ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย.ปรับร่วงมาอยู่ที่ 84.7 กังวลกำลังซื้อในประเทศ การบังคับใช้ ก.ม.แรงงานต่างด้าว รวมถึงสภาวะ ศก.โลก ราคาน้ำมัน ผู้ประกอบการชงรัฐ หนุนเอสเอ็มอี ขยายตลาดต่างประเทศ ให้แบงก์ลดดอกเบี้ย...
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 84.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 85.5 ในเดือน พ.ค. เกิดจากองค์ประกอบทั้งยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศจากการระมัดระวังการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้การดำเนินกิจกรรมของภาคธุรกิจชะลอตัวลง
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ทำให้เกรงว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
สำหรับปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการในเดือน มิ.ย. 60 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์การเมืองในประเทศ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ อยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือน มิ.ย. ได้เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศ CLMV และให้ความรู้ผู้ประกอบการในการเข้าถึงช่องทางการตลาดในต่างประเทศ พร้อมเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงแก้ไขปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) สนับสนุนให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าของผู้ประกอบการ SMEs มากขึ้น และยังเสนอให้ภาครัฐออกกฎหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและสามารถปฏิบัติได้
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 100.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 99.6 ในเดือน พ.ค. สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีมุมมองต่อการดำเนินกิจการใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ดีขึ้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวดีขึ้นจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งภาคการส่งออกของไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ.