Carnival “ราชาวงการ Collab” มัลติแบรนด์เบอร์ต้นที่ยกระดับสตรีทแฟชั่นไทยให้ไปไกลระดับโลก

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Carnival “ราชาวงการ Collab” มัลติแบรนด์เบอร์ต้นที่ยกระดับสตรีทแฟชั่นไทยให้ไปไกลระดับโลก

Date Time: 22 ก.ย. 2567 23:40 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • Thairath Money คอลัมน์ BrandStory ครั้งนี้หยิบเรื่องราวความสำเร็จของ “คาร์นิวาล” Carnival ร้านมัลติแบรนด์เบอร์ต้นของประเทศที่ทำให้คนไทยได้สัมผัสกับสตรีทแวร์ระดับโลก หลายคนรู้จักกันดีในฐานะตัวท็อปด้านสตรีทแฟชั่นที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปสู่อีกขั้นด้วยกลยุทธ์การทำ Collaboration ร่วมกับแบรนด์ระดับประเทศไปจนถึงบิ๊กแบรนด์ระดับโลกที่ให้ความไว้วางใจจนได้รับการยกย่องให้เป็น “ราชาแห่งวงการ Collab” และหนึ่งในไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่มีอิทธิพลที่สุดยุคนี้

Latest


14 ปี แบรนด์สตรีทผู้ยกระดับกระแสสนีกเกอร์ไทย

Carnival เกิดขึ้นจากความชอบในรองเท้าเป็นอย่างมากของ "ปิ๊น-อนุพงศ์ คุตติกุล" ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ Carnival ความคลั่งไคล้ในรองเท้าที่ไม่ใช่แค่การซื้อมาสวมใส่ แต่มากกว่านั้นคือการตามหารุ่นพิเศษหายากมาไว้ในครอบครอง โดยหลังจากจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ไม่นานเขาก็ได้รวมตัวกับหุ้นส่วนเปิดร้านรองเท้าเล็กๆ ในปี 2010 หรือเมื่อ 14 ปีก่อนที่สยามสแควร์สาขาแรก

โดยใช้แรงบันดาลใจจากความชอบของตนบวกกับประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจากบรรดาร้านสนีกเกอร์และคอมมูนิตี้ในต่างประเทศ ที่ทำให้เขาเห็นว่าในประเทศไทยร้านขายของสำหรับกลุ่มคนที่เล่นรองเท้าหรือเสื้อผ้าสตรีทแวร์ยังมีน้อย และนี่เป็นโอกาสที่ทำให้เขาตัดสินใจเติมเต็มช่องว่างนั้น

เริ่มแรกเขาวางโพสิชันของ Carnival เป็นร้านขายรองเท้าหายาก ขายไอเท็มที่คนอื่นไม่มีเพื่อไม่ให้ซ้ำใคร โดยเขาเองที่รับหน้าที่เป็นผู้คัดสรรและหิ้วของเหล่านั้นมาจากต่างประเทศมาวางขายด้วยตัวเองตั้งแต่ Day 1 โดยสินค้าที่ถูกคัดสรรมาส่วนใหญ่จะเป็นแรร์ไอเท็ม รุ่นลิมิเต็ดที่มีจำนวนจำกัด รุ่นที่มีดีไซน์โดดเด่น รวมไปถึงรุ่นที่คนเล่นรองเท้าต้องการ รุ่นที่เป็นกระแสในวงการแฟชั่นในขณะนั้น หรือรุ่นที่หาช็อปในห้างไม่ได้

แน่นอนว่าการที่ Carnival จะสามารถรวบรวมรองเท้ารุ่นพิเศษ ซึ่งเป็นที่หมายตาเอาไว้ ทำให้สายสนีกเกอร์ในไทยเนื้อเต้นทุกครั้งที่เปิดขาย ทำให้ Carnival เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเหล่าสาวกของแบรนด์สนีกเกอร์ก็ได้กลายเป็นลูกค้าขาประจำที่ตามติด Carnival เพื่อรอซื้อสินค้าก่อนใคร

สร้างดีมานด์และเติมซัพพลายสุดเท่ฉบับ Carnival

จากแบรนด์แรกแบรนด์เดียวอย่าง Converse… Carnival เริ่มวางขายรองเท้าหลากหลายแบรนด์มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มหันมาผลิตเสื้อผ้าและแอคเซสเซอรีสายสตรีทของตนเองภายใต้แบรนด์ Carnival ที่เน้นการออกแบบสินค้าให้มีสไตล์แบบ Carnival เท่ คูลโดดเด่นไม่ซ้ำใคร พร้อมภาพลักษณ์ร้านที่สะท้อนความเป็น Limited Edition ตั้งแต่การผลิตออกมาจำนวนจำกัด และการขายรองเท้าแบบ “คนชอบรองเท้า” ที่นำเสนอ DNA อย่างชัดเจน

ความหลงใหลของปิ๊นทำให้เขาขายสินค้าด้วยความรู้จริง รู้ว่าคนที่ชอบรองเท้าต้องการอะไรและตัดสินใจซื้อรองเท้าจากเรื่องราวแบบไหน โดย Carnival ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์รูปแบบต่างๆ ทั้งแคปชั่น ภาพ วิดีโอ เช่น การเล่าประวัติ ที่มาของการออกแบบ การรีวิวสินค้า

ลงทุนถ่ายทำ Lookbook ในสไตล์ของตนเองเพื่อแสดงให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ผู้สวมใส่ การปั้นเพจในโซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารกับคอมมูนิตี้และทำให้คนติดตามความเคลื่อนไหวสินค้าที่จะเปิดตัวใหม่อย่างใกล้ชิด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามเพจเป็นล้านๆ คน ไปจนถึงการทำ Collaboration กับแบรนด์อื่นๆ ที่ได้กลายเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของ Carnival ในปัจจุบัน

“ความพรีเมี่ยม” และ “จำนวนจำกัด” ที่สร้างแรงดึงดูดูลูกค้า ทำให้ Carnival โด่งดังปากต่อปาก เรียกได้ว่า Carnival เรียกเสียงฮือฮาและสร้างปรากฏการณ์ตั้งแคมป์ของฝูงชนที่มาต่อคิวรอข้ามคืนเป็นพันๆ คน เพื่อรอซื้อสินค้ารุ่นพิเศษ เกิดกระแสรับหิ้วรองเท้า แถมยังเป็นไวรัลอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเปิดตัวอะไรก็มักจะ Sold out ตั้งแต่วันแรก

ในช่วงปี 2012 เป็นต้นมา Carnival ได้รับความไว้วางใจจากสนีกเกอร์หลากหลายแบรนด์ รวมถึงแบรนด์สตรีทแฟชั่นระดับไฮเอนด์จากต่างประเทศให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยจุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อ Carnival ได้รับคัดเลือกจากสปอร์ตแวร์ระดับโลกอย่าง Nike และ Adidas ให้เป็นร้านระดับสูงสุดที่มีสิทธิ์ในการวางจำหน่ายรุ่นสำคัญๆ ซึ่งมัลติสโตร์นั้นๆ จะต้องผ่านการพิสูจน์โปรไฟล์ร้านนอกเหนือจากภูมิประเทศและช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วยังพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่าง

เช่น ภาพลักษณ์ของร้าน การทำมาร์เกตติ้ง และการปฏิสัมพันธ์กับผู้ซื้อหรือคอมมูนิตี้ ที่บ่งบอกว่าร้านมีฐานลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มคนที่สนใจในสินค้าเหล่านี้จริงๆ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นร้านจากประเทศที่มี Street Fashion หรือประเทศที่มีนักสะสมรองเท้า มีวัฒนธรรมสนีกเกอร์แข็งแกร่ง

“Adidas Consortium” ตำแหน่งร้านระดับสูงสุดนับเป็นเครื่องพิสูจน์ความเชื่อมั่นชั้นดีจากบิ๊กแบรนด์ระดับโลกที่ทำให้ Carnival ก้าวไปอีกระดับ สะท้อนตัวตนและเป้าหมายที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่า Carnival คือร้านมัลติแบรนด์ที่มากกว่าการทำกำไรจากการวางสินค้าราคาสูง แต่คือการทำให้คนไทยได้เข้าถึงสินค้าดีๆ ไอเท็มเจ๋งๆ ทำให้วัฒนธรรมความหลงใหลของผู้คนในคอมมูนิตี้นี้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน Carnival กลายเป็นมัลติแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อสาวกสนีกเกอร์ไปจนถึงสายแฟชั่นทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยผลประกอบการของ บริษัท คาร์นิวาล ซัพพลาย จำกัด ยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วยตามข้อมูลจากจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  • ปี 2566 รายได้รวม 492,597,710 บาท กำไรสุทธิ 25,581,036 บาท 
  • ปี 2565 รายได้รวม 371,411,837 บาท กำไรสุทธิ 8,330,011 บาท 
  • ปี 2564 รายได้รวม 313,805,532 บาท กำไรสุทธิ 2,536,275 บาท 

การสั่งสมอิทธิพลแบรนด์ที่ทำให้การ Collaboration ง่ายเหมือนดีดนิ้ว

กลยุทธ์การขาย การตลาด และการประกอบสร้างตัวตน Carnival ตั้งแต่ Day 1 ทำให้แบรนด์ดิ้งและกิตติศัพท์ของ Carnival แข็งแกร่งไม่แพ้คุณภาพของสินค้ากว่าร้อยๆ แบรนด์ที่วางขาย การขยายขอบเขตของแบรนด์ Carnival ออกไปอีกผ่านการทำงาน รวมถึงการทำ Collaboration แบบที่ต่างประเทศเขาทำกันก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ปิ๊นมุ่งหวัง จากเป้าหมายอันแน่วแน่ที่อยากให้ Carnival เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการทำงานร่วมกับแบรนด์สตรีทแวร์ระดับโลกที่เราเป็นผู้จำหน่าย

ไม่ใช่แค่แปะ Logo แล้วจบแต่การ Collaboration คือการสร้างแบรนด์รูปแบบหนึ่งที่ตัวตนและกลิ่นอายของแบรนด์ Carnival จะปรากฏในสินค้าชิ้นนั้นๆ …

ตัวตนความสนุกของเขาและ Carnival ที่มองหาลู่ทางในการทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้ Carnival เริ่มต้นทำ Collaboration มาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะสร้างแคมเปญผลิตสินค้ารุ่นพิเศษร่วมกับแบรนด์อื่นๆ เรื่อยมามากกว่า 200 แบรนด์ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่จนผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั่วกัน โดยปัจจุบันยอดขายจากสินค้าที่เกิดจาก Collab มีสัดส่วน 50% เท่ากับยอดขายสินค้าของแบรนด์เอง 50% เลยทีเดียว

ผ่านมาแล้ว 14 ปี Carnival ยัง Collab ไม่หยุด นอกจากบทบาทผู้ปลุกกระแสสตรีทในหมู่คนไทยแล้ว เขายังคือนัก Collab ยุคบุกเบิกที่ทำงานร่วมกับแบรนด์เล็กใหญ่ทั้งไทยและเทศมาแล้วนับไม่ถ้วน อะไรที่เราคาดไม่ถึงว่าจะมาอยู่ด้วยกัน Carnival ก็ทำให้เราตื่นเต้นไปกับไอเท็มสุดชิคที่ควรค่าแก่การซื้อ

ปัจจุบัน Carnival ก้าวสู่จุดที่เป็นมากกว่าแบรนด์เสื้อผ้าแต่เป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์สุดเท่ ที่ใช้ทั้ง Passion และ Creativity ทำลายขอบเขตการทำธุรกิจ การทำพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่สร้างคุณค่าแบบ win-win ฉบับ Carnival ที่ทำให้ไม่ว่าใครก็อยากทำงานด้วย ตามที่ปิ๊นกล่าวว่า “การสร้างแบรนด์ก็เหมือนกับการเก็บเลเวลในเกม”

ดังนั้นการ Collaboration จึงไม่ใช่สูตรการตลาดที่ประกาศความร่วมมือแล้วจบ เพราะผลลัพธ์จะยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนขึ้นอยู่กับเป้าหมายและการพัฒนาภาพลักษณ์ของแบรนด์ของตนเองอย่างชัดเจนอย่างต่อเนื่อง 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

ที่มาข้อมูล Carnival 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -   


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ