เผยผลสำรวจพฤติกรรมใช้อินเตอร์เน็ตปี 59 กลุ่มคน “เจน วาย” เป็นสังคมก้มหน้านานถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน “ยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์” ยอดฮิต ขณะที่มูลค่าอี-คอมเมิร์ซโตกระฉูด 2.56 ล้านล้านบาท คาดปี 2560 พุ่งทะลุ 2.81 ล้านล้านบาท นำไทยก้าวขึ้นเป็นเจ้าอี-คอมเมิร์ซอาเซียนแล้ว
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่า สพธอ. กล่าวว่า เอ็ตด้าได้สำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตและมูลค่าอี-คอมเมิร์ซ จากประชาชนรวม 25,101 คน ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.2560 โดยพบว่า เมื่อปี 2559 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตราว 29.83 ล้านคน โดย สพธอ.ได้แบ่งกลุ่มดังนี้ คนที่เกิดในปี 2524-2543 หรือ Gen Y เป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตต่อวันสูงสุด โดยในช่วงวันทำงานหรือวันเรียนหนังสือใช้เฉลี่ยที่ 7.12 ชั่วโมงต่อวัน และมากถึง 7.36 ชั่วโมงต่อวันในช่วงวันหยุด
ขณะที่กลุ่มคนที่เกิดในปี 2508-2523 หรือ Gen X และกลุ่มคนที่เกิดในปี 2524-2543 หรือ Gen Y ใช้อินเตอร์เน็ตในวันทำงานและวันเรียนหนังสือ โดยเฉลี่ยเท่ากันที่ 5.48 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในวันหยุดกลุ่มคนที่เกิดในปี 2544 เป็นต้นไป หรือ Gen Z กลับใช้เพิ่มขึ้นเป็น 7.12 ชั่วโมงต่อวัน สวนทางกับกลุ่ม Gen X ที่ใช้ลดลงที่ 5.18 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่กลุ่มคนที่เกิดปี 2489-2507 หรือกลุ่มเบบี้บูม ใช้ 4.54 ชั่วโมงต่อวัน ในวันทำงาน และ 4.12 ชั่วโมงต่อวันในวันหยุด
สำหรับโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด ได้แก่ ยูทูบ, เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, พันทิป, ทวิตเตอร์, วอตแอพ ตามลำดับ ส่วนสถานที่ที่นิยมใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุดยังคงเป็นที่บ้าน คิดเป็น 85.6% รองลงมาคือที่ทำงาน 52.4% ตามมาด้วยการใช้ระหว่างเดินทาง 24% เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปีก่อน ขณะที่การใช้อินเตอร์เน็ตที่สถานศึกษาลดลงจาก 19.7% เป็น 17.5% ขณะที่กิจกรรมที่นิยมทำเมื่อใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดีย การค้นหาข้อมูล การรับส่งอีเมล การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ และการซื้อสินค้าออนไลน์
ส่วนสินค้าและบริการที่คนไทยนิยมซื้อออนไลน์มากที่สุด ประกอบด้วย สินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย, สินค้าด้านสุขภาพและความงาม, อุปกรณ์ไอที, เครื่องใช้ภายในบ้าน, บริการสั่งอาหารออนไลน์, บริการเกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นต้น และใช้วิธีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต การโอนเงินผ่านแอพพลิเคชั่นของธนาคาร และเชื่อว่าในปีหน้าจะใช้การชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ดมากยิ่งขึ้น โอนผ่านตู้เอทีเอ็ม เป็นต้น
นางสุรางคณากล่าวต่อว่า สำหรับผลสำรวจมูลค่าอี-คอมเมิร์ซในไทยปี 2559 จากผู้ประกอบการ 592,996 ราย พบว่า มีมูลค่าอี-คอมเมิร์ซทั้งสิ้น 2.56 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประเภทธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ราว 1.54 ล้านล้านบาท ประเภทธุรกิจต่อผู้บริโภค (B2C) 703,331 ล้านบาท และประเภทธุรกิจต่อรัฐ (B2G) ราว 314,603.95 ล้านบาท ส่วนปี 2560 คาดการณ์ว่า มูลค่าอี-คอมเมิร์ซในไทย จะมีมูลค่าร่วม 2.81 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.86% จากปี 2559 โดยเป็นประเภทธุรกิจ B2B อยู่ที่ 1.67 ล้านล้านบาท ประเภทธุรกิจ B2C อยู่ที่จำนวน 812,612.68 ล้านบาท และประเภทธุรกิจ B2G จำนวน 324,797.12 ล้านบาท
“จากผลสำรวจดังกล่าวพบว่า พฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์มาอยู่อันดับ 1 ใน 5 ของกิจกรรมยอดฮิตเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเพราะการค้าขายออนไลน์ ได้รับความนิยม และความไว้วางใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของเศรษฐกิจยุคดิจิทัลมากยิ่งขึ้น หากเปรียบเทียบมูลค่าอี-คอมเมิร์ซของไทยกับอาเซียนแล้วพบว่า ไทยครองแชมป์อันดับหนึ่ง รองลงมา มาเลเซีย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ ตามลำดับ”.