มีคาดการณ์ที่อาจเป็นไปได้ ว่า จำนวนประชากรของประเทศไทย จะลดลงจาก 66 ล้านคน (ปี 2566) เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626 หากอัตราการเสียชีวิต ของคนไทย ยังมากกว่า “การเกิด”
โดยช่วงปี 2567 นับเป็นปีทื่ 4 ติดต่อกัน ที่อัตราเด็กแรกเกิด ต่ำกว่า 500,000 คน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิต สูงกว่า 570,000 คน
ซึ่งนอกจากสาเหตุ วัยหนุ่มสาว คู่รักแต่งงาน นิยมมีบุตรน้อยลงแล้ว ยังมาจากภาวะมีบุตรยาก ที่เกิดขึ้นในหมู่คนไทยอีกด้วย โดยรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉบับล่าสุด ระบุว่า เป็นทั้งเรื่องน่ากังวลที่จะกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกัน ก็ผลักดันโอกาสให้กับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อย่าง ธุรกิจบริการรักษา ภาวะมีบุตรยาก ด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าว และมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับในหมู่คนต่างชาติ
ในรายละเอียด เผยว่า ทั่วโลก รวมถึงประเทศ อยู่ในภาวะ การเจริญพันธุ์ของประชากรลดลง ซึ่งการคาดการณ์ของ UN เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา เผยว่า เดิม (ปี 2513) จากเฉลี่ยผู้หญิง1คน จะมีบุตร 4.8 คน แต่ในปี 2568 อาจเหลือแค่ 1 : 2.2 คน เท่านั้น
ขณะอายุเฉลี่ยในการคลอดบุตรคนแรก อยู่ที่ 28 ปี ซึ่งสะท้อนว่า คู่สมรสนิยมมีบุตรกันช้าลง ซึ่งเทรนด์ดังกล่าว เป็นปัจจัยหนุนหลักที่ทำให้ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของโลกยังมีทิศทางขยายตัว มูลค่า ราว 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ คาดโตเฉลี่ยปีละ 8% โดยเฉพาะ บริการแช่แข็ง /ฝากไข่
ทั้งนี้ การเติบโตของตลาด Fertility Tourism ของโลก ส่งผลให้ไทยน่าจะได้รับอานิสงส์จากการเดินทางเข้ามารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวต่างชาติมากขึ้น
เจาะตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทย อาจโตได้ถึง 6.2% จากปี 2567 ด้วยมูลค่า 6.3 พันล้านบาท ตามความต้องการใช้บริการที่ยังเพิ่มขึ้นจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ประเด็นสำคัญ พบว่า สัดส่วนกว่า 55% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด จะมาจากผู้ใช้บริการคนไทย หลังจากหลายคู่สมรส ก็กำลังประสบภาวะมีบุตรยากจากปัญหาสุขภาพ เช่น ความไม่สมบูรณ์ของฮอร์โมน โรคอ้วน และโรคเครียดจากการทำงาน มีปัญหาด้านการเจริญพันธ์ ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
ผลักดันแนวโน้ม การรักษาด้วยการทำเด็กหลอดแก้วแบบเฉพาะเจาะจง (ICSI) มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี
เนื่องจาก ผู้ประกอบการในธุรกิจดังกล่าว ระบุว่าในระยะหลัง ภาวะมีบุตรยากที่พบในคู่สมรสชาวไทยมีความซับซ้อน และพบว่าเกิดในฝั่งเพศชายมากขึ้นจากความไม่สมบูรณ์ของน้ำเชื้ออสุจิตามพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และความผิดปกติที่เกิดจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด เป็นต้น ซึ่งการรักษาด้วย ICSI ที่เป็นนวัตกรรมใหม่จะให้อัตราความสำเร็จที่สูงกว่าวิธีอื่นๆ
การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธีผสมเทียม (IUI) เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง สะท้อนจากช่วงหลังโควิดจำนวนรอบการรักษาด้วยวิธี IUI มีสัดส่วนลดลงจาก 31% ในปี 2565 คาดว่าจะเหลือเพียง 28% ในปี 2568
เช่นเดียวกับการทำเด็กหลอดแก้วแบบปกติ (IVF) ที่อัตราการเติบโตของรอบการรักษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 2% ต่อปี ส่วนแนวโน้มผู้รับบริการกลุ่มอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน จากแนวโน้ม การปรับมาตรการ /กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้ยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น ประเทศจีน มีการผ่อนปรนให้ประชากรมีบุตรได้ 3 คน ตั้งแต่ ปี 2564
“ มูลค่าตลาดต่างชาติที่มีสัดส่วนกว่า 45% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ยังมีทิศทางเติบโตเพิ่มขึ้น จากผู้รับบริการในกลุ่มประเทศจีน อินเดีย และอาเซียน ที่นิยมเดินทางเข้ามารักษาภาวะมีบุตรยากในไทย ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก จาก Fertility Tourism ที่มีความโดดเด่นหลายด้าน “
ส่วนประเทศไทย ก็มีการปรับกฎหมายอุ้มบุญ และ ให้คู่สมรสเพศเดียวกัน มีลูกได้เช่นกัน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney