Uniqlo ถูกกดดันหนักจากผู้ซื้อชาวจีน หลังผู้บริหารปฏิเสธว่าแบรนด์ไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง หุ้น Fast Retailing บริษัทแม่ลดลงหนักสุดในรอบสองเดือน โดยร่วงลงเกือบ 5% ในการซื้อขายทั่วไปของเช้าวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคมนับตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนที่เริ่มมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น
การยืนกรานปฏิเสธของนาย ทาดาชิ ยานาอิ (Tadashi Yanai) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Fast Retailing ในฐานะบริษัทแม่ของ Uniqlo ขณะให้สัมภาษณ์สดกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “แบรนด์ไม่ได้ใช้ฝ้ายที่จัดหาจากเขตซินเจียงของจีนตามที่ถกเถียงกัน” ก่อนจะหยุดตอบคำถามนี้และกล่าวว่าเขาไม่อยากตอบต่อเพราะว่ามัน "เป็นการเมืองเกินไป" ซึ่งหลังจากนั้นยิ่งทำให้เกิดการถกเถียงบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะนักวิจารณ์ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย Weibo เรียกร้องให้คว่ำบาตรแบรนด์เสื้อผ้าญี่ปุ่นรายนี้
บรรดาผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในจีนกล่าวโจมตีบริษัทเพราะพวกเขาสนับสนุนฝ้ายซินเจียง ในทางตรงกันข้าม บางคนกล่าวว่าพวกเขาจะหยุดซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัท และเรียกร้องให้ร่วมกันคว่ำบาตร Uniqlo
แม้ว่าประเด็นเรื่องฝ้ายจากซินเจียงถูกกล่าวหาในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลังมีการรายงานว่าพบการบังคับใช้แรงงานบังคับชาวอุยกูร์ในขั้นตอนการผลิตจะถูกทำให้ต่อมาหน่วยงานสหรัฐฯ และเป็นที่ถกเถียงในระดับโลก ในเดือนมิถุนายน 2022 บริษัทหลายแห่งต้องพิสูจน์ว่าสินค้าที่นำเข้ามาสหรัฐฯ ไม่ได้ผลิตโดยใช้แรงงานบังคับ
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานในปักกิ่งปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ว่าไม่มีการละเมิดใดๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของฝ้ายที่ผลิตในจีนส่วนใหญ่ และขณะเดียวกันที่แบรนด์ตะวันตกที่ปฏิเสธการรับซื้อฝ้ายจากซินเจียง H&M, Nike, Burberry, Esprit และ Adidas ก็ถูกห้ามขายบนแพลตฟอร์มจีนเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าแบรนด์เหล่านี้ "คว่ำบาตรฝ้ายและสินค้าอื่นๆ ในซินเจียงอย่างไม่เป็นธรรม"
ด้านตัวแทนของ Fast Retailing ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนว่าบริษัทกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อดูกระแสสังคมว่าหลังจากนี้จะส่งผลต่อความต้องการสินค้าในหมู่ผู้ซื้อชาวจีนหรือไม่ เพราะผู้บริโภคชาวจีนจะปฏิเสธแบรนด์ที่ไม่เคารพประเทศหรือวัฒนธรรมของพวกเขา
ที่ผ่านมาบริษัทเสื้อผ้าแฟชั่นในสหรัฐฯ และยุโรปตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ถอนตัวออกจากโรงงานที่ผลิตเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในซินเจียง การตัดสินใจของ Uniqlo ในครั้งนี้ยังบ่งชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปกดดันให้บริษัทแม่จากญี่ปุ่นมีแนวทางเดียวกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดฝ้ายซินเจียงในตลาดเอเชีย
ทั้งนี้ “จีน” นับว่ามีความสำคัญมากสำหรับ Uniqlo ไม่เพียงแต่ในฐานะตลาดขนาดใหญ่ที่สุดเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญอีกด้วย รายได้จากจีนแผ่นดินใหญ่ในไตรมาสที่สิ้นสุด ณ เดือนสิงหาคมปีนี้คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้ทั้งหมดที่ 3.1 ล้านล้านเยนหรือราว 20,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามเอกสารที่ยื่นต่อ Uniqlo ที่ดำเนินกิจการร้านค้าทั่วโลก 2,509 แห่ง โดยมีร้านค้าในฮ่องกง ไต้หวัน และจีนแผ่นดินใหญ่รวมกว่า 1,031 แห่ง ซึ่งหมายความว่า Uniqlo อาจได้รับผลกระทบด้านรายได้หลังจากนี้
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -