บีโอไอตีปี๊บลงทุนช่วงขาขึ้น ตั้งเป้าปี 61 ยื่นขอส่งเสริมลงทุน 7.2 แสนล้าน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บีโอไอตีปี๊บลงทุนช่วงขาขึ้น ตั้งเป้าปี 61 ยื่นขอส่งเสริมลงทุน 7.2 แสนล้าน

Date Time: 13 ม.ค. 2561 05:45 น.

Summary

  • “สมคิด” ชูธงนโยบายบีโอไอปี 61 เน้นส่งเสริมการลงทุนต่อยอดให้ภาคเกษตร ท่องเที่ยว และพัฒนาคน พร้อมจัดงานยักษ์ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกภาค 2 Thailand Taking off วันที่ 19 มี.ค.นี้

Latest

คาราบาวแดง ตั้งเป้าเพิ่มแชร์ 3% ทะยานสู่แชมป์ตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ผนึกไทยรัฐ กรุ๊ป ปีที่ 4 ลุยแคมเปญใหญ่

“สมคิด” ชูธงนโยบายบีโอไอปี 61 เน้นส่งเสริมการลงทุนต่อยอดให้ภาคเกษตร ท่องเที่ยว และพัฒนาคน พร้อมจัดงานยักษ์ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกภาค 2 Thailand Taking off วันที่ 19 มี.ค.นี้ ด้านเลขาบีโอไอเผยตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 60 เกินเป้า 4 หมื่นล้านบาท ส่วนปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 7.2 แสนล้านบาท คาดนักลงทุนสหรัฐฯ-ยุโรปหอบเงินมาลงทุนไทยก้อนโต รับอานิสงส์ปลดล็อกความสัมพันธ์

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานแก่คณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า ในปี 2561 นี้ต้องการให้ทางบีโอไอเน้นหนักกับการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ การแปรรูป และการทำอาหารแห่งอนาคต รวมไปถึงเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี และอีกด้านที่ต้องการให้เน้นการส่งเสริมการลงทุนมากขึ้นคือ การลงทุนด้านบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบครบวงจร รวมถึงการลงทุนด้านการพัฒนาบุคลากรที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เช่น ด้านดิจิทัล เป็นต้น

ขณะเดียวกันในปีนี้ประเทศไทยจะจัดงาน Thailand Taking off ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ หลังจากปีที่ผ่านมาจัดงาน Opportunity Thailand ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงปฏิรูปจึงต้องการให้นักลงทุนมาร่วมสร้างอนาคตร่วมกัน ปีนี้จึงจัดงานต่อยอดจากเดิมโดยมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะเริ่มเติบโตแล้วและประเทศไทยจะไปได้ดี จึงต้องการดึงนักลงทุนเข้ามาและให้นักลงทุนเข้าใจสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยทางบีโอไอต้องป้อนข้อมูลให้กับนักลงทุนได้รับทราบและเห็นภาพว่าประเทศไทยจะลุยแล้ว ขณะเดียวกันนักลงทุนที่จะเข้ามาจะต้องอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยจากทั่วโลก นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือน ก.พ.2561 จะเดินทางไปเมืองฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองที่มีความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม และมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีศักยภาพจึงต้องการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างท้องถิ่นกับท้องถิ่น หรือ Local to Local

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า บีโอไอได้รายงานภาวะการลงทุนในปีที่ผ่านมาให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยในปี 2560 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 641,978 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 600,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 22% จากปีที่ผ่านมา โดยมีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 1,456 โครงการ เป็นการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 388 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 296,889 ล้านบาท คิดเป็น 46% ของยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

สำหรับสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในปี 2560 พบว่า อันดับ 1 คือ โครงการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น มูลค่า 133,002 ล้านบาท คิดเป็น 47% ของเอฟดีไอทั้งหมด อันดับ 2 คือ สิงคโปร์ มูลค่า 40,366 ล้านบาท อันดับ 3 คือ จีน 27,514 ล้านบาท อันดับ 4 สหรัฐอเมริกา 20,022 ล้านบาท และอันดับ 5 เนเธอร์แลนด์ 15,842 ล้านบาท

“เป้าหมายคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนของปี 2561 นี้ ทางบีโอไอตั้งไว้ที่ 720,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 12% โดยคาดว่าจะเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งตามปกติที่ผ่านมาจะตั้งเป้าหมายการเติบโตของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนไว้ที่ประมาณ 5-10% แต่ปีนี้ตั้งไว้ที่ 12% เพราะเห็นแนวโน้มว่าจะมีโครงการเข้ามาลงทุนอีกจำนวนมาก โดยปีนี้บีโอไอยังคงมีแผนเดินสายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศ หรือโรดโชว์ เพื่อเผยแพร่นโยบายและรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอและรัฐบาล ประกอบด้วย คณะชักจูงการลงทุนที่นำโดยนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง และชักจูงการลงทุน โดยผู้บริหารบีโอไอ รวม 30 ครั้ง รวมทั้งจะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี อีกไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง”

ขณะที่นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดงาน Thailand Taking off ของไทยในปีนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการลงทุน หลังจากที่ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ในการลงทุน พร้อมทั้งออกมาตรการอำนวยความสะดวกและสิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนไปแล้ว และที่สำคัญคือการปลดล็อกความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาและยุโรปในปีที่ผ่านมา จะทำให้มีนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปมาลงทุนในไทยมากขึ้นด้วย นอกจากนักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ต่างมีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของประเทศไทย เช่น อุตสาหกรรมอากาศยาน เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ