หลังจากสหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศให้ประเทศไทยติด “ใบเหลือง” หรือประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ตั้งแต่เดือน เม.ย.2558 ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ชาวประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ได้รับผลกระทบจากการโดนกีดกันการส่งออก ทำให้อุตสาหกรรมประมงไทยต้องเสียหายมูลค่านับแสนล้านบาท
สำหรับปัญหาสำคัญที่อียูต้องการให้แก้ไขคือ การใช้เครื่องมือจับปลาผิดกฎหมายจนทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลลดลง และปัญหาการใช้แรงงานทาส ซึ่งสอดคล้องกับการที่ไทยถูกปรับลดอันดับไปอยู่เทียร์ 3 หรือประเทศที่ไม่มีการคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือน มิ.ย.2557
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่เพิกเฉยต่อปัญหา จัดตั้งศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) จำนวน 28 แห่งในจังหวัดชายทะเลทั่วประเทศ โดยเรือขนาดใหญ่ 30 ตันกรอส จะต้องรายงานข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ทุกครั้ง อาทิ ชนิดเครื่องมือจับปลา ใบอนุญาตการทำประมง เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงว่ามาจากการทำประมงที่ถูกต้องหรือไม่
และเพื่อแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ไทยได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมงขึ้นในเดือน พ.ย. ปี 2558 เพื่อควบคุม ติดตาม การทำประมงในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทย โดย พ.ร.ก.ดังกล่าวมีหลักการสำคัญ อาทิ การจำแนกเขตประมงอย่างชัดเจน ระหว่างประมงน้ำจืดพื้นบ้านและพาณิชย์ การกำหนดมาตรการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเล เป็นต้น
นอกจากนี้ ไทยยังได้ปรับปรุง พ.ร.ก.เรือไทย พ.ศ.2481 ของกรมเจ้าท่า เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สามารถบริหารจัดการกองเรือประมงทั้งระบบ โดยจะต้องสอดคล้องกับปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน หลังเข้าไปจัดการใหม่ ปัจจุบันไทยมีเรือประมงที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมีจำนวน 38,495 ลำ แบ่งเป็น เรือประมงพาณิชย์จำนวน 10,565 ลำ เรือพื้นบ้านจำนวน 27,930 ลำ จากก่อนหน้าไทยมีเรือจำนวนมากกว่า 50,000 ลำ
สำหรับเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพสูง อาทิ อวนรุน อวนล้อม โพงพางนั้น กรมประมงได้ออกประกาศห้ามใช้เด็ดขาด โดยถ้าชาวประมงฝ่าฝืนจะมีโทษหนักจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลให้แก่คนรุ่นหลังได้ใช้ทำมาหากินต่อไป
ส่วนการแก้ปัญหาด้านแรงงานได้มีการปรับปรุงกฎหมาย โดยการออก พ.ร.ก.บริหารแรงงานต่างด้าว พ.ร.บ.ปราบปรามแรงงาน เป็นต้น รวมทั้งไทยยังให้สัตยาบันอนุสัญญา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็น “ประเทศแรก” ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อดูแลแรงงานให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี จนส่งผลให้แรงงานไทยถูกปรับขึ้นมาอยู่เทียร์ (Tier) 2 จากเดิมอยู่เทียร์ 2 วอตช์ ลิสต์ (ที่ต้องจับตามอง) เมื่อปี 2560
ผลจากการเข้าปราบปรามทำให้มีคดีประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ภาคการประมงตั้งแต่ พ.ศ.2558-2561 รวมทั้งสิ้น 4,448 คดี ได้แก่ เรือประมงไม่ติดตั้งระบบการติดตามเรือประมง (วีเอ็มเอส) 2,054 คดี ไม่แจ้งจุดจอดรับเรือภายในเวลาที่กำหนด 171 คดี เรือต่างชาติในน่านน้ำไทย 220 คดี โรงงานและสถานแปรรูปสัตว์น้ำ 77 คดี ค้ามนุษย์ในภาคประมง 88 คดี เป็นต้น ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 3,958 คดี
ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่อียูได้ “ปลดธงเหลือง” ไทยจากการทำประมงแบบไอยูยู อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา พร้อมยกให้ไทยเป็น “ต้นแบบ” ประมงในภูมิภาคอาเซียน หลังจากสามารถแก้ปัญหาไอยูยูได้รวดเร็วเพียง 4 ปีเท่านั้น โดยในด้านกรอบกฎหมาย ระบบบริหารจัดการกองเรือ ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้า ของไทยถือว่าได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตไทยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ต่อต้านไอยูยู กับเกาหลี ฟิลิปปินส์ เมียนมา และญี่ปุ่น เพื่อช่วยประเทศเหล่านี้แก้ไขวิกฤติด้านไอยูยู รวมทั้งมีแผนร่วมมือกับจีน มัลดีฟส์ สหรัฐอเมริกา และวานูอาตู เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการทำการประมงและสินค้าที่ปลอดไอยูยู (ไอยูยู ฟรี)
ส่วนแนวทางการดำเนินการในอนาคต นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาครัฐจะดูแลและพัฒนาอาชีพประมงให้มีความยั่งยืน และถูกต้องตามกฎหมายไอยูยูของอียูต่อไป โดยจะเน้นการดูแลชาวประมงชายฝั่ง และประมงพื้นบ้าน ในเรื่องการปรับเปลี่ยนเครื่องมือให้เหมาะสมกับการทำประมง โดยไม่ทำลายทรัพยากรทางทะเล
“หลักประกันที่ดีที่สุดว่าไทยจะไม่กลับไปทำประมงแบบเดิม คือ การทำตามกฎกติกาที่รับมาจากอียูอย่างเคร่งครัด ซึ่งมั่นใจว่าชาวประมงส่วนใหญ่มีความเข้าใจและเริ่มคุ้นเคยกับกติกาใหม่แล้ว ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องห้ามละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และเข้าไปดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นประมงพาณิชย์ ประมงชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ให้สามารถดำรงอาชีพอยู่ได้”.
นันท์ชยา ชื่นวรสกุล