หมดยุคทองดิวตี้ฟรี–คิง เพาเวอร์ ประธานบอร์ด ทอท.เคลียร์ปัญหาคาใจประมูลสัมปทานสนามบิน 4 แห่ง ไม่ใช่การผูกขาดทางการค้า ระบุ อย่าหลงผิดโมเดลอินชอน จะทำ ทอท.เสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เตรียมเปิดแถลงข่าววันนี้ (18 มี.ค.) เพื่อเคลียร์ปัญหาคาใจเกี่ยวกับเงื่อนไขการเปิดประมูลให้เอกชนเข้าบริหารจัดการพื้นที่ภายในสนามบิน 4 แห่งของประเทศ ตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ ว่า เงื่อนไขการประมูล หรือ TOR ของ 4 สนามบินที่จะเปิดคราวเดียวกันนี้ ไม่ใช่เป็นการเปิดให้มีการผูกขาดธุรกิจให้สัมปทานบริหารพื้นที่ภายในสนามบินทั้งในส่วนของร้านค้าปลอดภาษี และพื้นที่เชิงพาณิชย์แต่อย่างใด
“หลายคน แม้แต่รัฐบาลก็เข้าใจผิดเรื่องนี้มาตลอดว่า ทอท.จะให้เอกชนรายเดียวผูกขาดสัมปทานบริหารพื้นที่ในสนามบินทั้ง 4 แห่ง จึงไปขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศเลื่อนการประมูลออกไป และจะให้มีการแก้ไข TOR ใหม่ ซึ่งจะต้องเอาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบอร์ดใหม่ และจะเสียเวลาอีกเนิ่นนานไปจนอาจจะถึงเดือน ก.ค. กรณีดังกล่าวเท่ากับทำให้ ทอท.ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้รับผลกระทบ และเกิดความเสียหายกับรายได้ใหม่ที่ควรจะได้เป็นกอบเป็นกำในเบื้องต้นด้วย” กรรมการบอร์ด ทอท.คนหนึ่งเปิดเผย
หมดยุคทอง คิง เพาเวอร์
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการบอร์ด ทอท.ที่มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ทำหนังสือชี้แจงนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปว่า หลังจากกระทรวงการคลังประกาศให้มีการเปิดประมูล “จุดส่งมอบสินค้าเสรี” หรือ Pick up counter ในพื้นที่ต่างๆทั้งในเมือง และในจังหวัดใหญ่ๆทั่วประเทศได้แล้ว
จะต้องถือว่ายุคทองของร้านค้าดิวตี้ฟรีในสนามบินนั้นหมดไปแล้วสิ้นเชิง “อยากจะบอกด้วยว่า ยุคทองของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ก็จบไปแล้วเช่นกัน เพราะใครต่อใครก็สามารถจะเปิดจุดส่งมอบสินค้าได้ ที่สำคัญยังสามารถเปิดร้านค้าดิวตี้ฟรีในเมืองได้อย่างเสรีด้วย ฉะนั้นใครจะเข้าร่วมแข่งขันการให้บริการนี้สามารถทำได้ทั้งสิ้น”
นอกจากนี้แล้ว บรรดาห้างสรรพสินค้าต่างๆก็มีจุดส่งมอบสินค้าที่นักท่องเที่ยว หรือห้างสรรพสินค้าสามารถส่งสินค้าที่นักท่องเที่ยวซื้อจากห้างของตนไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ หรือสนามบินอื่นๆได้แล้วด้วย ในเวลาเดียวกัน กระทรวงการคลังยังเปิดให้มีจุดบริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวตแก่นักท่องเที่ยวในจุดต่างๆเพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการค้าขายสินค้าจากประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าพื้นเมือง หัตถกรรม และสินค้าท้องถิ่นไทยได้ด้วย
ยืนยันประมูลสนามบินไม่ผูกขาด
สำหรับการเขียนเงื่อนไข TOR ให้เอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลโดยเสนอเงื่อนไขทั้งทางด้านราคา และผลตอบแทนต่างๆให้แก่ ทอท.ได้ในคราวเดียวกันทั้ง 4 แห่ง ก็เนื่องจาก ทอท.พบว่า การดำเนินงานของร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินต่างๆ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่นั้น
ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาการขาดทุน โดยเฉพาะที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเอารายได้ที่ได้รับจากสนามบินสุวรรณภูมิตามสัญญาสัมปทานเดิมไปอุดหนุนเพื่อให้สามารถรักษาร้านค้าปลอดภาษีตามสนามบินต่างๆของทอท.ให้อยู่ต่อไปให้ได้
“ถ้าจะให้มีการแก้ไขว่า ทอท.จะต้องเปิดประมูลสัมปทานโดยแยกเป็นสนามบินแต่ละแห่ง หรือใครประมูลได้สนามบินใด จะห้ามไปประมูลสนามบินอื่นอีก กรณีเช่นนี้ จัดว่าไม่เข้าใจการ บริหารจัดการพื้นที่ของร้านค้าปลอดภาษี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีการดำเนินการกันอยู่ เพราะเมื่อผู้ประมูลทุกรายรับรู้ความจริงว่าแต่ละสนามบินทำรายได้ต่างกัน ที่สำคัญยังมีการขาดทุนเอกชนที่คาดหวังจะเข้าประมูลสนามบินโน้นสนามบินนี้ ก็จะไม่ยื่นซองประมูลสนามบินที่ขาดทุน”
สำหรับกรณีที่รัฐโดยกระทรวงคมนาคม ประสงค์ที่จะให้สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีสองราย คือรายหนึ่งเป็นเอกชนในประเทศ และอีกรายเป็นเอกชนจากต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย อย่าง ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี หรือชิลลา ดิวตี้ฟรีช็อป นั้น
โมเดลอินชอนไม่ได้ผล
ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีความพยายามของกลุ่มคนที่อยากจะเข้าบริหารพื้นที่ของร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณเสนอให้เอกชนต่างประเทศซึ่งร่วมทุนกับห้างสรรพสินค้าในประเทศ เข้ามาบริหารร่วมด้วยนั้น เคยมีตัวอย่างมาแล้วในอดีตว่า ทอท.ในฐานะเจ้าของพื้นที่เกิดการเสียผลประโยชน์ เมื่อเอกชนรายที่ร่วมทุนกับต่างประเทศไม่สามารถดำเนินการได้จากหลายเหตุปัจจัย จึงขอคืนพื้นที่ให้แก่ ทอท. และ ทอท.ก็ต้องมายกพื้นที่นั้นให้กับเอกชนอีกรายไปทำแทน ที่เป็นปัญหาก็คือ เมื่อรายหนึ่งทำโปรโมชันโดยลดราคาสินค้าลง อีกรายไม่ลด ก็ยิ่งจะขายสินค้านั้นๆของตนไม่ได้ ยิ่งรายหนึ่งมีแผนทำโปรโมชันต่อเนื่องขณะที่อีกรายไม่ทำเลย ที่สุดก็เจ๊งอยู่ไม่ได้มีผู้นำโมเดลตัวอย่างจากสนามบินอินชอน ของเกาหลีใต้ซึ่งเปิดให้เอกชนสองรายเข้าบริหารพื้นที่ภายในสนามบินมาให้รัฐบาลไทยพิจารณาว่า ควรดำเนินการอย่างเดียวกัน เพราะจะทำให้สนามบินสุวรรณภูมิมีรายได้มากพอๆกับสนามบินอินชอน
แต่ไม่มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า สนามบินอินชอนซึ่งเปิดให้เอกชน 2 รายเข้าไปบริหารนั้น ความจริงมีพื้นที่ใหญ่กว่าสุวรรณภูมิถึง 3 เท่า คือระหว่าง 27,000 ตร.ม. กับ 9,000 ตร.ม. ที่อินชอนมีรายได้ปีละ 2,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มากกว่า 2.7 เท่า ของสุวรรณภูมิซึ่งมีรายได้ 756 ล้านเหรียญฯ ส่วนจำนวนผู้โดยสารของอินชอนมีมากกว่าสุวรรณภูมิ 2.05 เท่า คือ 101,352,777 คน แต่สนามบินสุวรรณภูมิมี 49,526,015 คน
ที่สำคัญก็คือ สนามบินอินชอนสามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาติต่างๆเช่นจีนได้มากกว่า 1.39 เท่า ญี่ปุ่นมากกว่า 4.71 เท่า สหรัฐฯ 3.14 เท่า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สนามบินสุวรรณภูมิของประเทศไทยสามารถทำให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่า หรือเท่ากับ 6.971 เหรียญสหรัฐฯ/คน ส่วนอินชอนนักท่องเที่ยวใช้จ่ายต่ำกว่าที่ 6.340 เหรียญฯ/คน
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่ไม่ได้นำมาเปิดเผยด้วยว่า หลังจากหุ้นของบริษัทหนึ่งที่ได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินอินชอนพุ่งขึ้นไปแล้ว ปรากฏว่า บริษัทดังกล่าวได้ขอถอนตัวและคืนสัมปทานนี้ให้แก่รัฐไป คงปล่อยให้อีกบริษัทบริหารพื้นที่ในสนามบินอินชอนลำพังต่อไป และบริษัทดังกล่าวก็เข้ามาลงทุนในประเทศไทย.