ส่งออกไทยทรุดหนักต่อเนื่อง ม.ค.ติดลบกระฉูด 5.65%-ขาดดุลสูงสุดรอบ 7 ปี

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ส่งออกไทยทรุดหนักต่อเนื่อง ม.ค.ติดลบกระฉูด 5.65%-ขาดดุลสูงสุดรอบ 7 ปี

Date Time: 23 ก.พ. 2562 05:45 น.

Summary

  • พาณิชย์เผย ส่งออก ม.ค.62 ติดลบกระฉูด 5.65% หลังเทรดวอร์—บาทแข็งพ่นพิษ ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน และนำเข้าอาวุธพุ่ง 4,837% ...

Latest

รอบรั้วการตลาด : Mega Clinic ทำ all-time high เปิดกลยุทธ์ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย

พาณิชย์เผย ส่งออก ม.ค.62 ติดลบกระฉูด 5.65% หลังเทรดวอร์—บาทแข็งพ่นพิษ ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน และนำเข้าอาวุธพุ่ง 4,837% เพราะไทยซ้อมรบกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำขาดดุลสูงถึง 4,032 ล้านดอลลาร์ สูงสุดรอบ 7 ปี

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน ม.ค.62 การส่งออกมีมูลค่า 18,993 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 5.65% เทียบกับเดือน ม.ค.61 ติดลบต่อเนื่อง 3 เดือน และติดลบครั้งแรกในรอบปีนี้ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 616,103.9 ล้านบาท ลดลง 5.72% ส่วนนำเข้ามีมูลค่า 23,026.3 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 13.99% เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 756,664.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.96% ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 4,032.4 ล้านเหรียญฯ สูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือน ม.ค.56 ที่ขาดดุลการค้า 5,916.2 ล้านเหรียญฯ ส่วนเมื่อคิดเป็นเงินบาท ขาดดุลการค้าสูงถึง 140,560.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกในเดือน ม.ค.ที่ติดลบ 5.65% หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ การส่งออกจะเหลือติดลบ 5.1%

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ส่งออกติดลบ มาจาก 5 สาเหตุสำคัญ คือ ผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) ทำให้มูลค่าส่งออกไทยในเดือน ม.ค.62 หายไป 240.5 ล้านเหรียญฯ แบ่งเป็น ผลจากมาตรการทางตรง จากการที่สหรัฐฯใช้มาตรการภาษีกับสินค้าทั่วโลก ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม โซลาร์เซลล์ เครื่องซักผ้า โดยไทยส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปสหรัฐฯ 64.2 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 8.25% หรือเป็นผลบวกต่อการส่งออกไทยในเดือนนี้ 4.92 ล้านเหรียญฯ จากการเพิ่มขึ้นของโซลาร์เซลล์ 24.2% เครื่องซักผ้า 6.6% อะลูมิเนียม 46.1% แต่เหล็ก ลด 2.7%

ขณะที่กลุ่มสินค้าไทยที่เป็นห่วงโซ่การผลิตของจีน แต่ได้รับผลกระทบจากการที่สินค้าจีนถูกสหรัฐฯใช้มาตรการภาษี พบว่า การส่งออกสินค้าไทยกลุ่มนี้ไปจีนมีมูลค่า 1,877 ล้านเหรียญฯ ลดลง 17.3% โดยมูลค่าส่งออกหายไป 393.4 ล้านเหรียญฯ จากการลดลงของยานพาหนะและส่วนประกอบ 49.7% ของใช้ในบ้านและออฟฟิต 39.6% ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์และแผงวงจร 22.3% เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ 4.4% อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม 40.6% เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก 7.1% ส่วนกลุ่มสินค้าไทยที่ส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ พบว่ามีมูลค่า 1,723 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 9.4% มีผลบวกต่อการส่งออก 148 ล้านเหรียญฯ

นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไทยเดือน ม.ค.ยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะข้าว ที่มีคำสั่งซื้อชะลอตัวลง เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน และกระทบต่อผู้ส่งออก ที่ทำให้รายได้เป็นเงินเหรียญสหรัฐฯเมื่อแลกมาเป็นเงินบาทลดลง ซึ่งเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะดูแล แต่ผู้ส่งออกต้องทำประกันความเสี่ยง และอย่าคิดว่าเงินบาทจะหยุดแข็งค่าแค่ 31 บาท/เหรียญฯ เพราะมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าต่อเนื่องในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหลังเลือกตั้ง

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวต่อถึงการขาดดุลการค้าที่สูงมาก ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้าอาวุธยุทธ-ปัจจัย มีมูลค่า 2,133 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4,837.50% เพราะมีการซ้อมรบระหว่างไทย-สหรัฐฯ และไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีการนำเข้าอาวุธในการซ้อมรบ และนำออกไปหลังจากเสร็จสิ้น ซึ่งจะถูกบันทึกในระบบของศุลกากร
สำหรับมูลค่าการส่งออกปี 62 หากจะโตได้ตามเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ที่ 8% จากปีก่อน มูลค่าส่งออกในอีก 11 เดือนจะต้องได้เฉลี่ยเดือนละ 23,000 ล้านเหรียญฯ หากโต 5% จะต้องได้เดือนละ 22,300 ล้านเหรียญฯ และหากโต 3% จะต้องได้เดือนละ 21,900 ล้านเหรียญฯ ซึ่งแนวโน้มการส่งออกไตรมาส 1 ยังได้รับผลกระทบของสงครามการค้าและค่าเงินบาทแข็งค่า คาดว่าสถานการณ์ส่งออกจะกลับมาดีขึ้นไตรมาส 2 เป็นต้นไป

“ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อส่งออกไทยในช่วง 1-2 เดือนนี้ นอกจากเทรดวอร์ ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว ยังมีผลกระทบจากการที่ประเทศคู่แข่งทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กันมากขึ้น รวมถึงการที่ไทยจะถูกญี่ปุ่นตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) วันที่ 1 เม.ย.62 ดังนั้น สินค้าไทยที่กระทบต้องไปส่งออกทดแทนในตลาดที่ได้สิทธิทางภาษี”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ