ซีเมนส์ ฉายภาพอุตสาหกรรมไทย เทคโนโลยีช่วยได้แค่ไหนในยุคแห่งการ 'ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ความยั่งยืน'

Business & Marketing

Executive Interviews

Tag

ซีเมนส์ ฉายภาพอุตสาหกรรมไทย เทคโนโลยีช่วยได้แค่ไหนในยุคแห่งการ 'ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ความยั่งยืน'

Date Time: 16 มิ.ย. 2566 11:30 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ช่วงสิบปีที่ผ่านมา คำว่า ‘Digital Transformation’ ที่มาพร้อมกับคลื่นของนวัตกรรมเทคโนโลยีสารพัด ได้ทำให้ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเหล่าผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการปรับธุรกิจและเครื่องจักรสู่ยุคดิจิทัลกันทั่วหน้า อย่างไรก็ตามเราจะเห็นว่าขณะที่ธุรกิจใกล้ชิดเทคโนโลยีมากขึ้น อีกหนึ่งคลื่นระดับโลกก็ได้เข้ามาสร้างแรงกระเพื่อมสำคัญ โดยการเรียกร้องให้ การเติบโตของธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในเวลาเดียวกัน

‘Sustainable’ กลายเป็นวาระสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยกันในวงสนทนาผู้บริหาร เวทีธุรกิจ ตลอดจนในโรงงานอุตสาหกรรมหลากหลายเซกเตอร์ที่กำลังครุ่นคิดว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาใช้กับธุรกิจตนเอง เรียกได้ว่าจะทรานฟอร์มอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องทรานฟอร์มไปพร้อมกับเป้าหมายด้านความอย่างยั่งยืนด้วย นับเป็นโจทย์ใหญ่พอสมควรที่ต้องวางโมเดลธุรกิจให้สอดคล้อง แถมยังต้องรู้เท่าทันนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับใช้อีกด้วย 

Thairath Money พูดคุยกับ โจเซฟ คง (Joseph Kong) Head of Digital Industries ซีเมนส์ ประเทศไทย และกลุ่มธุรกิจงาน Motion Control ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีและโซลูชันภาคอุตสาหกรรมระดับโลก ที่ได้มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยรวมตั้งแต่ช่วงอุตสาหกรรมไทยบูมยุคแรกๆ จนกระทั่งการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลถึงมุมมองเรื่องการทำ ‘Digital Transformation ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน’ เจาะลึกว่าเทคโนโลยีจะสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างไร และจำเป็นหรือไม่ที่ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเพื่อยั่งยืน?

เพราะ อุตสาหกรรม คือ ตัวการหลักทำร้ายโลก  

โจเซฟ ให้มุมมองว่า ในฐานะตัวการหลักที่มีส่วนสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง ภาคอุตสาหกรรมตระหนักดีว่ากิจกรรมการผลิตในแต่ละขั้นตอนมีส่วนในการสร้างก๊าซเรือนกระจกรวมถึงสร้างขยะจำนวนมาก โรงงานทั่วโลก รวมถึงอาเซียนและไทย ต่างมีความพยายามที่จะปรับใช้ในนวัตกรรมเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงปลายทางมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ควบคุมไลน์อัปการผลิตเพื่อวิเคราะห์หาแนวทางใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสียหรือสามารถใช้วัตถุดิบได้น้อยลง หรือจะเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรและพลังงานเพื่อใช้ใหม่ การประยุกต์หลักการ Circular Economy 

โดยในปี 2565 ภาคอุตสาหกรรมในไทยบางส่วนที่มีการทำปรับปรุงการผลิตด้วยเทคโนโลยีแล้วพบว่าสามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ไปได้ถึง 30% โดยทางผลิตภัณฑ์และโซลูชันของซีเมนส์ก็ได้ช่วยให้องค์กรต่างๆ ทั่วโลกหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึงประมาณ 150 ล้านตัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สร้างอิมแพ็กได้อย่างมีนัยสำคัญ

เทคโนโลยีสำคัญที่จะสร้าง Sustainable Industrial ให้กับภาคอุตสาหกรรม 

โจเซฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมที่นำร่องปรับใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีส่วนใหญ่จะอยู่ใน กลุ่มยานยนต์, เคมีภัณฑ์, น้ำมัน แก๊ส และสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใช้งานเทคโนโลยีสำหรับการผลิตอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นกลุ่ม Early Adopter ที่ความสนใจนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาปรับใช้โดยทันทีอีกด้วย 

นอกจากนี้ ‘อุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่ม’ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ เพราะเป็นภาคส่วนที่เผชิญกับความท้าทายทั้งด้านปัญหาวัตถุดิบ และปัญหาขยะอาหารที่เป็นต้นเหตุสำคัญในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจากสถิติ 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกเกิดจากการผลิตและบรรจุอาหาร แถมน้ำจืดบนโลกกว่า 70% ยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมอาหารด้วยเช่นกัน  

โจเซฟ พร้อมด้วย นายซาช่า แมนเดล (Sascha Maennl) ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มธุรกิจ Factory Automation Sales ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ยกเทคโนโลยีดิจิทัลหลักๆ ที่จะช่วยอุตสาหกรรมให้ขับเคลื่อนสู่ดิจิทัลและยั่งยืนไปพร้อมกัน ได้แก่

  • Energy Management ระบบการบริหารจัดการพลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำ อุณหภูมิ พลังงานหมุนเวียนอย่างลมและแสงอาทิตย์ ตลอดจนการจัดการของเสีย
  • Digital Twin เทคโนโลยีที่สามารถจำลองภาพ 3D ภายในโรงงาน จำลองกระบวนการผลิตสินค้า
  • AI & Data Center การจัดเก็บข้อมูลการผลิตตลอดจนข้อมูลการบริโภค การประมวลผลข้อมูลมหาศาลด้วยเทคโนโลยีการประมวลผลที่สามารถสังเคราะห์ วิเคราะห์ และคำนวณความเป็นไปได้ในอนาคต 

ตัวอย่างเหล่านี้ คือ เทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาช่วยสร้างมุมมองแบบองค์รวมทั้งห่วงโซ่การผลิต ทำให้เราสามารถติดตามและเก็บข้อมูลจากไลน์ผลิตได้แบบเรียลไทม์ ตัดสินใจและระบุปัญหาได้อย่างมั่นใจและแม่นยำ สามารถออกแบบกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรและพลังงานได้อย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยของเสียหรือมลพิษที่เป็นอันตราย ตลอดจนการกู้คืนของเสียในกระบวนการผลิตตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ 

เรายังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรที่จะสามารถต่อยอดไปยังการผลิตไลน์สินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่ม จากเดิมที่ต้องผลิตในขนาดเยอะๆ อีกด้วย จุดนี้สามารถลดผลกระทบด้านลบจากการผลิตได้มหาศาล โดยข้อมูล บอกว่า Digital Twin จำลองกระบวนการผลิต ทำให้โรงงาน สามารถลด Carbon Footprint ไปกว่า 40% จัดการพลังงานได้ดีขึ้น 40% ประหยัดปริมาณวัสดุที่ใช้ได้ถึง 50% เลยทีเดียว  

ต้นทุนสูงเกินไป แล้วโรงงานขนาดเล็กจะเข้าถึงเทคโนโลยีได้แค่ไหน  

หากพิจารณาดูแล้วการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็น Key player สำคัญมาใช้ในระดับโรงงานจะตามมาด้วยต้นทุนค่าใช้จ่ายมหาศาลอย่างแน่นอน ทั้งการเปลี่ยนผ่านด้านสถานที่ เครื่องจักร บุคลากร จึงเกิดคำถามที่ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเอื้อประโยชน์เฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทุนสูงหรือไม่ แล้วผู้ประกอบการรายย่อยจะเข้าถึงได้อย่างไร 

โจเซฟ ให้คำตอบว่า เป็นความจริงที่บริษัทขนาดใหญ่มีศักยภาพในการสเกลมากกว่าบริษัทขนาดรองลงมา อย่างไรก็ตามหน่วยธุรกิจที่เป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจไทยไม่ใช่โรงงานผลิตขนาดใหญ่ แต่คือบริษัทขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางต่างหาก ซึ่งมากกว่า 90% เป็น SMEs ที่มีความสนใจในการปรับใช้เทคโนโลยี และยังมีความเข้าใจในนวัตกรรมต่างๆ ไม่แพ้บริษัทใหญ่

ขณะเดียวกันทุกวันนี้มีกองทุนสำหรับผู้ประกอบการ มีการสนับสนุนด้านเงินทุนจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศที่พร้อมลงทุนและทำงานร่วมกัน เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กลุ่มนักลงทุนและสตาร์ทอัพ เป็นต้น 

มองว่านโยบายรัฐบาลไทยช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการมากแค่ไหน 

โจเซฟ กล่าวถึงอุตสาหกรรมไทยว่ามีอีโคซิสเต็มที่ค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลสู่ความยั่งยืนตามวิสัยทัศน์ Thailand 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการไปสู่เป้าหมายระยะยาวด้านนโยบาย Net Zero  เช่น การเพิ่ม Incentive ดึงดูดธุรกิจให้เข้ามามีส่วน การลดอัตราภาษีนิติบุคคล (Corporate income tax) สำหรับกิจกรรมใดๆ ที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ เช่น การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โมเดล BCG เทคโนโลยีดิจิทัล หรืออุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-curve อย่าง EV 

“ไทย คือ Manufacturing Power House เป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าและเครื่องจักรสำคัญในระดับภูมิภาคและระดับโลก ไทยมีอัตราการผลิตภาคอุตสาหกรรมต่อ GDP ที่สูงกว่าเพื่อนบ้าน ซึ่งหากเทียบศักยภาพเรากับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน หากปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจะยิ่งผลักดันให้ไทยประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น” 

ทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลแล้วยังไงต่อ มองอย่างไรเมื่อคนบอกว่า ความยั่งยืน เป็นแค่เทรนด์ 

ทุกวันนี้ภาคธุรกิจรวมถึงคนทั่วไปเข้าใจมากขึ้นว่า ความยั่งยืน คืออะไร เป็นเรื่องยากถ้าธุรกิจจะสร้างความยั่งยืนแบบไม่จริง นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ควบคุมการทำงานในเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการกำกับแนวธุรกิจและพฤติกรรมของบริษัทต่างๆ อีกที

โจเซฟ บอกว่า เราเห็นตัวอย่าง การฟอกเขียว หรือ Greenwashing อยู่บ่อยครั้ง ต้องเข้าใจว่าการปรับโมเดลธุรกิจให้อยู่ในเส้นทางของ Sustainbility ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ละองค์กร แน่นอนว่าต้องมีการลงทุนเพิ่ม ใช้เงินเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นับเป็นโจทย์ใหญ่ขององค์กรทุกขนาดที่จะต้องรักษาความสามารถในการทำรายได้และกำไรในเวลาเดียวกัน ดังนั้นการทำดิจิทัลทรานฟอร์มเมชันสู่ความยั่งยืน จึงต้องหาแนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อโลก และต้องทำให้ธุรกิจเติบโตด้วย ซึ่งจุดนี้เป็นเหตุให้ นวัตกรรมเทคโนโลยี เข้ามามีส่วนสำคัญนั่นเอง 

สำหรับไฮไลต์ภายในงาน ProPak 2023 ครั้งนี้ ทางซีเมนส์ ประเทศไทย ยังพาชมบูธที่มาอวดโฉมนวัตกรรมเทคโนโลยีจำนวนมาก เช่น โซลูชันการเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farming) ที่สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่า 300 เท่าต่อตารางฟุตโดยยั่งยืนทั้ง Supply chain ช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 95% หากเทียบกับการทำเกษตรทั่วไป ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% และไม่มียากำจัดศัตรูพืชเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย เรียกได้ว่าลดคาร์บอนฟุตปริ้นตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหารเลยทีเดียว

โซลูชัน Industrial 5G wireless networks ความเร็วสูงที่มีความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที ที่สนับสนุน massive Machine-Type Communications (mMTC) รองรับการติดตั้งอุปกรณ์ IoT จำนวนมาก, หุ่นยนต์เคลื่อนที่ (Mobile Robots), การขนส่งอัตโนมัติ (Autonomous Logistics), ระบบการทำงานทั้ง Information Technology (IT) และ Operation Technology (OT) เป็นต้น 

ซีเมนส์ อยู่เบื้องหลังภาคการผลิตและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ของไทยมาอย่างยาวเกือบ 50 ปี ไม่ว่าจะเป็นการจัดการพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต การขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนที่เราใช้บริการเป็นประจำในทุกวันนี้อย่างรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งสายสีเขียวอ่อนและส่วนต่อขยายสีเขียวเข้ม รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT แอร์พอร์ตเรลลิงก์ ตลอดจนระบบรางข้ามจังหวัด.


Author

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)

พิมพ์ชญา ภมรพล (แพร)
Technology & Digital Economy Team , The Columnist of BrandStory