บนโลกใบนี้คงจะไม่มีอะไรดีไปกว่าการได้ทาน “ของอร่อย” แต่แน่นอนว่า ของอร่อยในที่นี้เราไม่ได้หมายถึงการปรุงรสเพียงอย่างเดียว นั่นก็เพราะว่าสิ่งต่างๆ มักจะเริ่มจากจุดแรกเสมอ เช่นเดียวกันกับอาหารที่ถูกปาก รสชาติที่ถูกใจ ย่อมจะต้องเริ่มด้วย “หยดแรก”
เรากำลังพูดถึง “น้ำมัน” ที่ไม่ว่าจะผัดหรือจะทอด ก็ต้องเป็นสิ่งแรกที่ไหลลงสู่กระทะ ก่อนที่วัตถุดิบอื่นๆ จะถูกใส่ตามลงไป…
และ “น้ำมัน” ที่เรากำลังจะเอ่ยถึงอยู่คู่ครัวเรือนไทยมานานกว่า 47 ปี หากเปรียบเทียบกับอายุอานามก็เสมือนกับวัยกลางคนที่ยังคงเก๋า และดูเหมือนจะสมาร์ทไม่น้อยเลยทีเดียว
“คิง” เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักเป็นอย่างดี เพราะด้วยการเป็นแบรนด์น้ำมันรำข้าวที่ครองใจผู้บริโภคมาอย่างยาวนาน มีสัดส่วนทางการตลาดกว่า 85% แม้ว่าในปัจจุบันตลาดน้ำมันรำข้าวในไทยจะมีมากถึง 18 แบรนด์ก็ตาม
ประทีป สันติวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง หนึ่งในผู้นำธุรกิจน้ำมันรำข้าวและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับรำข้าวทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันตลาดน้ำมันพืชในประเทศไทยมีมูลค่ารวมประมาณ 25,000-26,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มน้ำมันปาล์มราว 70% กลุ่มน้ำมันถั่วเหลือง 20% กลุ่มน้ำมันรำข้าวสัดส่วน 4-5% และที่เหลือราว 5% จะเป็นกลุ่มน้ำมันพืชอื่นๆ เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันมะพร้าว
ซึ่งจากสัดส่วน 4-5% ของตลาดน้ำมันรำข้าว คิดเป็นมูลค่าราว 1,100 ล้านบาท เติบโตโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี นับจากช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องจากคนหันมาใส่ใจสุขภาพและทำอาหารทานเองที่บ้านมากขึ้น ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปี 68 ตลาดน้ำมันพืชโดยรวมจะเติบโต แต่จะเติบโตช้าลงไม่เกิน 5% เพราะครัวเรือนไม่ได้ทำอาหารมากขึ้น
และในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตค่อนข้างมาก ดังนั้นด้วยการเติบโตของตลาดทำให้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ผลักดันให้มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดน้ำมันรำข้าวจำนวนมาก รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 18 แบรนด์ จากเดิมที่มีเพียง 4 แบรนด์เท่านั้น โดยเป็นแบรนด์ของคนไทยที่ผลิตน้ำมันรำข้าวเองบางส่วน และอีกฝั่งคือน้ำมันรำข้าวที่นำเข้ามาบรรจุ ซึ่งคิงมีทั้งหมด 3 แบรนด์ในตลาด
แต่กระนั้นใช่ว่า “น้ำมันรำข้าว” จะเป็นตลาดที่ใครจะเข้ามาได้ง่ายๆ เพราะต้องแข่งขันกันด้วยคุณประโยชน์ของน้ำมัน เกรดของข้าว ที่มีสารโอรีซานอลเป็นตัวชูโรง รวมทั้งในเรื่องของ “ราคา” เพราะน้ำมันรำข้าวมีราคาเฉลี่ยต่อขวดลิตรอยู่ที่ 60-70 บาท ซึ่งแพงกว่าน้ำมันปาล์มที่มีราคาเฉลี่ยต่อขวดลิตรอยู่ที่ 40 บาทเท่านั้น
นั่นจึงทำให้ “น้ำมันรำข้าว” กลายเป็นตลาดที่หอมหวนไม่น้อยเลยทีเดียว จึงไม่แปลกใจที่จะมีผู้เล่นเป็นสิบๆ แบรนด์ โดยกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงก่อตั้งเมื่อปี 2520 ด้วยความเชื่อมั่นในคุณค่าของ “รำข้าวไทย” สู่เส้นทางการผลิตน้ำมันรำข้าวที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ตามมาตรฐานการผลิตระดับสากล ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าวที่ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภค ได้แก่ น้ำมันรำข้าวคิง โอรีซานอล 8,000 ppm น้ำมันรำข้าว King โอรีซานอล 12,000 ppm และน้ำมันรำข้าวไรซ์ลี่ โอรีซานอล 15,000 ppm
รวมถึงมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ ได้แก่ ชอร์ตเทนนิ่งน้ำมันรำข้าวคิง ครีมเทียมน้ำมันรำข้าวไรซ์ลี่ และผลิตภัณฑ์ใหม่ เครื่องดื่มรำข้าวไรซ์ลี่
ประทีป กล่าวต่อไปว่า ในปี 2567 คาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 8,300 ล้านบาท แบ่งเป็นน้ำมันรำข้าว 35% (ตลาดในประเทศ 64% และส่งออก 36%) โดยส่งออก Top 3 คือ เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ที่เป็นเบาท์ ส่วนโลโก้คิงคือ ยุโรป เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง ขณะที่สัดส่วนอีก 65% คือ อาหารสัตว์ ซึ่งหากมีการเพิ่มกำลังการผลิตจะทำให้รับรำได้เพิ่มขึ้น รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นตาม
จึงทำให้ ประทีป ได้มีการวางกลยุทธ์เพื่อให้กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงแข็งแกร่งขึ้น และสร้างการเติบโตทางธุรกิจหลักๆ ด้วยกัน 3 ส่วน คือ
จึงทำให้จากเดิมกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงมีโรงงานทั้งหมด 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่สมุทรปราการ อยุธยา และนครราชสีมา มีกำลังการผลิตรวมกว่า 1,550 ตันรำข้าว/วัน ทำให้สามารถผลิตน้ำมันรำข้าวดิบได้มากถึง 88,000 ตัน/ปี ส่วนโรงกลั่นของมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ประมาณ 350 ตันน้ำมันดิบ/วัน สามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้มากถึง 60,000 ตัน/ปี
เพื่อจะขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต บริษัทเตรียมลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานสาขา จ.นครสวรรค์ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 68 เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการวัตถุดิบ รวมทั้งยังมีแผนการลงทุนในการพัฒนาเครื่องจักรให้กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิงทันสมัยด้านเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันรำข้าว ทั้งยังมีงบในการพัฒนาด้าน ESG เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดน้ำมันรำข้าวระดับโลก
นอกจากนี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ยังได้มีการลงทุนในเรื่องของการสื่อสารการตลาดไปกว่า 270 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ และด้วยกลยุทธ์ทั้งหมดนี้เองบริษัทฯ จึงได้มีการตั้งเป้ายอดขายที่จะมุ่งสู่ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2573
“เราอยู่มาได้ 47 ปีย่างเข้าปีที่ 48 เพราะ 4 สูตรความสำเร็จในการทำธุรกิจ นั่นคือ 1.ความไว้วางใจ ทั้งภายในองค์กร ลูกค้า และชุมชน 2.องค์ความรู้ 3.วินัยการเงิน 4.การเปลี่ยนแปลง เปิดรับความคิดใหม่ๆ รวมทั้งการสร้าง Network และการคำนึงถึง ESG”
และเมื่อถามถึงการปรับราคาสินค้า ประทีป มองว่า ในปีนี้ยังไม่มีแผนที่จะปรับราคา ซึ่งต้องดูในปีหน้า แต่ปรับยังไงนั้นก็จะให้กระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด รวมทั้งกลุ่มลูกค้าที่โฟกัสจะแตกต่างไปจากเดิม โดยจะปักหมุดไปที่กลุ่มที่เพิ่งมีรายได้ เริ่มสร้างครอบครัว และสนใจเรื่องสุขภาพ เนื่องจากมีกำลังซื้อมากขึ้น ดังนั้นการเข้าถึงจึงแตกต่างจากกลุ่มเดิมที่จะเป็น Baby Boomer และ Gen X
อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าการทำธุรกิจย่อมมีความท้าทายเป็นเรื่องธรรมดา ประทีป ฉายภาพว่า ความท้าทายประการแรกคือ เรื่องของวัตถุดิบ เพราะรำข้าวมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากวัตถุดิบอย่างอื่นนั่นคือ “อายุ” ที่ต้องนำมาใช้ภายใน 1-2 วัน แตกต่างจากเมล็ดพืชอื่นๆ อาทิ ถั่วเหลือง ปาล์ม ถือเป็นความยากที่สุด ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ๆ ในอดีตไม่มีใครอยากจะทำน้ำมันรำข้าว จึงมีการตั้งโรงงานให้ใกล้กับฐานการผลิต มีกระบวนการผลิตที่สามารถดูแลและรักษาคุณภาพได้
รวมทั้งในอดีตคนไทยไม่รู้จักน้ำมันรำข้าว และนิยมบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองเป็นหลัก จึงทำให้มีความยากในการทำธุรกิจ แต่เราก็ไม่ย่อท้อโดยเริ่มมีการค้นคว้าหาข้อมูล “รำข้าว” และสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น
จึงไม่น่าแปลกใจที่วันนี้ “กลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง” จะเป็นผู้นำตลาดน้ำมันรำข้าว ที่ครองมาร์เก็ตแชร์สูงถึง 85% เพราะการใส่ใจในคุณภาพสินค้า ผู้บริโภค และยังคงคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมนั่นเอง…
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -
https://www.facebook.com/ThairathMoney