New Era เวทีมวยราชดำเนิน ผู้บริหาร GEN 3 ผนึก GSV ปั้น World Class Destination

Business & Marketing

Executive Interviews

Tag

New Era เวทีมวยราชดำเนิน ผู้บริหาร GEN 3 ผนึก GSV ปั้น World Class Destination

Date Time: 14 เม.ย. 2567 12:14 น.

Video

3 มาตรการใหม่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ คุมหุ้นร้อนผิดปกติ | Money Issue

Summary

  • เวทีมวยราชดำเนิน สถานที่แห่งแรกของประวัติศาสตร์มวยไทย กฎกติกามวยไทย ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึงการบริหารของผู้บริหารรุ่นที่ 3 และการเข้ามาของ บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) เมื่อปี 2565 ด้วยมุ่งหวังสร้างเวทีมวยราชดำเนินเป็นบ้านของมวยไทย และเป็น World Class Sport Stadium

หลังมหาภัยโรคระบาดโควิด-19 ที่อยู่กับโลกนี้ยาวนานเกือบ 3 ปี และทำให้หลายธุรกิจล้มฟุบซบเซา รวมถึงธุรกิจเวทีมวย แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายก็ถึงเวลาที่กลับมาผงาดได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับธุรกิจสนามมวยเวทีราชดำเนิน 


#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ 2 ผู้บริหารรุ่นใหม่ ผู้กุมชะตาเวทีมวยราชดำเนินในยุคใหม่ ถึงสถานการณ์ sport entertainment และความมุ่งหวังของผู้บริหารวัยหนุ่มที่เข้ามาสานต่อเวทีมวยที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเกือบ 80 ปี 


‘จิต เชี่ยวสกุล’ นายสนามมวยเวทีราชดำเนิน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด และ ‘แบงค์ -เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) และ ประธานรายการ Rajadamnern World Series (RWS) บอกเล่าความมุ่งหวังและการพาเวทีมวยราชดำเนิน ไปอยู่ในลิสต์ ‘World Class Destination’ ให้ชื่อเวทีมวยราชดำเนินและมวยไทย ขยายขอบเขตการรับรู้ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับทั้งระบบนิเวศแวดวง “มวย”  


ในฐานะ จิต เป็นนายสนามมวยเวทีราชดำเนินที่ได้รับมอบหมายหน้าที่เป็นเจเนอเรชันที่ 3 ของครอบครัวเชี่ยวสกุล ส่วน แบงค์-เธียรชัย แม้เขาจะเข้ามาบริหารในนาม GSV แต่เขาไม่ใช่คนอื่นไกลสำหรับวงการมวย เพราะคุณพ่อของแบงก์เป็นเจ้าของค่ายมวยนครหลวงโปรโมชั่น และเป็นคนในวงการมวยมายาวนาน


ขณะที่ GSV เป็นธุรกิจในเครือบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ PLANB ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน และผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจกีฬา 

‘แบงค์ -เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) และ ประธานรายการ Rajadamnern World Series (RWS) และ ‘จิต เชี่ยวสกุล’ นายสนามมวยเวทีราชดำเนิน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด
‘แบงค์ -เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) และ ประธานรายการ Rajadamnern World Series (RWS) และ ‘จิต เชี่ยวสกุล’ นายสนามมวยเวทีราชดำเนิน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด


ผงาดขึ้นจากจุดที่เลวร้ายที่สุดได้ 

เธียรชัย เล่าว่า ช่วงที่เรียกว่าเลวร้ายที่สุดของวงการมวยไทยคือ วิกฤตการณ์โควิด-19 (ช่วงปี 2562-2565) นับเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของทุกคนในวงการมวย สนามมวยต้องปิดตัว หรือบางแห่งก็เปิดๆ ปิดๆ อยู่นาน 2-3 ปี โปรโมเตอร์จัดการแข่งขันไม่ได้ นักมวยไม่มีงานไม่มีรายได้ หลายคนต้องเลิกต่อยมวยในช่วงนั้น เรียกช่วงเวลานั้นว่า “Rock Bottom” คือลงไปต่ำสุดแล้ว ยากลำบากที่สุดในประวัติศาสตร์วงการมวย


แม้ก่อนหน้านั้น วงการมวยไทยดูหยุดยิ่ง และพยายามหาคนรุ่นใหม่เข้ามาดูยากขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่มาทำร้ายได้รุนแรงเท่าตอนโควิด-19 


“ตอนนั้นหลายๆ ท่านในวงการมวยนอกวงการมวยบอกว่า มวยไทยจบแล้ว ถ้าเราไปดูพาดหัวข่าวหรือว่าเวลาคนสัมภาษณ์กันในช่วงโควิด พูดกันหลายเสียงมากๆ ว่านี่คือมวยไทยจบแล้วใช่ไหม แต่ว่าช่วงนั้นก็เป็นถ้ามองย้อนกลับไปก็เป็นช่วงเวลาที่เรามีโอกาสได้เข้ามาคุยกันจริงจัง โดย GSV เข้ามาคุยกับเวทีราชดำเนินช่วงปี 2565 เป็นช่วงหลังโควิด

แม้จะมีคนบอกว่ามวยไทยจบแล้ว แต่เราไม่เชื่อ เรามานั่งคุยกัน พวกเราทุกคนและก็ผู้ใหญ่ทุกท่านมีความเชื่อมั่นว่ามวยไทยเป็นได้มากกว่านี้ เราเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่ามวยไทยเป็นกีฬาระดับโลกได้ ถ้าเราบิดบางอย่างให้ถูกต้อง เราจะสามารถดึงคนกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งเมืองไทยและต่างประเทศมาเป็นแฟนมวยไทยได้” 


นั่นคือจุดเริ่มต้นที่เธียรชัย เรียกว่า “Re-imagine” มาสร้างความฝันใหม่กับวงการมวยไทยร่วมกัน พร้อมกับ 2 เป้าหมายหลัก คือ หนึ่ง การต่อยอดเวทีมวยราชดำเนินให้เป็น World Class Sport Stadium และสอง สร้างเวทีมวยราชดำเนินให้เป็นบ้านของมวยไทย เป็นความโมเดิร์นที่สอดรับกับความคลาสสิกและประวัติศาสตร์อันยาวนานของเวทีมวยราชดำเนิน 


“เวทีมวยราชดำเนินอยู่คู่กับประเทศไทยมายาวนาน มวยไทยอาชีพต่อยที่นี่ หนังสือกฎกติกามวยไทยเล่มแรกเขียนขึ้นที่นี่ เข็มขัดมวยไทยในประวัติศาสตร์โลกที่เกิดขึ้นครั้งแรกก็คือ เข็มขัดแชมป์เวทีราชดำเนิน เวทีแห่งนี้จึงเป็นบ้านของมวยไทยจริงๆ และเป็นเวทีที่มีทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ของมวยไทยอย่างเต็มที่” เธียรชัย กล่าว

‘แบงค์ -เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) และ ประธานรายการ Rajadamnern World Series (RWS) และ ‘จิต เชี่ยวสกุล’ นายสนามมวยเวทีราชดำเนิน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด
‘แบงค์ -เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV) และ ประธานรายการ Rajadamnern World Series (RWS) และ ‘จิต เชี่ยวสกุล’ นายสนามมวยเวทีราชดำเนิน และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวทีมวยราชดำเนิน จำกัด


บทบาทนายสนามมวย ผู้รักษากติกาและส่งมอบคนรุ่นใหม่


ฝั่งของจิต ในฐานะนายสนามมวยเวทีราชดำเนินรุ่นที่ 3 บอกว่าหน้าที่หลักของเขาในปัจจุบันคือ การดูแลเรื่องกฎกติกา และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้านนอกอาคารนี้ เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวบนเกาะรัตนโกสินทร์ ให้คนที่เข้ามาตรงนี้ได้ดูทั้งมวยไทย กินอาหารไทย ได้นวดไทย สักยันต์ไทย ดื่มไทย ตัดผมไทย คือทำให้ครบวงจรของการท่องเที่ยว


“ทาง GSV ช่วยดูแลเรื่องมวย ทำให้เวทีมวยราชดำเนินก้าวหน้าไปสู่คนรุ่นใหม่ๆ ให้ได้ เพราะผมยอมรับว่า ผมพยายามมาหลายปีให้คนรุ่นใหม่เข้ามาที่นี่ แต่เราก็ยังทำได้ไม่ดีนัก ดังนั้นการเข้ามาของ GSV และมี Plan B เป็นผู้สนับสนุนที่ดีจึงมีความพร้อมตรงนี้ ส่วนผมก็เหมือนยกพวงมาลัยให้เขา ให้ช่วยขับเคลื่อนวงการมวย การจัดกีฬา การเผยแพร่ไปต่างประเทศให้เขาเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ ส่วนผมก็ดูแลเรื่องกฎกติกา กฎหมาย ใบอนุญาตต่างๆ พัฒนาภาพรวม” จิต กล่าว 


พร้อมกับให้ข้อมูลน่าสนใจว่า ปัจจุบันคนดูมวยไทยในประเทศไทยน่าจะมีตัวเลขราวๆ 5 ล้านคน แต่สำหรับชาวต่างประเทศก็เป็นอีกกลุ่มที่ขยายไป


New Era มวยไทย 


เธียรชัย กล่าวเสริมว่า นับตั้งแต่ปี 2565 ที่ GSV เข้ามาก็สามารถเรียกว่าเป็น “New Era” ยุคสมัยใหม่ของมวยไทย กระทั่งถึงปัจจุบัน กระแสมวยไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศดีมาก แล้วคนส่วนใหญ่อาจจะลืมไปแล้วว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้ว มวยไทยประสบกับภาวะวิกฤติอย่างไร


“เมื่อเดือน ก.พ. 2565 เดือนแรกที่ GSV เข้ามา จำได้เลยว่า เราจัดชกมวยได้แค่ 1 วันต่อสัปดาห์ และในเดือนแรกมีชาวต่างชาติมาดูแค่ 20 คนต่อวัน ซึ่งก็ดีใจแล้ว แต่หลังการปรับปรุงสถานที่ ทำมาร์เก็ตติ้งรูปแบบใหม่ การจัดรายการมวยรูปแบบใหม่ คือจัดรายการเรือธง RWS (Rajadamnern World Series) เพื่อให้ชาวต่างชาติเข้าใจเข้าถึงมวยไทยได้มากขึ้น และเอานักมวยเก่งสุดดีสุดมาชกกัน ณ วันนี้ RWS ถ่ายทอดไป 200 ประเทศทั่วโลก บนแพลตฟอร์มหลักๆ ระดับโลก โดยเฉพาะผ่านดาโซน (DAZN) 


“จากปี 2565 ถึงปี 2566 นับกลางปีต่อกลางปี ผู้ชมเราเติบโตขึ้นมา 1,600% หรือเติบโต 16 เท่า และตั้งแต่ไฮซีซั่นถึงตอนนี้เราว่าโตกว่า 2,000% และมีผู้ชมชาวต่างชาติที่เข้ามาดูศิลปะมวยไทยที่เวทีมวยราชดำเนินแล้วกว่า 190 ประเทศทั่วโลก เราก็ภูมิใจที่เวทีมวยราชดำเนินสร้างมวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย และเราไม่มีความอายเลยที่จะบอกว่า มวยไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย” เธียรชัย กล่าว    


พร้อมเปิดเผยว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งการรีโนเวต รีแบรนดิ้ง และจัดรายการใช้เงินลงทุนไปแล้วระดับ 100 ล้านบาท และยังมีแผนลงทุนอีกรอบในเฟสใหญ่ๆ ทั้งเรื่องสนามมวย การจัดรายการมวย รวมถึงเสริมสร้างระบบนิเวศวงการมวยที่จะใช้เงินทุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อให้เวทีมวยราชดำเนินเป็นคอมเพล็กซ์ เป็นสถานที่สำหรับการท่องเที่ยวเรื่องมวยไทย ให้คนมาดูมวยไทย ศึกษามวยไทยให้มากขึ้นด้วย

ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money