การเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีประเทศไทยในอนาคต จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับแนวคิดเชิงนิเวศที่สามารถจะใช้นวัตกรรมการผลิตขั้นสูงสู่ความสามารถในการนำทรัพยากรนั้นๆ กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างรู้คุณค่า
เมื่อการเติบโตของจำนวนประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในการอุปโภค-บริโภคสินค้า และบริการเพิ่มขึ้นตาม ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด และถูกใช้หมดไปอย่างรวดเร็ว
หากการใช้ทรัพยากรนั้นๆไม่สามารถดำรงระบบนิเวศตามธรรมชาติในรูปแบบเดิมๆไว้ได้ หรือนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดรูปแบบที่ทำให้ความสมดุลระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์ สิ่งมีชีวิต กับมลภาวะทั้งในอากาศ น้ำ และดิน ที่มนุษย์และสัตว์โลกต้องอยู่อาศัยกลับคืนมาได้
สิ่งแวดล้อมจะเกิดมลภาวะที่เป็นพิษขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบต่อพลวัตของการอยู่อาศัยในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทั้งสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน จนกระทั่งถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ตระหนักดีว่า การขับเคลื่อนธุรกิจที่นำเอาหลักการของ Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน : แนวคิดอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ) มาประยุกต์ใช้ทั้งภายใน และภายนอกองค์กร โดยมุ่งหวังไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า คือสิ่งสำคัญที่สุดของการสร้างให้ PTTGC เป็นต้นแบบองค์กรแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง
“เรามุ่งมั่นประกอบกิจการที่เน้นการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งยังนำหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในขั้นตอนการผลิต การอุปโภคบริโภค ตลอดจนถึงการกำจัดขยะ และของเสียจากผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ...
เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นในการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสร้างดุลยภาพ ระหว่างเทคโนโลยีกับชีวภาพเพื่อลดการเกิดของเสีย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน”
ในระบบ Circular Living ของ PTTGC มีแนวทางในการบริหารจัดการ 4 ด้าน ได้แก่
การบริหารทรัพยากร (Resources) ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดย PTTGC ให้ความสำคัญในการลดสัดส่วนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทดแทนได้ พร้อมเพิ่มการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ด้วยการริเริ่มการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต และลดปริมาณการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำเทคโนโลยีการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล (Seawater Reverse Osmosis, SWRO) มาใช้
โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้น้ำจืดจากภายนอกได้ถึง 7.23 ล้านลูกบาศก์เมตร การใช้น้ำหมุนเวียนในระบบหล่อเย็น และการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย ให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Reverse Osmosis, WWRO) เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปี พ.ศ.2561 บริษัทสามารถใช้น้ำหมุนเวียน และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 8.08 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในด้านการให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ จากวัตถุดิบชีวภาพ PTTGC ยังเข้าร่วมโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจชีวภาพของภาครัฐ การนำพลังงานทางเลือกมาใช้ภายในองค์กร ในขณะที่บริษัทได้ผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิดพอลิแลคติคแอซิด (PLA) และพลาสติกโพลีเอทิลีน (PE) เพื่อผลิตถุงเพาะ ถุงปลูก พลาสติกทางการเกษตร รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่มีคุณสมบัติคงทน แข็งแรง เทียบเท่ากับพลาสติกทั่วไป และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย
การบริหารจัดการกระบวนการผลิต (Production) บริษัทได้ดำเนินธุรกิจตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการออกมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้งการใช้วัตถุดิบอย่างรับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพสูงสุดตามหลัก 5Rs (Reduce การลดการใช้, Reuse การใช้ซ้ำ, Recycle การแปรรูปมาใช้ใหม่, Renewable การใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน และ Refuse การปฏิเสธการใช้)
ตัวอย่างของการปรับใช้หลัก 5Rs ในการดำเนินงานของบริษัท ก็คือ จัดทำโครงการลดปริมาณ ของเสียอันตรายโดยนำไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ เริ่มตั้งแต่ลดปริมาณการเกิดของเสีย การใช้ซ้ำ และเปลี่ยนวิธีกำจัดของเสียจากวิธีฝังกลบเป็นวิธีอื่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2561 PTTGC ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ 113 เกรดผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint of Products : CFP)
และ 60 เกรดผลิตภัณฑ์ ได้รับการรับรอง เครื่องหมายลดคาร์บอนฟุตพรินต์ หรือฉลากลดโลกร้อน (Carbon Footprint Reduction : CFR) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นอกจากนี้แล้ว PTTGC
ยังได้การรับรองเครื่องหมายวอเตอร์ฟุตพรินต์ของผลิตภัณฑ์ (Water Footprint) จำนวน 4 ผลิตภัณฑ์ จากสถาบันน้ำ และสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นให้กับชุมชน และสังคมรอบโรงงาน โดย PTTGC ได้ติดตั้งระบบดูดกลับไอไฮโดรคาร์บอน (Vapor Recovery Unit : VRU) เพื่อลดการปล่อยไฮโดรคาร์บอนจากถังเก็บผลิตภัณฑ์ออกสู่บรรยากาศ
นอกจากนี้ บริษัทได้มีการติดตั้งหอเผาระบบปิด (Enclosed Ground Flare) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาไหม้ก๊าซไฮโดรคาร์บอนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถลดควัน เสียง แสง และความร้อนจากเปลวไฟก่อนปล่อยออกสู่บรรยากาศสำเร็จ
การบริโภค และการนำไปใช้ (Consumption) ให้คุ้มค่าและ เกิดประโยชน์สูงสุด บริษัทได้ผนวกแนวคิดการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-design) ตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงการเลือก หรือลดการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิต โดยพิจารณาตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พัฒนาเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (Low density polyethylene : LDPE) เพื่อขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางที่ลดการใช้วัตถุดิบ แต่ไม่ลดคุณภาพ รักษาคุณสมบัติเด่นด้านการทนความร้อน ความแข็งแรง และความใส
การลดปริมาณการใช้วัตถุดิบนี้สามารถลดการใช้สาร Antioxidant ลงร้อยละ 66 ในกระบวนการผลิต ลดต้นทุนการผลิตได้กว่า 2 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทกว่า 140 ล้านบาทต่อปี
PTTGC ยังมีความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือ และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ เช่น การดำเนินโครงการ Upcycling the Oceans, Thailand (UTO) ร่วมกับมูลนิธิอีโคอัลฟ์ จากประเทศสเปน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล และลดปัญหาจากขยะพลาสติกในทะเล
การดำเนินงานนี้ บริษัทได้ร่วมมือกับชุมชนชาวประมง และชุมชนชายฝั่ง กับผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในการเก็บขยะพลาสติกประเภทขวด PET และพลาสติกประเภท PE ในทะเล และชายฝั่งภาคตะวันออก-ภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่มี โดยขยะพลาสติกที่เก็บได้ ถูกนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าด้วย
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ที่ PTTGC ได้ร่วมดำเนินโครงการ “Upcycling the Oceans, Thailand” โดยได้รับความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งกับ ททท. มูลนิธิอีโคอัลฟ์ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ประชาชนและอาสาสมัครนักดำน้ำในแหล่งท่องเที่ยว ทั้งที่เกาะเสม็ด และที่ภูเก็ต สละเวลา มาร่วมกันเก็บ และคัดแยกขยะบริเวณชายหาดในทะเล จนสามารถรวบรวมขยะพลาสติกจำนวนทั้งหมดถึง 20 ตันได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี
PTTGC ได้นำขยะพลาสติกที่ดูเหมือนไร้ค่าเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการ Upcycling ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์แล้ว แปลงร่างขยะพลาสติกเหล่านั้นด้วยนวัตกรรมสู่การเปิดตัว 1st Thailand Collection คอลเลกชันผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า และกระเป๋าแฟชั่นจากขยะขวดพลาสติกในโครงการ UTO นับเป็นคอลเลกชันแรกที่อัปไซเคิลจากขยะพลาสติกในเมืองไทย
โดยเสื้อจากโครงการนี้มากกว่า 3,000 ตัว ขายหมดอย่างรวดเร็ว ภายในไม่กี่วันหลังวางจำหน่าย สะท้อนกระแสการตอบรับที่ดีเกินคาดในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และท้องทะเลของคนไทย ซึ่งรายได้จากการจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย PTTGC ได้มอบให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา
สำหรับ การบริหารจัดการขยะ (Waste Management) อย่างมีประสิทธิภาพนั้น นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า PTTGC มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการใช้พลาสติกชนิดใช้แล้วทิ้ง (Single Used Plastic) เช่น ถุงช็อปปิ้ง จำนวน 150,000 ตันต่อปี ให้เหลือ 0 ตันต่อปี ภายใน 5 ปี และมุ่งไปสู่ตลาดไบโอพลาสติกในการผลิต Packaging รูปแบบต่างๆ รวมถึงการ Upcycling ด้วยการนำนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์
โดยขณะนี้ บริษัทได้จับมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยหลายสถาบันในการสนับสนุนการใช้พลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติกในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านหลายโครงการ อาทิ โครงการ Chula Zero Waste ที่ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัย โดยนำพลาสติกชีวภาพนวัตกรรมใหม่ หรือ BioPBS มาผลิตเป็นแก้ว Zero-Waste Cup ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายได้ถึงร้อยละ 100 มาใช้ในจุฬาฯ
โครงการ Be Smart Be Green ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร สนับสนุนการผลิต และใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม BioPBSTM ผลิตเป็นแก้วกระดาษเคลือบ BioPBS และ หลอดไบโอพลาสติก
โครงการ ThinkCycle Bank ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างเครือข่ายการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ พร้อมเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
นับเป็นการปลูกฝังการคัดแยกขยะ และการใช้พลาสติกอย่างถูกวิธีให้กับเด็ก และเยาวชนไทย!
PTTGC ยังจับมือพันธมิตรจากหลากหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ โครงการความร่วมมือ “GC-MQDC Upcycling Plastic Waste” ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้พลาสติกรีไซเคิลจากโครงการ Upcycling Plastic Waste ของ PTTGC เป็นส่วนหนึ่งของวัสดุก่อสร้างในทุกโครงการต่างๆ ของ MQDC
ยังมี โครงการความร่วมมือกับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และวัตถุดิบ จากพลาสติก และพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพของ PTTGC ด้วย
นอกจากนี้ PTTGC ยังมุ่งดำเนินธุรกิจพลาสติกรีไซเคิล (Recycled Plastic) ต่อเนื่อง โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาการลงทุนโรงงานรีไซเคิล พลาสติกครบวงจรมาตรฐานสากลระดับโลก ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมและการแสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุน รวมทั้งการจัดหาวัตถุดิบ (Waste Collection) ที่เหมาะสม โครงการนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2562
แนวคิดภายใต้หลักการของ Circular Economy ที่ PTTGC นำมาใช้นี้ น่าที่หลายอุตสาหกรรมในประเทศจะนำไปช่วยในการลดการใช้ ทรัพยากร และมลพิษลงได้มากทีเดียว.
ทีมเศรษฐกิจ