์บอย ร้านสะดวกซื้อสินค้าด้านความสวยความงามสัญชาติไทยแท้ ผุดขึ้นมาในความคิดของเราเป็นอันดับต้นๆ
ไม่ใช่แค่เพราะความสำเร็จอันโดดเด่นของอีฟแอนด์บอยตลอด 14 ปีที่ผ่านมา (ก่อตั้งเมื่อเดือน ส.ค.2548) ที่ปัจจุบันสยายปีกไปแล้ว 13 สาขาทั่วประเทศ ด้วยฐานลูกค้าติดตามผ่านโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มรวม 3 ล้านรายเท่านั้น
แต่เป็นเพราะเส้นทางตลอด 14 ปีที่ผ่านมาของบอยในวัย 36 และไปร์ทในวัย 34 ที่ไม่ธรรมดายิ่ง เริ่มต้นด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบบ้านๆ มาร์เกตติ้ง 1.0 ที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียมาคอยขับเคลื่อน ตอนเปิดสาขาแรกที่มหาสารคาม ทั้งคู่ต้องไปยืนแจกแผ่นพับตามตลาด ถูกเทศบาลไล่ ตลอดจนใช้กลยุทธ์ขึ้นไปบนตึกที่สูงที่สุดในจังหวัด แล้วโปรยใบปลิวโปรโมตร้านลงมา ลงมือทำเองทุกอย่าง ติดป้ายราคาสินค้านับหมื่นชิ้น เช็กสต๊อก รวมทั้งคิดเงิน
อีฟแอนด์บอย เริ่มต้นมาจากบอยและอีฟ (พี่สาวของบอย) ซึ่งปัจจุบันแยกตัวออกไปทำธุรกิจอื่น บอยซึ่งที่บ้านเปิดร้านโชห่วยในจังหวัดมหาสารคาม ตั้งข้อสังเกตว่ากำไรจากการขายสินค้าอย่างน้ำมันพืช น้ำปลานั้น น้อยมาก ขณะที่สินค้าอย่างครีมทาผิว ครีมทาหน้า ครีมกันแดด ทำกำไรได้มากกว่า จึงคิดอยากเปิดร้านขายสินค้าด้านความสวยความงามเป็นการเฉพาะ โดยชวนไปร์ทเข้ามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงอีกคน อีฟแอนด์บอยสาขาแรกจึงกำเนิดขึ้นที่บ้านเกิดของบอยและขยายสู่ขอนแก่น ในเวลาต่อมา
หลังประสบความสำเร็จอย่างงดงามในภาคอีสาน พอตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯเมื่อปี 2555 อีฟแอนด์บอยตั้งใจปักหมุดสาขาแรกที่สยามสแควร์และยืนหยัดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเรื่อยมา ขณะนี้มี 2 สาขาในสยาม คือที่สยามสแควร์ซอย 1 และสยามสแควร์ วัน แฟลกชิปสโตร์ขนาดใหญ่ที่ทำยอดขายคึกคักที่สุด
ปัจจุบัน นอกเหนือจากการบริหาร 13 สาขาด้วยยอดรายได้เติบโตต่อปีเฉลี่ยตัวเลข 2 หลักแล้ว บอยกับไปร์ทกำลังขะมักเขม้นกับการปรับโครงสร้างของอีฟแอนด์บอย ซึ่งเติบโตขึ้นมาจากการหยิบ จับ บริหาร และทำกันเอง ให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อการเติบโตอย่างก้าวหน้าและมั่นคงในระยะยาว
นอกจากนั้น ไม่นานจากนี้ อีฟแอนด์บอยยังจะเริ่มคิกออฟธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างจริงจัง ด้วยการเปิดตัวแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์แบบครบวงจร เริ่มจากแอปพลิเคชันอีฟแอนด์บอย รวมทั้งเว็บไซต์ ปลายปีนี้ช่องทางการขายของอีฟแอนด์บอย ก็จะครบเครื่องสมยุคดิจิทัล 4.0
ส่วนในด้านของการแข่งขัน ทั้งคู่มองว่ายังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก และตั้งใจจะฉีกตัวให้โดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งออกไปอีก เพิ่มจำนวนสินค้าที่วางขายเฉพาะในอีฟแอนด์บอย ส่วนจุดแข็งด้านราคาและ ความหลากหลาย ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องเดินหน้าต่อ
บอยและไปร์ทเล่าว่า หลักในการบริหารงานทุกวันนี้ คือการทำให้อีฟแอนด์บอยเติบโตในแบบที่คิด เมื่อถูกถามว่าแบบที่คิดคืออะไร พวกเขาขยายความว่า คือการทำให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุด การเอาใจใส่ต่อความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งพนักงานทุกคนต้องเห็นตรงกัน
ทุกวันนี้ทั้งบอยและไปร์ทยังตั้งคำถามและเดือดร้อนทุกครั้ง เมื่อเห็นคนอื่นขายของถูกกว่า ดีกว่า ลงรูปสินค้าสวยกว่า หรือมีสินค้าสีสวยที่ร้านของพวกเขาไม่มี ด้วยความเป็นเจ้าของ ทั้งคู่ทำงานทั้งวันทั้งคืนและไม่เคยหยุดคิด
ไปร์ทยังทิ้งท้ายไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ทุกวันนี้เวลามีใครมาปรึกษาเรื่องอยากทำธุรกิจ อยากเป็นเจ้านายตัวเอง เขาจะพูดเสมอว่า ความสำเร็จไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่การเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณอาจเป็นมืออาชีพ เป็นพนักงาน เป็นใครก็ได้ ที่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เหมือนกับคุณเป็นเจ้าของเอง ด้วยความทุ่มเท อุตสาหะ การเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ จะได้ผลตอบแทนที่สูง บางทีไม่ต่างจากการเป็นเจ้าของธุรกิจ แถมสบายกว่ามาก.
***************
เพิ่งฉลองครบรอบ 2 ปีของการเปิดกิจการร้านปิ้งย่างเกาหลี “Nice Two Meat U” ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ความสำเร็จของ ชุติมา เปรื่องเมธางกูร (เกศ) และ นันทนัช เอื้อศิริทรัพย์ (แนท) นั้น กลายเป็นเรื่องยากหากเราจะไม่เขียนถึงพวกเธอ
เกศในวัย 36 และแนท ในวัย 31 เจอกันที่คลาสเรียนหลักสูตรของทิสโก้ แล้วจึงชักชวนกันเปิดร้านปิ้งย่างที่ซื้อแฟรนไชส์มาจากเกาหลี “Nice Two Meat U” เดิมมีหุ้นส่วนมากกว่านี้ แต่พอถึงขั้นที่ต้องเปิดร้านและควักเงินลงทุนเพิ่ม หุ้นส่วนอื่นถอดใจ เหลือแค่เกศและแนทเพียง 2 คน ซึ่งปรากฏว่าพอเปิดร้านสาขาแรกที่สยามสแควร์ซอย 3 “Nice Two Meat U” ก็ฮิต ระเบิดเถิดเทิง บรรลุจุดคุ้มทุนและทำกำไรได้ตั้งแต่ 6 เดือนแรก นำไปสู่การขยายสาขาเพิ่มเติมที่เมกาบางนา เซ็นทรัลปิ่นเกล้า และไอคอนสยาม
นอกจาก “Nice Two Meat U” ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้บริษัท รวยไม่หยุด จำกัด แล้วเกศและแนทยังปิ๊งไอเดียเพิ่มเติม ผุดธุรกิจใหม่ ยึดทำเลติดกับร้าน “Nice Two Meat U” ที่สยาม เปิดร้านกาแฟเพื่อกระตุ้นยอดขายสร้างความคึกคักให้กับทั้ง 2 ร้าน โดยลงทุนซื้อเครื่องชงกาแฟคุณภาพสูงมาล่อคอกาแฟไฮเอนด์ตั้งชื่อร้านว่า Seoulcial Club แต่ด้วยการตกแต่งที่ออกแนวน่ารัก คิกขุ ทำให้ลูกค้าคอกาแฟแท้ๆไม่เข้า ขณะที่ลูกค้าทั่วไปเข้ามาถ่ายรูปชั่วครั้งชั่วคราว ไม่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน จนต้องมีการคิดค้นสินค้าตัวใหม่
เกศเล่าว่าคิดถึงชานมไข่มุกและลงทุนซื้อสูตรมาจากไต้หวัน จ้างคนมาสอนชงอยู่ 2 เดือน แต่ไม่ได้ดังใจเพราะชานมไต้หวันต้องใส่ครีมเทียม แบบผงเป็นส่วนผสมสำคัญ ขณะที่ผลจากการทำวิจัยระบุว่า ลูกค้าที่ซื้อเครื่องดื่มหวานหรือขนมหวานนั้น ยังคงต้องการความเข้มข้น และวัตถุดิบที่ดีเป็นหลัก แบบที่อาฟเตอร์ยู ร้านขนมชื่อดังทำสำเร็จ
ในที่สุดเกศและแนท จึงได้เปิดตัวเครื่องดื่มใหม่ชานมเสือพ่นไฟ (Fire Tiger) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากชานมไข่มุกไต้หวัน น้ำตาลทรายแดง และขนมหวานฝรั่งเศส “ครีมบูเล่” ซึ่งต้องใช้ไฟพ่นบนหน้าขนมให้น้ำตาลไหม้ ผลปรากฏฮิตตลาดแตก ใครผ่านไปผ่านมาหน้าร้าน “Nice Two Meat U” และ “Seoulcial Club” ก็จะเห็นคิวลูกค้ายาวเหยียด ทั้งรอโต๊ะและสั่งซื้อเครื่องดื่ม ซึ่งเกศและแนท พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความฮิตเกิดจากการทำมาร์เกตติ้งผ่านช่องทางออนไลน์
เคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการตกแต่งร้านให้ดึงดูด เพราะลูกค้า สมัยนี้ชอบถ่ายรูปลงโซเชียลซึ่งถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ที่ดี แต่ “Nice Two Meat U” และ “Seoulcial Club” ไม่เคยเสียเงินให้กับดาราที่ช่วยประชาสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะรู้จักกัน และบางส่วนอยากลงให้ เพราะชอบบรรยากาศ รสชาติอาหาร
แต่การตกแต่งร้านเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะกระแสถ่ายรูปลงโซเชียลทำได้แค่ชั่วคราว หากสินค้าไม่ดี อาหารไม่อร่อย ทุกอย่างจะจบลงในระยะเวลาอันสั้น รสชาติและคุณภาพของอาหารจึงสำคัญที่สุด
เมื่อถามถึงเป้าหมายต่อไปของเกศและแนท พวกเธอกำลังพยายามจัดโครงสร้างบริษัทใหม่ ให้เดินหน้าไปสู่ความเป็นมืออาชีพและเป็นมาตรฐานสากล ภายใต้ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท รวยไม่หยุด เจ้าของร้าน “Nice Two Meat U” บริษัท รวยสบายๆ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “Seoulcial Club” และ “Fire Tiger” และบริษัทล่าสุด รวยแสนล้านตำลึงทอง เจ้าของ“ต้าถัง ฮอตพอท” ซึ่งมีแผนจะเปิดในระยะเวลาอันใกล้
รวมทั้งธุรกิจใหม่ ที่กำลังเตรียมเปิดตัว ทั้งธุรกิจขายแซนด์วิชและอาหารง่ายๆ สั่งกลับบ้านได้ รวมทั้งแบรนด์ใหม่ Happy Pig ร้านปิ้งย่างราคาจับต้องง่ายกว่า “Nice Two Meat U” โดยจะเปิดในห้างเครือเซ็นทรัล
เมื่อถามถึงเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ เกศบอกว่า ไม่เคยแข่งกับใคร นอกจากตัวเอง และต้องพยายามที่จะแตกต่างเพื่อที่จะก้าวขึ้นนำคนอื่นเสมอ.
***************
Carnival (คาร์นิวัล) เป็นแบรนด์ร้านขายรองเท้าผ้าใบหรือ Sneaker สัญชาติไทยแท้ๆ ที่ก่อตั้งโดย อนุพงศ์ คุตติกุล หรือปิ๊น วัย 37 ปี ความโดดเด่นของปิ๊น ที่ทำให้เราไม่สามารถมองข้ามเขาไปได้ นอกเหนือจากการถูกแนะนำโดยนักธุรกิจรุ่นใหม่หลายรายแล้ว เขายังเป็นตัวแทน ที่ได้รับคัดเลือกให้จำหน่ายสินค้ารุ่นท็อป ระดับบนทั้งหมดของไนกี้ รวมทั้งอาดิดาส โดยมีคู่แข่งเป็นร้านระดับอินเตอร์เนชั่นแนล
8 ปีที่แล้ว ปิ๊นเริ่มต้นขายรองเท้าด้วยความชอบล้วนๆ เขาเปิดร้านเล็กๆ ที่สยามขนาดแค่ 9 ตารางเมตร ขณะที่ทำงานประจำไปด้วย โดยเริ่มจากขายคอนเวิร์ส (Converse) ก่อน เพราะขอสิทธิในการขายง่ายที่สุด
ปิ๊นเล่าว่า ความสำเร็จมาจากการใช้โซเชียลมีเดียในการช่วยขาย ถือเป็นคนแรกๆ ดึงดูดความสนใจจากลูกค้าที่มีความชอบแบบเดียวกัน
ธุรกิจไปได้ดีจนปีที่ 2 ตัดสินใจออกจากงานประจำ แต่จุดเปลี่ยน ที่ทำให้ขยายสาขาได้ใหญ่โต มาจากการได้สิทธิขายไนกี้และอาดิดาสในปีที่ 3 และ 4 ตามลำดับ
จุดเด่นของคาร์นิวัลก็คือสิทธิที่ได้ เป็นสิทธิขายสินค้าในระดับท็อป สินค้าที่มีจำกัด ออกแบบเป็นการเฉพาะ และหายาก ซึ่งการที่จะได้ขายสินค้าในระดับนี้ ไม่เกี่ยวกับยอดขายหรือเงิน แต่แบรนด์จะพิจารณาจาก คุณสมบัติหลายอย่าง ซึ่งคาดว่าคาร์นิวัลมีครบหมด
เวลาเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ๆที่หายาก มีจำกัด คนละแวกสยามสแควร์ซอย 1 ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านคาร์นิวัลมักคุ้นตากับจำนวนคนที่ไปเข้าคิวเพื่อรับสิทธิ ซื้อรองเท้ารุ่นหายาก จนปัจจุบันปิ๊นต้องพยายามจัดระบบใหม่ ให้มีการจับสลากจากการลงทะเบียนหน้าร้านหรือออนไลน์แทน เหตุผลหนึ่งเพราะเห็นใจลูกค้าที่ต้องอดหลับอดนอนมายืนรอคิวข้ามคืน ตลอดจนตัดตอนคนที่มีอาชีพรับจ้างเข้าคิว เพื่อนำรองเท้าที่ซื้อได้ไปปล่อยขายต่อในราคาที่สูงลิบลิ่ว เพราะผลิตแค่ไม่กี่ร้อยคู่ทั่วโลก
นอกจากขาย Sneaker รุ่นหายากและเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลกแล้ว ปิ๊นยังเริ่มต้นขายเสื้อผ้าและเครื่องแต่งตัวภายใต้แบรนด์คาร์นิวัลด้วย
จุดเริ่มต้นเกิดจากการผลิตถุงใส่รองเท้าสำหรับลูกค้า ซึ่งปรากฏว่าสวยถูกใจจนมีลูกค้ามาขอซื้อถุง เลยคิดขายเสื้อผ้า ของใช้ในนามแบรนด์คาร์นิวัล ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าหลายร้อยชนิด และทำยอดขายราว 30% ของยอดขายทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ยังขายรองเท้าเป็นหลัก
ปิ๊นเล่าว่า ใช้เงินลงทุนแรกของตัวเองที่ 500,000 บาท จนถึงขณะนี้ยังไม่เคยต้องลงทุนเพิ่ม เพราะบรรลุจุดคุ้มทุนและทำกำไร ตั้งแต่ผ่าน 6 เดือนแรก การขยายการลงทุนตั้งแต่นั้น มาจากกระแสเงินสดทั้งหมด โดยปิ๊นถือหุ้นใหญ่ 60% ที่เหลือเป็นเพื่อนอีก 2 คน
เมื่อถามถึงเป้าหมายต่อไป ปิ๊นบอกว่าที่ผ่านมา ถือว่ามาไกลเกินคาด แต่ถ้าพูดถึงความฝันระยะใกล้ คาร์นิวัลอยากได้ทำแบรนด์ร่วมกับผู้ผลิตชั้นนำ หลังจากที่ร่วมกับแบรนด์ FILA ออกรุ่นคาร์-นิวัลแล้ว ก็มองไปถึงโอกาสในการร่วมทำแบรนด์กับไนกี้และอาดิดาสในอนาคต นอกเหนือจากการขยายร้านสู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศ
ความสำเร็จล่าสุดของคาร์นิวัล ยังรวมถึงความร่วมมือกับเคเอฟซี ออกแบบสินค้าโดยใช้ผู้พันแซนเดอร์สมาเป็นแรงบันดาลใจ พอเปิดขายปรากฏว่าสินค้า 1,500 ชิ้นขายหมดใน 2 ชั่วโมง จากที่ ตั้งใจจะขายสัก 2 สัปดาห์
ปิ๊นปิดท้ายว่า ความสำเร็จของเขามีเคล็ดลับข้อเดียวคือทำในสิ่งที่รัก และต้องทำเร็ว เพราะถ้าเริ่มช้า จะไม่ทันคนอื่น.
ทีมเศรษฐกิจ