ครม.ทุ่ม 2.5 พันล้าน ผ่าน 3 มาตรการ

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ครม.ทุ่ม 2.5 พันล้าน ผ่าน 3 มาตรการ

Date Time: 5 มิ.ย. 2562 09:00 น.

Summary

  • นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการภาษี 3 มาตรการในการประชุมครั้งนี้

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

เว้นภาษีสลาก ธอส.-หนุนพลาสติกชีวภาพ-ขยายพี่ช่วยน้อง

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการภาษี 3 มาตรการในการประชุมครั้งนี้ มาตรการแรกเพื่อสนับสนุนการระดมทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สำหรับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยออมทรัพย์ รางวัลสลากออมทรัพย์ และดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ถือสลากให้ทัดเทียมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐรายอื่นที่ไม่ต้องจ่ายภาษีกรณีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ สลากออมทรัพย์และรางวัลสลากออมทรัพย์จะออกจำหน่ายวันที่ 1 ส.ค.62 วงเงิน 20,000 ล้านบาท อายุ 36 เดือน ซึ่งจะทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้ 1,005 ล้านบาท 1.การยกเว้นภาษีดอกเบี้ยสลากออมทรัพย์ในปี 65 วงเงิน 126 ล้านบาท 2.ยกเว้นภาษีรางวัลสลากออมทรัพย์ 9 ล้านบาท 3.ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รอบครึ่งปีหลังของปี 62 วงเงิน 145 ล้านบาท และปีถัดไปปีละ 290 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยระดมทุนสร้างบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย

ขณะเดียวกัน ครม.ยังมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพ โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าซื้อบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพและได้รับการรับรองจากกระทรวงอุตสาหกรรมไม่หักเป็นรายจ่ายได้ 1.25 เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไป โดยเป็นรายจ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562- 31 ธ.ค. 2564 คาดว่าจะทำให้มีการเปลี่ยนมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพผลิตบรรจุผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้เองทางชีวภาพประมาณ 10% ต่อปี ซึ่งกรณีนี้รัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,300 ล้านบาท

“ครม.ยังอนุมัติให้ขยายมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) โดยขยายระยะเวลาการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมออกไปอีก 2 ปี จากเดิมสิ้นสุด 31 ธ.ค.2561 เป็นสิ้นสุด 31 ธ.ค.2563 เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลราคาเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ตามหลักเกณฑ์เดิมที่ได้อนุมัติไปก่อนหน้า โดยบริษัทขนาดใหญ่ที่ช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็กจะสามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 2 เท่า ของวงเงินที่จ่ายจริง มาตรการนี้คาดว่ารัฐสูญเสียรายได้ 100 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ