คลี่บทสรุปนโยบายบริหารพลังงาน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

คลี่บทสรุปนโยบายบริหารพลังงาน

Date Time: 15 ม.ค. 2561 08:30 น.

Summary

  • ในรายงานแนวทางการปฏิรูปพลังงานของประเทศที่อ้างว่าเป็นผลศึกษาของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560

Latest

จากเด็กชอบคอมพิวเตอร์สู่ "iHAVECPU" จากทุน 4 หมื่นสู่ยอดขาย 1,800 ล้านบาท

ในรายงานแนวทางการปฏิรูปพลังงานของประเทศที่อ้างว่าเป็นผลศึกษาของ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 ที่มีนายพรชัย รุจิประภา อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ล้วนคร่ำหวอดอยู่ในแวดวงพลังงานที่ถูกแจกจ่ายในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2560

เนื้อหารายงาน 3 แผ่นหน้ากระดาษที่ถูกแจกจ่ายในที่ประชุม ครม.นัดดังกล่าว สรุปได้ดังนี้

1.นโยบายพลังงานของประเทศแบ่งออกเป็น 3 ด้านคือ นโยบายด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน การกำหนดนโยบายประเทศต้องเริ่มจากนโยบายจัดหาและจัดการด้านไฟฟ้าก่อน เนื่องจากไฟฟ้าของประเทศผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งนโยบายการจัดการก๊าซธรรมชาติต้องสอดคล้องกับการจัดหา และจัดการทางด้านไฟฟ้า

2.ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นโยบายการจัดหาและจัดการไฟฟ้าไม่ได้คำนึงถึงภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศโดยรวม เห็นได้จากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และชีวมวล การลงทุนที่สูญเปล่าของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ความพยายามนำเข้าไฟฟ้าราคาแพงจากโรงไฟฟ้าสตรึงมนัม หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเกาะกง การให้สิทธิ์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯนำเข้าแอลเอ็นจี (LNG) 1.5 ล้านตัน การอนุญาตให้ ปตท.สร้างคลัง LNG หรือทำสัญญานำเข้าแอลเอ็นจีระยะยาว (Long term Contract) โดยไม่มีการแข่งขัน

3.การลงทุนต่างๆของ กฟผ.ทั้งโรงไฟฟ้าและระบบสายส่ง ล้วนเป็นไปในลักษณะ Cost Plus ผลักภาระไปให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนลดลง

4.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ปัจจุบันไม่พยายามทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของ กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกำกับดูแลราคาก๊าซของ ปตท.ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน เนื่องจากคณะกรรมการมีผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ. กฟน. ปตท. และกระทรวงพลังงานเข้าไปนั่งกำกับอยู่ จึงต้องพยายามรักษาผลประโยชน์ให้องค์กรที่ตนเองเติบโตมามากกว่า

5.ปัจจุบันต้นทุนด้านพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้ามากกว่า 70% มาจากค่าก๊าซธรรมชาติจัดหาโดย ปตท.เพียงรายเดียว นโยบายเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติที่ออกมาโดยกระทรวงพลังงาน และ กกพ.ไม่ได้เป็นเสรีอย่างแท้จริง ผู้จัดหารายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันกับ ปตท.ได้

6.นโยบายการอนุญาตให้ กฟผ.นำเข้าก๊าซธรรมชาติ 1.5 ล้านตัน เป็นนโยบายที่ไม่สามารถอธิบายหลักการคิดได้ อ้างเพียงต้องการให้ กฟผ.เป็นต้นแบบในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพื่อแข่งขันกับ ปตท. แต่ในความเป็นจริงแล้วธรรมชาติของ กฟผ.ไม่เคยต้องแข่งขันกับใคร และ กฟผ.เองก็ไม่ค่อยชำนาญเรื่องดังกล่าว
ส่วนนโยบายให้ กฟผ.นำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของตนเองได้ สามารถส่งผ่านภาระต้นทุนค่าแอลเอ็นจีไปเป็นค่าไฟฟ้าของประชาชน และภาคอุตสาหกรรมได้โดยตรง ไม่ใช่การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันของผู้จัดหา

7.ปัจจุบันผู้บริหาร กฟผ.ต้องดำเนินการตามนโยบาย และคำสั่งของกระทรวงพลังงานอย่างเดียว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม จึงมีผู้บริหาร กฟผ.หลายคนตัดสินใจลาออกก่อน

แนวทางดำเนินงาน

1.ควรหยุดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เพื่อทบทวนนโยบายและต้นทุน

2.ควรยกเลิกการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าไปรองรับโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพาที่ใช้งบลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาทไปก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนในการดำเนินงาน

3.ควรให้ กฟผ.จัดทำรายงานสรุปค่าใช้จ่ายที่ใช้ดำเนินโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา เพื่อตรวจสอบดูว่ามีการผลักภาระต้นทุนที่ผิดพลาดให้เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าหรือไม่

4.ควรแยก กฟผ.ในส่วนการผลิตและระบบสายส่งไฟฟ้าออกจากกัน โดย กฟผ.ควรปรับมุ่งดูแลสายส่งของประเทศให้มีเสถียรภาพและมั่นคงมากกว่ามุ่งเน้นผลิตไฟฟ้าแข่งกับภาคเอกชน

5.ควรระงับการดำเนินโครงการชีวมวลและแสงอาทิตย์ของ กฟผ.ทั้งหมด เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน แย่งซื้อเชื้อเพลิงกับเอกชนที่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว

6.ควรศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ว่าสูงกว่าของภาคเอกชนหรือไม่

7.ควรตรวจสอบค่าผ่านท่อของ ปตท.ที่เก็บจากผู้ใช้ในส่วนต่างๆ

8.ควรเปิดเสรีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะให้ผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าและอุตสาหกรรมสามารถนำเข้าก๊าซเองได้ และเลือกซื้อก๊าซจากผู้ผลิตรายอื่นได้

9.ควรชะลอการอนุมัติให้ ปตท.นำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) โดยการทำสัญญาซื้อขายแบบ Long Term

10.ปรับปรุงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ปราศจากองค์ประกอบที่เป็นอดีตผู้บริหารหน่วยงานภายใต้การกำกับ กกพ. เพื่อให้คณะกรรมการสามารถทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการพลังงานทั้งหมดได้อย่างจริงจังมากกว่าการเกื้อหนุนรักษาประโยชน์ขององค์กรที่ตนเคยอยู่.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ