คณิศร มีพงษ์ : 24X สตาร์ทอัพ Home Service ยกระดับ ‘อาชีพช่าง’ ช่วยคนไทยแก้ปัญหางานซ่อมบ้าน

Business & Marketing

Executive Interviews

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

คณิศร มีพงษ์ : 24X สตาร์ทอัพ Home Service ยกระดับ ‘อาชีพช่าง’ ช่วยคนไทยแก้ปัญหางานซ่อมบ้าน

Date Time: 31 ก.ค. 2566 17:46 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • 24X สตาร์ทอัพไทย ด้าน Home Service ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อ แก้ไข Pain Point ลูกค้าผู้ใช้บริการ พัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของช่างทั่วประเทศไทยที่มีอยู่หลายแสนคนมีรายได้ที่ดีขึ้น

เริ่มต้นทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี จากเจ้าของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่จับเงินก้อนโตหลักร้อยล้าน พันล้าน ก่อนลาออกจากบริษัทตัวเอง เพราะเห็น Pain Point ของอาชีพช่าง มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ เริ่มต้นจากรับเงินหลักร้อย ให้บริการ ซ่อมแซม ต่อเติมและก่อสร้างที่อยู่อาศัย เรากำลังพูดถึงเรื่องราวของ คณิศร มีพงษ์ ประธานกรรมการผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง 24X สตาร์ทอัพ Home Service ภายใต้ บริษัท ทเวนตี้โฟร์ โซลูชั่น กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด 

ผู้บริหารไฟแรงวัย 29 ปี เริ่มเล่าถึงการเริ่มต้นต่อสู้ในสนามที่โอกาสชนะมีเพียง 1% กับทีม Thairath Money พร้อมฉายภาพให้เห็นถึง Pain Point ทั้งในฝั่งของคนทำงานอย่างอาชีพช่าง และฝั่งของลูกค้าผู้ใช้บริการ ที่เขามีเป้าหมายว่าต้องการจะแก้ไข และเติมเต็มช่องว่าง ที่เป็นโอกาสมหาศาล 

เริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่แค่อยากทำธุรกิจ 

“ผมอยู่วงการรับเหมามาเป็น 10 ปี เห็นอะไรมามากมายที่คนไทยต้องพบเจอ เริ่มมาจาก pain point หลายๆ อย่างของลูกค้า ตั้งแต่การหาช่างไม่ได้ การหาช่างแล้ว ราคาไม่มาตรฐาน วัสดุอุปกรณ์ที่ได้มาไม่ได้คุณภาพ ไม่มีการรับประกันที่ชัดเจน ไม่สามารถเชื่อใจได้ว่าช่างคนนี้จะซ่อมเป็นหรือไม่ ดังนั้นระหว่างช่าง และความต้องการของลูกค้า ยังมีช่องว่างอีกมากมายที่ไม่มีคนมาเติมเต็มได้ นี่คือ ฝั่ง Demand ผมอยากให้คนไทยมีของดีๆ ใช้กับเขาบ้างเท่านั้นเอง

ส่วนสิ่งที่ผมอยากแก้ใน ฝั่ง Supply คือ ผมอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของช่าง ที่มีอยู่หลายแสนคนในประเทศไทย ทำให้เขามีรายได้ที่ดีขึ้น ทุกวันนี้แทบไม่มีใครอยากจะมาทำ ค่าแรงช่างจบใหม่วันละ 400 บาท ช่างอาคารเงินเดือนเดือนละ 15,000 แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ในเมื่อความเหลื่อมล้ำมันสูงมาก” คณิศร กล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจมาทำสตาร์ทอัพ

24X ธุรกิจ Home Service ครบวงจร 

เขาอธิบายถึง 24X ว่า เป็นบริษัท Maintenance Service ที่มีเทคโนโลยี enabler ในการเติบโต ง่ายๆ คือ ก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ต้องใช้คนและ Process เยอะมาก เพื่อให้มันถูกต้องตามวิธีการ หน้าที่ของเรา คือ เอาเทคโนโลยีมาจับตรงนี้ เพื่อให้สเกลงานได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ใช้คนเท่าเดิม ปัจจุบัน 24X ให้บริการซ่อม สร้าง ติดตั้ง ต่อเติม ครอบคลุม 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่

  • 24 FIX บริการซ่อมแซมบ้านแบบ End-to-end service 
  • 24 House Solution บริการต่อเติมและตกแต่งภายในแบบครบวงจร 
  • 24 FIX for Business บริการซ่อมแซมสำหรับลูกค้าธุรกิจ ดูแลด้วยระบบ 
  • 24 Projects บริการออกแบบและก่อสร้างสำหรับลูกค้าธุรกิจ 

“ช่วงแรกที่เริ่มทำธุรกิจ ความท้าทาย คือ ทำอย่างไรให้คนมาใช้บริการของเราให้ได้ ที่จะต้องบริหารไปพร้อมกับการหาช่าง นี่เป็น challenge แรกที่ต้องแก้ปัญหา เพราะว่ามันคงไม่มีใครอยากทำงานกับเราทั้งฝั่ง supply และ demand ช่วงนี้เป็นช่วงที่ต้องทำงานหนักที่สุด เพราะมันต้องมีคนเข้ามาใช้บริการ (traction) เพื่อทำให้นักลงทุนหันมาสนใจเราในระยะต่อไปด้วย ถ้ารายได้ 0 บาท ไม่มีลูกค้าเลย ไม่เคยลองทำจริง ไม่เคยลงสนามจริง จะไปขอเงินเขา คงไม่มีใครให้” คณิศรย้อนอดีตถึงช่วงเริ่มก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ยังไม่มีนักลงทุนเข้ามา โดยช่วงแรกเขาต้องออกทุนเอง ชวนเพื่อนมาลงทุน และใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการเข้าไปเรียนรู้กระบวนการทำงานทั้งหมด เพื่อที่จะได้เจ้าใจถึงเส้นทาง กระบวนการ ปัญหา กระทั่งรู้ว่าช่างคิดอะไร ลูกค้าต้องการอะไร

กว่าจะถึงจุดที่สเกล และไปต่ออย่างมั่นคง

ขึ้นชื่อว่าผู้ประกอบการไม่เคยมีคำว่าง่าย คณิศร เล่าถึงการเดินทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ 24X กว่าสตาร์ทอัพรายหนึ่งจะมาถึงจุดที่เรียกว่า รอด กำลังสเกลธุรกิจ เพื่อเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในกี่ปีข้างหน้า ต้องเจอกับบาดแผลมานับครั้งไม่ถ้วน โดยแบ่งเป็น 5 Stage ที่เรียกได้ว่าหลากรสชาติเลยทีเดียว 

Stage ที่หนึ่ง “ความกล้า” ต้องกล้าทำ กล้าลอง และกล้าที่จะเสี่ยง เพราะถ้าไม่กล้าพอก็คงเลิกทำไปแล้ว จากที่ลงมือทำเองทุกอย่างอยู่เกือบ 2 ปี นอกจากนี้ “การหาลูกค้า” ก็เป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะในเมื่อเราเป็นหน้าใหม่ ดังนั้นจะให้ลูกค้ามากล้าใช้บริการ ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า “เราเป็นใคร ทำไมลูกค้าถึงต้องใช้เราด้วย” จนในที่สุดเราก็สามารถระดมทุนก้อนแรกในรอบ Seed มาจาก Angle Investor ประมาณ 16 ล้านบาท ก็ทำให้เราไปต่อได้อีกขั้นหนึ่ง 

Stage ที่สอง “ฟอร์มทีม” การที่เราจะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทั้ง B2B และ B2C มันไม่สามารถทำคนเดียวได้ จึงต้องหาทีมมาช่วยบริหารจัดการ ดังนั้นการเติบโตในระยะต่อไป คือ การสร้างคน ความท้าทายที่สุดก็คือ ทำอย่างไรให้คนเก่งๆ ที่มาร่วมงานเชื่อใจ แล้วเดินตามเราได้ และรู้สึกว่านี่คือ วิสัยทัศน์ที่อยากไปด้วยกัน อีกทั้งใน Stage นี้ยังเป็นช่วงที่เขาเริ่มระดมทุนในรอบ Pre-Series A

Stage ที่สาม “วางระบบ” ในช่วงแรกของการทำสตาร์ทอัพ แน่นอนว่าการทำงานค่อนข้างเป็นไปอย่าง ลูกทุ่ง แต่เมื่อต้องเริ่มสเกล มีทีมงานมากขึ้น ธุรกิจจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางการทำงานที่ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นมาตรฐาน ไม่ว่าจะในด้านการพัฒนาเทคโนโลยี การเทรนนิ่งเพื่อทำให้บุคลากรเข้าใจตรงกัน

“เป็นไปได้ยากที่เราจะคุยกับทุกคนว่าให้ทำอะไรแบบไหน ความยาก คือ บางครั้งเราต้องเจอกับการต่อต้านกระบวนการ เพราะว่าสไตล์ผมคือ จะไม่บังคับให้ทำ แต่จะบอกว่านี่คือสิ่งที่ดี เพราะถ้าผมบังคับ แปลว่าเขาจะไม่มีทางคิดอะไรใหม่ๆ ให้ผมเลย ไม่งั้นใช้หุ่นยนต์ดีกว่า ถ้าบังคับให้ทำได้ แล้วทำซ้ำๆ แปลว่าคนนั้นจะโดน AI แทนที่แน่นอน” 

Stage ที่สี่ “ความชิบหาย” คณิศร เล่าว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด เราสเกลแล้ว เรียกว่าพังไม่เป็นท่า เพราะว่าการสเกลประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบมาก และการสเกลเร็วเกินไป คือ ความฉิบหาย 

“เดิมผมมีพนักงาน 70 คน และขยายเป็น 200 คน ภายในสามเดือน แม้ยอดขายเราจะเติบโตมากๆ แต่ไม่ได้เทรนนิ่ง คราวนี้ก็มั่วเลย ระบบพัง ค่าใช้จ่ายเพิ่ม ขาดทุนยับ จนถึงขั้นคิดอยากเลิกทำ”   

เขาอธิบายเสริมถึงธุรกิจ Home Service ว่า จริงๆ เป็นธุรกิจที่ยาก เพราะมันมีความซับซ้อนของการดำเนินการสูง มีเงินที่ต้องใช้มหาศาลมาก และไม่ใช่แค่ว่ามีเงิน มีองค์ความรู้ มีที่ใจสู้แล้วทำได้ แต่ต้องมีครบทุกข้อ ถึงมันจะมีส่วนผสมที่ลงตัว และมากพอที่จะทำให้ 24X เป็นธุรกิจที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ 

และแล้วก็เดินทางมาถึง Stage ที่ห้า “ในวันที่ไม่มีใครเชื่อคุณแล้ว” ซึ่งคณิศรบอกว่าเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุดเท่าที่เคยทำธุรกิจมา เพราะต้อง Lay Off พนักงานไปกว่า 70 คน และเป็นสตาร์ทอัพรายแรกๆ ในไทยที่ประกาศเช่นนี้ “เราขาดทุนเยอะเกินไป เรียกว่าสตาร์ทอัพ winter มันจบไปแล้ว นักลงทุนไม่ได้ appetite กับการหาทุนเพื่อสเกลอีกแล้ว นักลงทุนต้องการกำไร ซึ่งตลาดทุนยอมรับกับความเสี่ยงเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว สตาร์ทอัพคือ Asset Class ที่เสี่ยงที่สุดในโลก ที่มีโอกาสชนะเพียงแค่ 1% เท่านั้น เผลอๆ อาจจะ 0.1% ด้วยซ้ำ นักลงทุนเริ่มเปลี่ยนความคิดตั้งแต่โควิด ตั้งแต่ WeWork พัง แล้วกลายเป็นว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพใหม่ไม่เกิดเลย เพราะคนไม่ลงทุนใน Early Stage” 

แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ผ่านมาอย่างยากลำบาก หลังจากสถานการณ์นี้ คณิศร ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ กอบกู้บริษัทให้ฟื้นคืนมาจนสามารถเข้าสู่ Stage ที่หก ซึ่งกำลังทำอยู่ คือ การขยายธุรกิจไปต่างจังหวัด ในปีนี้จะเห็น 4-5 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ชลบุรี พัทยา ภูเก็ต และคาดว่าไม่เกินกลางปีหน้าน่าจะเปิดให้บริการครบทั้งประเทศไทย รวมถึงหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และสามารถสร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้ได้เกิน 30-40% ของรายได้ทั้งหมด และหลังจากนี้จะเป็นการสร้างกลยุทธ์ภายในว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม 24X เพิ่งได้มีการประกาศปิดระดมทุนรอบซีรีส์ A รับเงินมูลค่ากว่า 150 ล้านบาท จากกรุงศรี ฟินโนเวต, อีซีจี เวนเจอร์ แคปปิตัล และ บริษัท บีซีเอช เวนเจอร์ส จำกัด (BCH Ventures) ในกลุ่ม บีซีจี เบญจจินดา เพื่อรองรับการสเกล รวมถึงมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประมาณปี 2027 เพื่อขยายการเติบโตในตลาดระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์