ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เศรษฐกิจไทย” ตอนนี้ กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ติดกับดักโตต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้าง และวังวงเกมการเมืองที่พร้อมบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน ในปี 2567 เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ปรับลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด ทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี แต่หลังได้รัฐบาลชุดใหม่ตลาดก็มีความหวังมากขึ้นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนพลิกหุ้นไทยกลับมาฟื้นได้ที่ระดับ 1,400 จุด
แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่า ประเทศไทยพ้นวิกฤติแล้ว ภายใต้การนำของรัฐบาลแพทองธาร อะไร คือโจทย์เศรษฐกิจระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวที่ต้องตีให้แตก เพื่อให้ประเทศไทยได้ไปต่อ Thairath Money ชวนร่วมหาคำตอบไปกับ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP)
ก่อนจะไปผ่าโจทย์เศรษฐกิจ 3 ระยะ ดร.พิพัฒน์ ได้รีแคปสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยที่หนุนให้ GDP เติบโตได้ที่ระดับ 2% หลัก ๆ มาจากภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งกลายเป็น “เดอะแบก” หนึ่งเดียว ท่ามกลางภาคการผลิตติดลบ และภาคเกษตรที่อ่อนแรงลง โดยสามารถจำแนกความท้าทายทางเศรษฐกิจได้เป็น 3 ระยะ
เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าหลังโควิด โจทย์ใหญ่คือ ไทยจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรให้คุ้มค่า ท่ามกลางทรัพยากรทางการคลังที่จำกัด
“เราควรกระตุ้นเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เงินเรามีจำกัด ควรจะใช้อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด สเกลที่เหมาะสมคือเท่าไร”
ดังนั้นโครงการดิจิทัลเราก้าวข้ามเรื่องความจำเป็นหรือไม่จำเป็นไปแล้ว วันนี้ที่ถกเถียงกันจึงเป็นเรื่องของสเกล การแจกเงินที่เพิ่มขนาดโครงการมาเป็นแสนล้านบาทในคราวเดียว เพื่อให้ประชาชนใช้จ่ายคนละ 10,000 บาท เมื่อเทียบกับโครงการคนละครึ่งช่วงโควิดที่ใช้จ่ายคนละ 3,000-5,000 บาท คำถามที่เกิดขึ้นคือคุ้มค่าหรือไม่กับเงินที่มีจำกัด เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร ผลของตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) ทำให้สัดส่วน GDP เพิ่มขึ้นเท่าไร
แน่นอนว่าผลกระทบที่ตามมาคือ ต้นทุนทางตรง ซึ่งเป็นภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นทันที หากอีก 2 ปี หนี้สาธารณะพุ่งแตะเพดานที่ 70% เมื่อถึงตอนนั้นต้องตอบให้ได้ว่าจะเอาเงินจากไหนใช้ต่อ รวมถึงพิจารณาค่าเสียโอกาส ซึ่งเป็นต้นทุนทางอ้อม จะเห็นได้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุ่มทรัพยากรเพื่อเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต จนมองข้ามโจทย์ระยะกลาง ระยะยาว ในทางกลับกัน เราสามารถเอางบประมาณ 500,000 ล้านบาท มาลงทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนได้หลายรูปแบบ ทั้งแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ป้องกันน้ำท่วม เพื่อรองรับผลกระทบจาก Climate change ในอนาคต
เมื่อปัญหาเชิงโครงสร้างเริ่มแผลงฤทธิ์ ไทยจะต้องเผชิญกับ 2 โจทย์ใหญ่
1. ขีดความสามารถในการแข่งขันถดถอยลง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจีน โดย 3 อุตสาหกรรมหลักซึ่งไทยเคยเป็นเจ้าตลาดโลกอย่าง รถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี กำลังโดนดิสรัปเพราะผลิตแข่งขันเรื่องต้นทุนไม่ได้ และไม่มีการเพิ่มมูลค่าสินค้า จึงเป็นที่ต้องการในตลาดโลกน้อยลงเรื่อย ๆ
“อุตสาหกรรมหรือบุญเก่าของเรากำลังเจอปัญหา ในขณะที่บุญใหม่มาไม่ทัน เราควรดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้างบุญใหม่อย่างไร”
ภาพใหญ่ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหา มาจากความขัดแย้งระหว่าง สหรัฐ-จีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระตุ้นให้จีนหันมาเพิ่มกำลังการผลิตในประเทศ ลดการนำเข้า เพื่อพึ่งพาตัวเอง แต่กำลังซื้อในประเทศซบเซา ทำให้จีนต้องระบายสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศ จนนำมาซึ่งการทุ่มตลาดในหลายอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วร่วมมือกันขึ้นกำแพงภาษี สกัดสินค้าราคาถูกปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ ด้านอาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายระบายสินค้า ก็เริ่มขึ้นภาษีนำเข้าแล้วเช่นกัน
2. Financial Deleveraging คือ ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี กดดันหนี้ครัวเรือน จนกระทบการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองแม้เศรษฐกิจดีแค่ไหน หากธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อก็จะมีปัญหา ลามกระทบยอดขายรถ ยอดขายบ้าน จนไปถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ ไทยต้องหาวิธีตัดวงจรดังกล่าวได้อย่างไร
สำหรับโจทย์ระยะยาว มีกระแสโลก 3 เรื่องที่ไทยต้องเตรียมรับมือ
1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
เข้าสู่สังคมสูงวัยทั่วโลก รวมถึงไทยที่ตลาดบริโภคจะเล็กลง เนื่องจากมีประชากรวัยทำงานลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจโตช้า ต้องเริ่มคิดว่าจะทำอย่างไร
2. ความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์
การค้าโลกยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่ส่อแววรุนแรงและยืดเยื้อ
3. Climate change ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการทำธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ผลผลิตที่เป็นสินค้าส่งออก อาจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
“เศรษฐกิจโตต่ำ” กว่าระดับศักยภาพ เป็นเรื่องที่ทุกคนทราบดีว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการสนับสนุนให้ภาคใดภาคหนึ่งเป็นเดอะแบกได้ ทางออกเดียวที่มีและต้องทำให้ได้ คือการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน(Productivity) โดยต้องตีโจทย์ให้แตกว่า เราจะสามารถยกระดับค่าจ้างที่แท้จริง ของคนไทยได้อย่างไร ท่ามกลางประชากรวัยทำงานที่ลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าตาม ดังนั้นการจะรักษาหรือเพิ่มระดับการเติบโตของเศรษฐกิจ หมายความว่าคนหนึ่งคนจะต้องสร้างรายได้สูงขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ภาคเกษตรที่ผลผลิตข้าวต่อไร่ลดลง ถ้ามีจำนวนแรงงานเท่าเดิมจะต้องมีการปรับปรุงระบบชลประทาน นำเครื่องจักรเข้ามาช่วยเก็บเกี่ยวเพิ่มเติมหรือไม่ หรือแม้แต่การส่งออกข้าว ทำไมเราไม่นำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าแบบญี่ปุ่น
วันนี้ที่ต่างชาติหันไปลงทุนในประเทศอาเซียนแทนที่จะมาไทย เราต้องหันกลับมาดูนโยบายของรัฐบาลว่ามีเป้าหมายดึงดูดการลงทุนที่ชัดเจนหรือไม่ มีแนวทางผลักดันภาคส่วนต่าง ๆ ให้ไปถึงจุดหมายได้อย่างไร ตอนนี้
สิ่งที่เราขาดคือความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ต้นทุนค่าแรงที่แพง แต่เรามีจำนวนแรงงานที่มีทักษะเพียงพอรองรับอุตสาหกรรมในตลาดหรือไม่ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูป ปรับโครงสร้างกฎระเบียบ การบังคับใช้กฎหมาย ความเสี่ยงทางการเมือง และความต่อเนื่องเชิงนโยบาย
ดร.พิพัฒน์เน้นย้ำว่าการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อดึงดูดการลงทุน มีความสำคัญกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพราะหากปล่อยไว้ก็จะไม่สามารถแก้โจทย์เศรษฐกิจระยะกลาง-ยาวได้
“โจทย์ที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยคือ ตลาดในประเทศโตช้าลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันมากขึ้น ไม่ใช่แค่แข่งขันกันเอง แต่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้า” ดร.พิพัฒน์กล่าว
ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ คือประเมินสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่เคยประสบความสำเร็จเมื่อ 20 ปีก่อน วันนี้ภาพอาจจะเปลี่ยนแล้ว เรื่องของความสามารถการแข่งขัน และต้นทุน เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าอยากแข่งขันได้ ต้องหาวิธีลดต้นทุน หรือถ้าแข่งเรื่องต้นทุนไม่ได้ ก็ต้องหาวิธีเพิ่มมูลค่า ยกระดับสินค้าและบริการเป็นพรีเมียม วันนี้ถ้าอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยต้องมองออกไปข้างนอก หาโอกาสขยายตลาดใหม่ ๆ
สิ่งที่ต้องทำต่อมา คือ หาแนวทางต่อยอดสินค้าหรือบริการจากจีนที่เข้ามาตีตลาด การทุ่มตลาดของสินค้าจีนราคาถูกนั้น เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทย แต่หากมองอีกด้านก็เป็นโอกาสให้เรานำสินค้าที่ต้นทุนถูกลง มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
“เรากำลังเจอการแข่งขันที่เราแข่งยาก เนื่องจากไม่สามารถสู้เรื่องต้นทุนและสเกลได้”
ติดตามข่าวสารด้านการตลาดและธุรกิจ กับ Thairath Money ที่จะทำให้ “การเงินดีชีวิตดี” ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney