ธุรกิจรับยุคดิจิทัลในสไตล์ "หมู อุ๊กบี"

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ธุรกิจรับยุคดิจิทัลในสไตล์ "หมู อุ๊กบี"

Date Time: 10 ก.พ. 2561 05:01 น.

Summary

  • สตาร์ตอัพ (Startup) คำนี้คงเป็นที่คุ้นหูและได้ยินบ่อยครั้งในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นอีกจุดหมายที่กลุ่มวัยรุ่นเจเนอเรชั่นใหม่ อยากจะสร้างตนเองให้เป็น “สตาร์ตอัพ”

Latest

คาราบาวแดง ตั้งเป้าเพิ่มแชร์ 3% ทะยานสู่แชมป์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ผนึกไทยรัฐ กรุ๊ป ปีที่ 4 ลุยแคมเปญใหญ่

สตาร์ตอัพ (Startup) คำนี้คงเป็นที่คุ้นหูและได้ยินบ่อยครั้งในยุคปัจจุบัน ซึ่งก็เป็นอีกจุดหมายที่กลุ่มวัยรุ่นเจเนอเรชั่นใหม่ อยากจะสร้างตนเองให้เป็น “สตาร์ตอัพ” ซึ่งก็มีหลายสตาร์ตอัพที่ทำให้เห็นว่ามันเกิดขึ้นได้ อาทิ อูเบอร์ เป็นธุรกิจเครือข่ายด้านคมนาคม ที่ไม่ต้องมียานยนต์เป็นของตนเอง แต่เขามีแพลตฟอร์มที่ดีตอบโจทย์โลกยุคนี้ได้ ซึ่งก็ทำให้ประสบความสำเร็จได้

Business On My Way สัปดาห์นี้ขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักสตาร์ตอัพรายแรกๆของเมืองไทย อย่าง “อุ๊กบี” (Ookbee) ด้วยฝีมือการปลุกปั้นจากหนุ่มหล่อไฟแรง “คุณหมู” (ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท อุ๊กบี จำกัด หรือที่คนส่วนใหญ่จะเรียกเขาว่า “หมู อุ๊กบี”

คุณหมู เล่าว่า จุดเริ่มต้นธุรกิจของเขาเกิดจากความคิดที่อยากจะนำสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษ เปลี่ยนมาอยู่บนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็ได้ชวนเพื่อนอีก 4 คน มาร่วมทำเว็บไซต์ให้บริการหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-บุ๊ก (e-Book) ซึ่งปีนี้ธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 7 แล้ว และดำเนินธุรกิจใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยมีฐานลูกค้าใช้งานประจำราว 6 ล้านคน

“การก้าวสู่ธุรกิจนี้เป็นการเล็งเห็นโอกาสจากการที่สมาร์ทโฟนเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งในช่วงแรกก็ยอมรับว่ามีท้อใจ เนื่องด้วยตอนนั้นถือเป็นอะไรที่ใหม่สำหรับการจะปรับพฤติกรรมผู้อ่านให้มาอ่านหนังสือผ่านอีบุ๊ก”

สำหรับในเรื่องแพลตฟอร์มอุ๊กบี ถือว่าไม่ยากเกินความสามารถ เพราะผมจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และทำงานด้านการเขียนโปรแกรมมากว่า 10 ปี ซึ่งก็เป็นการรับงานมาทำ ทำเสร็จก็ส่งงานกลับให้ลูกค้า จนเกิดความรู้สึกอิ่มตัวอยากขยับขยายไปทำสิ่งอื่น

กระทั่งมาลงมือทำอุ๊กบี ซึ่งก็ได้รับโอกาสที่ดีจากบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่มาเป็น Venture Capital ให้ (กองทุนที่ลงทุนในกลุ่มบริษัทสตาร์ตอัพ)

คุณหมู เล่าว่า ช่วงแรกของการทำอุ๊กบี เขาได้เจรจาติดต่อสำนักพิมพ์ต่างๆ เพื่อขอไฟล์ PDF มาอัพโหลดในอุ๊กบี ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ซึ่งปัจจุบันมี 2,000 กว่าหัวในทุกประเภทหมวดหมู่ ตอนนั้นคิดแค่ว่า 100 คน มี 5 คนหันมาอ่านในอีบุ๊กก็โอเคแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็มีช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกเป็นสุญญากาศ เนื่องจากมีหลายนิตยสาร รวมถึงหนังสือพิมพ์เริ่มปิดตัวลง แน่นอนต้องมีผลกระทบ เพราะซัพพลายหรือหัวนิตยสาร นิยาย หนังสือพิมพ์ ที่จะอยู่ในอุ๊กบีก็จะน้อยลงด้วย

“สิ่งนี้ทำให้ผมคิดหาทางออกเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง โดยขยายไลน์ธุรกิจออกไปสู่การให้บริการอ่านการ์ตูนออนไลน์ ฟังเพลงออนไลน์ฟังใจ (Fungjai) รวมทั้งให้บริการอ่านนิยายแชตที่ชื่อว่า “จอย–ลดา” ผ่านทั้งทางเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่น รวมถึงทำเพจบนเฟซบุ๊กอย่าง a ดวง ที่เกี่ยวกับการทำนายดวงชะตา ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการสร้างคอมมูนิตี้ แพลตฟอร์ม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความชอบในเรื่องนั้นๆได้ตรงจุด”

ทั้งนี้ คงมีหลายคนอยากทราบว่าอุ๊กบีสร้างรายได้จากอะไร ซึ่งคุณหมูบอกว่ารายได้มาจากการขายโฆษณา และการชำระค่าบริการของสมาชิก โดยโฆษณาจะสอดแทรกอยู่ระหว่างการเปลี่ยนหน้าเพื่ออ่านต่อ ซึ่งผู้อ่านก็สามารถเลือกได้ว่าจะชำระเงินเพื่อไม่ให้มีโฆษณา หรืออีกทางเลือกคือดูโฆษณาที่กำหนดแล้วจะได้รับกุญแจปลดล็อกเพื่ออ่านต่อ ส่วนค่าบริการก็มีแพ็กเกจทั้งแบบรายเดือน รายปี

คุณหมู เล่าว่า ตอนนี้ธุรกิจเขาจะเน้นการสร้างคอนเทนต์ แบบ User Generated Content (UGC) การที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มเป้าหมายผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง อย่างเช่น จอยลดา นิยายรูปแบบใหม่ ที่ใช้การแชตมาเป็นตัวเล่าเรื่อง ก็จะเปิดโอกาสให้นักเขียนหน้าใหม่ส่งผลงาน ซึ่งหากเรื่องไหนได้รับความนิยมมีผู้อ่านเยอะ เราก็จะสนับสนุนนักเขียนให้ส่งผลงานมาต่อเนื่อง โดยมีค่าตอบแทนให้อยู่ที่การตกลง ปัจจุบันมีเรื่องอัพโหลดวันละ 10,000 เรื่อง ซึ่งในอนาคตคุณหมูยังบอกด้วยว่า คิดที่อยากพัฒนานำโฆษณาแฝง (Tie in) ไปในบทสนทนาด้วย รวมทั้งมีแผนทำซีรีส์ออนไลน์อีกด้วย

“การให้ความสำคัญคอนเทนต์ UGC ของผมก็เพราะมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาเขาเหล่านั้นให้เป็น Professional Generated Content (PGC) หรือคอนเทนต์ที่มืออาชีพเป็นผู้สร้างสรรค์ได้ การวาดภาพการ์ตูนที่สวยขึ้น หรือเห็นพัฒนาการที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี ซึ่งก็ดูได้จากกระแสความนิยมโดยผู้อ่านหรือผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศจะเป็นคนเลือกเอง อีกทั้งยังต่อยอดจัดกิจกรรมต่างๆได้ อาทิ กิจกรรมให้ผู้อ่านได้ใกล้ชิดนักเขียน เป็นต้น”

ท้ายสุดคุณหมู กล่าวว่า นอกจากธุรกิจต่างๆที่ทำมาแล้ว เขายังมีความฝันที่อยากจะทำให้สำเร็จ คือการนำอุ๊กบีเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นหนึ่งในผู้ให้โอกาสสตาร์ตอัพไทย โดยปัจจุบันคุณหมูเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกองทุน 500 ตุ๊กตุ๊ก เพื่อให้เงินลงทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพไทย ซึ่งขณะนี้ก็มีกว่า 50 สตาร์ตอัพในกองทุนนี้.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ