“ทีมเศรษฐกิจ” ประชุมโต๊ะกลมกันว่าสงกรานต์ปีนี้เราจะทำหน้าที่เป็น Re–Viewer กลุ่มคนที่หาเรื่องดีๆที่น่าสนุก และเป็นที่สนใจมาเล่าสู่กันฟัง จนทำให้ผู้อ่านมีโอกาสได้รับรู้รับทราบร่วมกันในเรื่องที่ไม่น่าเบื่อ หรือต้องเบือนหน้าหนีไปอ่านหน้าอื่นๆเสียก่อนที่จะทันได้อ่านเนื้อหาดีๆที่เราต่างไปรวบรวมกันมา
ว่าแต่เรื่องใดล่ะที่น่าสนุกพอจะติดตาม และเข้ามามีผลกระทบกับวิถีชีวิตของผู้คน จนทำให้ทุกสิ่งที่เคยจับต้องได้เปลี่ยนแปลงไปชนิดที่เรียกได้ว่าเปลี่ยนจากหน้ามือ เป็นหลังมืออย่างฉับพลัน
ที่สำคัญ ทำไมสิ่งนั้นจึงมีพลังขับเคลื่อนมหาศาลถึงขั้นที่สามารถโยนพวกเราลงสู่คลื่นแห่งการเปลี่ยนผ่านจากวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สู่การตื่นตัวกับการรุกเร้าถาโถมเข้ามาในการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล และสังคมด้วยระยะเวลาที่รวดเร็ว เป็นอิสระ ไร้พรมแดน และยากจะจับต้องได้
ข้อสรุปที่ได้มาก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสรรพสิ่งภายใต้เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก โซเชียลเน็ตเวิร์ก และชีวิตดิจิทัลที่ผู้คนต้องวิ่งตามไปให้ทัน
เพราะไม่ใช่แค่การตกขบวนรถไฟ หรือตกเทรนด์เท่านั้น แต่จะเป็นการตกยุคตกเจเนอเรชั่น กลายไปเป็นคนในรุ่นที่เรียกกันว่า Silent Generation ที่เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี
ทีนี้มาดูกันว่ามีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่ก้าวข้ามกาลเวลาในแบบไร้ขีดจำกัด และไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าอนาคตในวันข้างหน้า ใครจะเป็นผู้ชนะ!
ระหว่างการพัฒนาอย่างไร้ขีดจำกัดของเทคโนโลยี 6 ด้าน
เริ่มต้นจาก ด้านที่ 1.ที่เรียกกันรวมๆว่า Internet of Things (IOT) เครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีการเชื่อมต่อกันระหว่างคลื่นความถี่ที่มีภาษาเดียวกันในการสื่อสารระหว่างกัน เครือข่ายนี้เชื่อมต่อกันกับเครื่องจักรกลอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุมการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้า
ทั้งตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า ผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น เพียงแค่การส่งคำสั่งจากมนุษย์สู่เครื่องจักรกลอัจฉริยะที่บริษัทไอทีชั้นนำของโลกกำลังแข่งขันกันอยู่
ไม่ว่าจะเป็น Alexa ของ Amazon หรือ Google Assistant หรือ Bixby ของ Samsung ที่มนุษย์สามารถสั่งให้จักรกลอัจฉริยะเหล่านี้เปิดประตูบ้านรอ เปิดแอร์ เปิดไฟฟ้าในบ้าน เปิดทีวีวงจรปิด หรือแม้แต่ช่วยหาเพลงโปรดจากศิลปินชื่อดังของโลก ได้เพียงแค่สั่งการ
กรณีของค่าย Samsung สัญชาติเกาหลีใต้ ที่กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของค่ายผู้ผลิตจากโลกตะวันตกนั้น กำหนดเป้าหมายในปี 2561 ให้พนักงานช่วยกันสร้างจักรกลอัจฉริยะ ที่เป็นทีวี ต้องทำหน้าที่ให้เป็นเสมือนสมาร์ทโฟนในเครื่องเดียวกันให้ได้ด้วย เป็นต้น
Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด กำลังกลายเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่มาแรง เร็ว และกระทบกระเทือนอย่างหนักต่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ทั่วโลก ที่เคยมีรายได้จากการใช้บัตรเครดิต หรือใช้เคาน์เตอร์ธนาคาร เพื่อการโอนเงิน
เงินสดที่เคยสำคัญ และเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ถูกลดความสำคัญลงฉับพลัน เพราะสมาร์ทโฟนสามารถทำหน้าที่โอนเงินแทนได้ หรือทำธุรกรรมทางการเงินได้รวดเร็วเพียงปลายนิ้วกด แม้จะมีข้อกังขาในเรื่องของความปลอดภัย แต่การโอนเงิน หรือชำระบิล ใบเสร็จผ่านโทรศัพท์มือถือ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเหล่าธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายต้องปรับตัวครั้งใหญ่
ในประเทศไทย สังคมไร้เงินสดถูกประกาศให้ใช้ได้เพียงไม่กี่เดือน ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งก็ต้องปรับลดจำนวนพนักงานลง และปิดสำนักงานสาขาของตนลงจำนวนมาก
ไม่เฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงินแทนธนาคารพาณิชย์เท่านั้น การจับจ่ายใช้สอย หรือซื้อสินค้าทางออนไลน์ หรือบนโทรศัพท์มือถือ ก็กลายเป็นพฤติกรรมการบริโภคยอดฮิตของผู้คนที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธนาคารพาณิชย์ และบรรดาห้างสรรพสินค้า
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้ จะได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆและยังไม่มีแนวโน้มจะหยุดยั้งไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แอพพลิเคชั่น หรือนวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาโดยเหล่าบริษัท FinTech หรือแม้แต่การลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล
AI–AR–VR...ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เป็นเทคโนโลยีอันดับแรกที่มีบทบาทสำคัญในการพลิกอนาคตของโลก และ AI คือ หุ่นยนต์ที่จะเข้ามาคิด วิเคราะห์สิ่งต่างๆด้วยเหตุและผล ยิ่งมีการพัฒนามากขึ้น จักรกล หรือหุ่นยนต์เหล่านี้ก็ยิ่งจะสามารถจดจำใบหน้า เสียง และการใช้มือของมนุษย์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทั้งยังสามารถโต้ตอบ และสนทนากับมนุษย์ได้ด้วยภายใต้การใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่บนโลกอินเตอร์เน็ตที่เราเรียกกันว่า BIG DATA
ขณะที่ AR : Augmented Reality จักรกลประดิษฐ์เสมือนจริงเป็นอีกเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการมองเห็นกับโลกของความเป็นจริงด้วยการซ้อนเทคโนโลยีเข้ากับการมองเห็นจริงของมนุษย์ปกติ ซึ่งทำให้เกิดมุมมองใหม่ของการเรียกใช้เทคโนโลยี และจัดการระบบอย่างเป็นรูปธรรม โลกที่เคยเป็นความฝันในอดีตหรือในจินตนาการ กำลังถูกสร้างขึ้นให้กลายเป็นจริง
เทคโนโลยีอีกตัวที่หลายค่ายกำลังแข่งขันกันพัฒนาขึ้นก็คือ VR : Virtual Reality หรือโลกเสมือนจริง หากมองผิวเผิน VR อาจจะเหมือนกับ AR แต่ในข้อเท็จจริง VR แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้ หรือรูปแบบการนำไปใช้นั่นเพราะ VR เป็นสิ่งที่อยู่ในโลกเสมือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ร่างกายเพียงตอบสนองกับสิ่งที่เห็นเพื่อฝึกฝนหรือเพื่อแสวงหาความบันเทิงโดยไม่มีการซ้อนกันกับโลกความเป็นจริงแต่อย่างใด
ในประเทศไทยเรา มีการนำหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้เพื่อการผลิตและ การให้บริการลูกค้าในหลายรูปแบบ ตั้งแต่การเลี้ยงไก่ของ บมจ.ซีพีเอฟ, การใช้หุ่นยนต์ ชื่อ “น้องแสนดี” ของ บมจ.แสนสิริ เพื่อการส่งของให้ลูกบ้านในคอนโดมิเนียม และการใช้หุ่นยนต์เพื่อต้อนรับคนไข้ของ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เป็นต้น
ธุรกิจ E–Commerce การค้าขาย ทำธุรกรรมเชิงพาณิชย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ หรือหน้าเว็บ ซึ่งจริงๆเติบโตมานานแล้วในประเทศไทย แต่การเติบโตช่วงหลังเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เมื่อไม่สามารถปิดกั้นโลกออนไลน์จากต่างประเทศที่เข้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Amazon หรือ Alibaba
ธุรกรรมเชิงพาณิชย์บนระบบ e-commerce เหล่านี้เป็นช่องทางที่ทำให้บริษัทต่างๆ สามารถขายสินค้า และขยายฐานลูกค้าของตนได้มากขึ้น เพราะใช้ระบบการตลาดออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชม.
ขณะที่ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทุกเวลาโดยอัตโนมัติ ด้วยระบบการชำระเงินออนไลน์ที่สะดวก รวดเร็ว เพราะตัดเงินผ่านบัตรเครดิตของลูกค้าโดยไม่ต้องเสียเวลาออก ไปเลือกดูสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือต้องออกนอกบ้าน และไม่ต้องไปโอนเงินผ่านธนาคารให้เสียเวลาด้วย
ระบบนี้ยังทำให้ผู้ขายสินค้ามีต้นทุนต่ำ ไม่ต้องมีหน้าร้าน เช่าที่ขายสินค้า หรือจ้างพนักงาน ขณะที่การขยายฐานลูกค้าสามารถทำได้โดยไร้ขีดจำกัด ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน พื้นที่ใด ประเทศไหนๆในโลก ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าที่ต้องการได้ในทุกชาติ ทุกภาษา ภายใต้โอกาสที่เท่าเทียมกันเมื่อโลกอินเตอร์เน็ตนี้ไร้พรมแดน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ ระบบความปลอดภัยของเว็บขายสินค้าออนไลน์นั้นๆ แม้จะมีระบบตะกร้าสินค้า และระบบบริการลูกค้าหลังการขายที่ครบถ้วน แต่หากเว็บนั้นมีช่องโหว่ก็อาจถูกโจมตีจากพวกแฮกเกอร์ได้
ธุรกิจโลจิสติกส์ และการส่งสินค้า หรือแม้แต่อาหาร กำลังเป็นที่นิยม และเป็นความต้องการอย่างมากของผู้คนในโลกที่สินค้าออนไลน์ขายดี และมีการแข่งขันกันสูง ธุรกิจขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์กำลังกลายเป็นดาวรุ่งที่พุ่งมาแรง เมื่อผู้คนสั่งซื้อสินค้าจากเว็บ หรือออนไลน์มากขึ้น การแข่งขันของธุรกิจนี้จึงเริ่มมีแรงผลักดันให้รายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เฉพาะแต่ บ.ไปรษณีย์ไทยที่มีสภาพย่ำแย่ก็กลับพลิกฟื้นสถานะของตนขึ้นได้เมื่อเปิดบริการรับส่งสินค้า และผลิตภัณฑ์ต่างๆเพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะแต่การส่งจดหมาย หรือบรรจุภัณฑ์ที่ส่งผ่านไปรษณีย์เพียงอย่างเดียว ขณะที่ บมจ.เอสซีจี หันไปจับมือกับบริษัทขนส่งรายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่ชื่อ “แมวดำ” เปิดรับส่งวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในเครือของปูนซิเมนต์ไทย
ส่วนสินค้าชิ้นใหญ่ๆ จะถูกนำส่งโดยดีเอสแอล เฟดเอ็กซ์ รถไฟไทย เคอร์รี่ หรือแม้แต่รถทัวร์ก็โดดเข้ามาร่วมการแข่งขันในระบบขนส่งสินค้านี้ด้วย เมื่อรายได้การขนส่งเพิ่มมากขึ้น
เช่นเดียวกัน อาหารที่พ่อค้าแม่ค้าเคยจ้างมอเตอร์ไซค์หน้าปากซอยไปส่งให้ลูกค้า ทุกวันนี้ อูเบอร์–อีท, ไลน์ แมน บริการรับส่งอาหารตามสั่งของลูกค้าเหมือนๆกับมอเตอร์ไซค์ส่งพิซซ่านั่นเอง
ธุรกิจโลจิสติกส์ และการขนส่งสินค้านี้ มีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น และทำรายได้ให้แก่เจ้าของธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
ธุรกิจสุดท้ายที่ห้ามพลาดในการที่จะเรียนรู้ หรือใช้ทักษะหลายๆด้านเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้ตนเองก็คือ ธุรกิจ E–Sport หรือธุรกิจเกมออนไลน์ ซึ่งกำลังกลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรง และเริ่มต้นจากการเล่นเกมธรรมดาๆของเด็ก
วันนี้ธุรกิจนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นจนมีการจัดทัวร์นาเมนต์เพื่อการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆกระทั่งจากการเล่นเกม กลายเป็นการกีฬาอีกประเภทหนึ่ง ที่ต้องมีการจัดเตรียมทีมในการฝึกซ้อม และเข้าแข่งขันเหมือนกีฬาอาชีพ ในชื่อกลุ่มต่างๆ ขณะเดียวกัน แต่ละการแข่งขันยังเปิดรับนักพากย์เกมเหมือนการแข่งขันฟุตบอล บาสเกตบอล หรือในการแข่งขันกีฬาต่างๆด้วย
เม็ดเงินที่สะพัดอยู่ในอุตสาหกรรมเกมออนไลน์นี้ นัยว่ามีมูลค่ามหาศาล และทำยอดขายแต่ละปีให้แก่บริษัทเจ้าของเกมรายใหญ่ๆไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมีการออกแบบเกมใหม่ๆเข้ามาในตลาด หรือการเซตเวอร์ชั่นของเกมใหม่ๆขึ้นมาให้สมาชิกนักเล่นเกมลงทะเบียนกัน
สำหรับผู้อ่าน ทีมเศรษฐกิจอยากให้ท่านติดตามเรื่องราวการพัฒนาเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัดของธุรกิจทั้ง 6 ด้านนี้อย่างต่อเนื่อง แล้วท่านทั้งหลายจะรู้ว่าโลกของเทคโนโลยีนี้ก้าวไปไกลขนาดไหนแล้ว.
ทีมเศรษฐกิจ
econ@thairath.co.th