ทีวีดิจิทัลขอหยุดจ่ายเงิน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทีวีดิจิทัลขอหยุดจ่ายเงิน

Date Time: 18 ต.ค. 2560 08:35 น.

Summary

  • ทีวีดิจิทัลดิ้นอีกเฮือก ผนึกกำลังขอยุติ จ่ายค่าประมูล หลังจ่ายรวมกันไปแล้ว 30,865 ล้านบาท ยังเหลืออีกราว 20,000 ล้านบาท พร้อมประเคนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ให้เปิดประมูลสำหรับกิจการโทรคมนาคม

Latest

“หมูเด้ง” ซุปตาร์ฮิปโปแคระ เกิดมา 4 เดือน งานพรีเซนเตอร์เข้าฉ่ำ คาดสร้างรายได้กว่าร้อยล้าน

สิริรวมจ่ายไปแล้ว 30,865 ล้านบาท

ทีวีดิจิทัลดิ้นอีกเฮือก ผนึกกำลังขอยุติ จ่ายค่าประมูล หลังจ่ายรวมกันไปแล้ว 30,865 ล้านบาท ยังเหลืออีกราว 20,000 ล้านบาท พร้อมประเคนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ให้เปิดประมูลสำหรับกิจการโทรคมนาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิทัลไทย และตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เกี่ยวกับแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งหลังล่วงเลยเข้าสู่การประกอบกิจการในปีที่ 5 หลายช่องก็ยังประสบปัญหาขาดทุน จึงได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ด้วยการขอไม่จ่ายเงินประมูลงวดที่เหลือ อีกราว 20,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้ชำระไปแล้ว 30,865 ล้านบาท จากวงเงินประมูลทั้งหมด 50,865 ล้านบาท ในวงหารือยังมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกชดเชยค่าเสียหายที่ภาครัฐจะต้องสูญเสียจำนวน 20,000 ล้านบาท โดยเสนอให้นำคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นสำหรับกิจการโทรทัศน์ มาเปิดประมูล เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมแทน ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

ขณะที่นายวิษณุได้แจ้งกับผู้ประกอบการในที่ประชุมว่า กรณีนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนก่อน เพราะคลื่นความถี่ถือเป็นสมบัติของประชาชนทุกคน เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ประกอบการ จะไม่ยอมจ่ายเงินงวดที่เหลือด้วย

นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ดิจิทัล กล่าวภายหลัง เข้ายื่นหนังสือให้นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูป แห่งชาติ (สปช.) เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรทัศน์และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่ออนาคตประเทศไทย 4.0 เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ว่า หลังจากที่ กสทช. ได้จัดประมูลช่องทีวีดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2555 ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคและสภาพอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิทัลไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงต้องการยื่นข้อเสนอเพื่อให้ภาครัฐได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้สำหรับทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน นำกลับไปจัดสรรใหม่สำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยให้ทำให้เร็วขึ้นกว่าแผนที่ กสทช.วางกรอบไว้ ว่าจะดำเนินการประมูลในปี 2563 ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจประเทศได้มหาศาล รวมถึงไม่ต้องเพิ่มช่องทีวีดิจิทัลให้ครบ 48 ช่อง ตามแผนเดิมของ กสทช. เพราะเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ 26 ช่องก็อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ตบเท้าเข้ายื่นข้อเสนอ ดังกล่าวมี 13 ช่องรายการ ได้แก่ 1.บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง Thairath TV) 2.บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด (ช่อง PPTV HD) 3.บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด (ช่อง One) 4.บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM 25) 5.บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (ช่อง Nation TV) 6.บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด (ช่อง NOW) 7.บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด (ช่อง Bright TV) 8.บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง Spring News) 9.บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง new tv) 10.บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด (ช่อง Voice TV) 11.บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (ช่อง TNN) 12. บริษัททรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (ช่อง True4U) และ 13.บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง Amarin TV HD)


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ