นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนยื่นหนังสือร้องเรียนต่อศาลปกครอง ขอให้ระงับหรือชะลอการประกาศใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2018) พ.ศ.2561-2580 ว่า ยังไม่ทราบกรณีดังกล่าว แต่ขอยืนยันว่าแผนพีดีพีจัดทำขึ้นภายใต้พื้นฐานที่คำนึงถึงความมั่นคงด้านพลังงาน และให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ดังนั้น หาก
ราคาพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนต่ำ สามารถผลิตเพื่อขายเข้าระบบได้ตามปกติ
“ผมมีนโยบายส่งเสริมการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนทุกชนิด โดยเฉพาะโครงการผลิตไฟฟ้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคที่อยู่อาศัย หรือโซลาร์ภาคประชาชน ที่ในอนาคตจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบมากขึ้น ซึ่งไม่ได้กระทบค่าไฟฟ้าของประชาชน เพราะเน้นผลิตใช้เอง ส่วนเกินขายไฟเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ ถ้าราคาไม่แพงรัฐบาลก็ส่งเสริมอยู่แล้ว”
ด้านนายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซชีวภาพไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย.62 กลุ่มผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวข้อง ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ระงับการประกาศใช้แผนพีดีพีฉบับใหม่ เพราะแผนดังกล่าวไม่สมบูรณ์ในกระบวนการรับฟังความเห็น หากต้องดำเนินการตามแผน นอกจากจะกระทบกับผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวข้อง และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทแล้ว จะกระทบต่อประชาชน ที่อาจต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในอนาคต
“รัฐบาลควรวางกรอบการพัฒนาแผนพลังงานที่เกี่ยวข้องก่อน โดยเฉพาะแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก (AEDP) จากนั้นจึงนำมากำหนดไว้ในแผนพีดีพี แต่รัฐบาลกลับทำแผนพีดีพีใหม่โดยเปลี่ยนแปลงทั้งปริมาณและระยะเวลาในการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน ที่กำหนดให้ชะลอออกไป ทำให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนที่วางแผนธุรกิจระยะยาวไว้แล้ว ที่สำคัญ การที่รัฐบาลลดการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรม ที่ทำ ให้ต้นทุนมีแนวโน้มต่ำลงในอนาคต ถือเป็นการตัดโอกาสไปให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนสูง ในที่สุดต้องผลักภาระเป็นค่าไฟฟ้ามาให้ประชาชนรับแทน”.