นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. และคณะอนุกรรมการร่างสัญญาคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ได้เจรจาร่วมกับกลุ่มซีพี หรือกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร เพื่อรวบรวมข้อสรุปว่าจะรับเงื่อนไขของของกลุ่มซีพีได้หรือไม่ได้ โดยล่าสุด
การเจรจาเมื่อวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา มีแนวโน้มเป็นไปด้วยดี ไม่อึมครึมและทางกลุ่มซีพี ก็มีท่าทีที่ผ่อนคลายลง ทำให้สามารถเจรจาต่อไปได้ โดยจะกลับมาเจรจากันอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค.นี้ และต้องได้ข้อสรุปในทุกประเด็นและลงนามได้ก่อนสงกรานต์ ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่คาดว่าจะต้องเซ็นสัญญาภายในสิ้นเดือน มี.ค. 2562
“การเจรจา 12 ข้อลุล่วงไปมากแล้ว เหลือเพียง 3-4 ข้อที่ยังไม่ลงตัว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ประกอบด้วย กลุ่มเงื่อนเวลาที่จากเดิมจะเป็นข้อผูกมัดรถไฟ เช่น กรณีอายุสัมปทานโครงการ 50 ปี ซึ่งทางซีพีขอขยายเป็น 99 ปีนั้น ในเรื่องนี้ทางซีพีแจ้งว่าเป็นการเข้าใจผิด ทางรัฐสามารถปรับลดมา 50 ปีได้ หากเป็นความประสงค์ของภาครัฐ ส่วนกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มทางการเงิน ซึ่งในส่วนนี้ทางซีพีและพันธมิตร ขอไปเจรจากับสถาบันการเงิน 3 ประเทศ ทั้งไทย, ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือเจบิค และสถาบันการเงินจากประเทศจีน เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยทางซีพีแจ้งว่าจะให้ได้ข้อสรุปในสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า และกลุ่มที่ 3 ด้านถ้อยคำหรือข้อความในสัญญาที่มีการเข้าใจผิด เช่น กรณีขอย้ายสถานีและเพิ่มสถานี จากเดิมที่กำหนดสิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภา
“เอกชนต่างชาติที่ร่วมทุนกับซีพี กำลังกังวลมากเกรงว่าโครงการจะไม่ต่อเนื่อง หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เช่น กรณีมาเลเซียที่มีการประมูลรถไฟความเร็วสูง แต่เมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ยกเลิกโครงการ เป็นต้น ซึ่งได้แจ้งไปว่ารัฐบาลไทยมีความต่อเนื่องแน่ โดยหากสัปดาห์หน้า ซีพีไม่สามารถเจรจากับสถาบันการเงินได้จบ รฟท.ก็จะยอมเลื่อนเจรจาออกไปก่อน และจะไม่เจรจาซ้อนกับกลุ่มบีเอสอาร์ (นำโดยกลุ่มบีทีเอส) ซึ่งเป็นผู้ยื่นซองอีกรายแน่นอน”.