ขสมก.ถูกเบรกหัวทิ่ม คนร.สั่งทบทวนปรับขึ้นค่าโดยสารใหม่ หวั่นมีผลกระทบต่อภาระของประชาชน ขณะที่ไอแบงก์พ้นปากเหว ออกจากแผนฟื้นฟูสำเร็จ หลังทำกำไรพุ่ง 590 ล้านบาท สูงกว่าแผน ด้านบอร์ดขนส่งทางบกกลาง เด้งรับนัดประชุมด่วน 18 ม.ค.นี้ ขณะที่ ขสมก.สั่งชะลอขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ 2,500 คัน
น.ส.ปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้หารือเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ตามกำหนดจะเริ่มวันที่ 21 ม.ค.นี้ โดย คนร.ได้ให้กรอบนโยบายกับ ขสมก.ไปทบทวนในเรื่องดังกล่าวว่า จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของช่วงเวลาที่จะปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารด้วย “คนร.ห่วงเรื่องการขึ้นค่าโดยสารของ ขสมก.ว่า จะมีผลกระทบต่อภาระของประชาชน จึงมอบนโยบายให้ประธาน ขสมก.ไปพิจารณา โดยให้ดูความเหมาะสม และผลกระทบต่างๆ ของการปรับขึ้นค่าโดยสาร ซึ่ง ขสมก.น่าจะกลับไปหารือกับกระทรวงคมนาคมให้ชัดเจนก่อนนำมาเสนอ คนร.ต่อไป”
ทั้งนี้ ขสมก.ได้รายงานความคืบหน้าโครงการรถโดยสารเอ็นจีวีด้วยว่า ปัจจุบันรับมอบรถโดยสารเอ็นจีวีมาแล้ว 300 คัน คาดว่าจะรับมอบส่วนที่เหลือ 189 คัน ได้ภายใน มี.ค.2562 และสามารถจัดหารถครบ 3,000 คัน ได้ภายในปี 2565 อย่างไรก็ตาม คนร.ได้มอบหมายให้ ขสมก.ไปจัดทำประมาณการด้านการเงินให้ชัดเจนว่า จะมีผลการดำเนินงานอย่างไร สำหรับการนำน้ำมันบี 20 มาใช้ คาดว่าจะดำเนินการได้ครบทุกคันในเดือน ก.พ.2562 นี้ ส่วนเรื่องการติดตั้งระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Ticket นั้น ยังมีความล่าช้าอยู่
นอกจากนี้ คนร.ยังมีมติให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ออกจากแผนฟื้นฟู เนื่องจากปัจจุบันฐานะทางการเงินของไอแบงก์มีความแข็งแกร่งแล้ว จากการเพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2561 และปี 2561 ผลประกอบการของไอแบงก์มีกำไรสูงกว่าแผนงาน โดยมีกำไร 590 ล้านบาท แต่ยังมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Finance : NPF) สูงกว่าแผนเล็กน้อย ซึ่ง คนร.เห็นว่าไอแบงก์มีผลประกอบการที่ดี มีกำไร และมีการปรับปรุงระบบการทำงานซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีต และสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการของไอแบงก์ในอนาคตได้ จึงมีมติเห็นชอบให้ไอแบงก์ออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร และมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลไอแบงก์ให้สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไป
น.ส.ปิยวรรณ กล่าวว่า ส่วนบริษัท การ-บินไทย จำกัด (มหาชน) นั้น คนร.ได้มอบหมายให้การบินไทยเร่งจำหน่ายเครื่องบินที่ปลดระวาง และสร้างความชัดเจนถึงการดำเนินการร่วมกับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งให้ดำเนินการตามแผนงานที่ได้นำเสนออย่างเคร่งครัด ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้รายงานการดำเนินการตามแผนต่างๆ รวมทั้งนำส่งงบการเงินให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบครบถ้วนแล้ว
ด้านนายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง กล่าวว่า วันที่ 18 ม.ค.นี้ เวลา 11.00 น.จะมีประชุมด่วนคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อดำเนินการตามมติ คนร. ที่ขอให้กระทรวงคมนาคมชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ออกไปก่อน ดังนั้นคณะกรรมการฯ จะต้องประชุม เพื่อทบทวนมติ เนื่องจากมติเดิมคณะกรรมการฯเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ทั้งระบบ ตั้งแต่ 21 ม.ค.2562 เป็นต้นไป “ประเด็นที่คณะกรรมการฯ ต้องทบทวนใหม่ คือ แนวทางการชะลอขึ้นค่าโดยสารว่า จะชะลอรถประเภทใดและชนิดใดบ้าง เพราะรถโดยสารสาธารณะมีหลายประเภท และหลายชนิด ไม่ใช่เฉพาะแค่รถเมล์ของ ขสมก.เท่านั้น ยังมีรถเมล์ร่วมบริการของเอกชน และรถทัวร์ร่วมบริการของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับรถเมล์เก่าของ ขสมก.คงต้องชะลอการขึ้นค่าโดยสารแน่นอนทั้งรถร้อนและรถเย็น ส่วนรถเมล์ใหม่อาจให้ขึ้นค่าโดยสารได้ ส่วนรถร่วม บขส. และ บขส. ต้องพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง”
ขณะที่นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เผยว่า ในการประชุมบอร์ด ขสมก. ได้มีมติให้ ขสมก. ชะลอการปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์เก่าทั้งรถเมล์ร้อนและปรับอากาศ จำนวนกว่า 2,500 คัน ออกไปก่อน จากเดิมที่มีกำหนดจะปรับราคาในวันที่ 21 ม.ค.