“ขนาดเขียนที่อยู่ผิด ยังส่งถูก” คำพูดแซวเล่นติดหูคนไทยที่เมื่อพูดถึงเมื่อไหร่หลายคนจะรู้ทันทีว่าเรากำลังหมายถึง “ไปรษณีย์ไทย” Thailand Post ขนส่งในตำนานที่ขึ้นชื่อว่ารู้จักบ้านคนไทยดีไม่แพ้ทะเบียนราษฎร… เพราะ นี่คือบริษัทสื่อสารและขนส่งที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
แม้ปัจจุบันในประเทศไทยจะมีบริการจัดส่งพัสดุมากมายให้เลือกใช้จนเรียกได้ว่าธุรกิจนี้กลายเป็นน่านน้ำสีแดงที่แข่งขันกันด้านราคากันอย่างสุดขีด แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น “พี่ไปรฯ” บริการขนส่งสีแดงของไทยเจ้านี้ ยังคงยืนหยัดเข้าสู่ปี 141 อย่างแข็งแกร่ง ด้วยตัวเลขผลประกอบการล่าสุดในปีที่ผ่านมาที่พลิกขาดทุน ทำกำไรครั้งแรกด้วยรายได้รวม 2.9 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 78 ล้านบาท แต่ก่อนอื่นเรามาย้อนอดีตเพื่อทำความรู้จักจุดเริ่มต้นกันก่อน...
ต้องบอกว่าจุดเริ่มต้นของ “การส่งหนังสือหรือจดหมาย” ในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยที่มีเส้นทางจดหมายสำหรับการปกครองระหว่างสุโขทัยไปยังกำแพงเพชร โดยการสื่อสารในสมัยก่อนนั้นเกิดจากการสร้างเส้นทางคมนาคมและเส้นทางการค้า โดยมีการติดต่อข่าวสารกันผ่านทางพ่อค้า ม้าเร็ว หรือจัดตั้งคนเร็วไว้ตามเมืองสำคัญ
พัฒนาการทางการส่งข่าวสารเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสนพระทัยในการเขียนจดหมายโต้ตอบกับฝรั่ง โดยในส่วนบริการส่งจดหมายสำหรับคนทั่วไปก็มีหลายหน่วยงานที่เปิดให้บริการ เช่น บริษัทเดินเรือและสถานกงสุลที่ได้นำระบบ ไปรษณีย์ หรือการเดินหนังสือ เข้ามาใช้ในไทยเพื่อติดต่อกับประเทศต้นทาง
ในยุคนี้นับเป็นยุคแรกของ “การไปรษณีย์ของประเทศไทย” โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษี สว่างวงศ์ฯ (ผู้สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์เป็นพระองค์แรก) จัดตั้งการไปรษณีย์เพื่อประโยชน์ด้านการติดต่อสื่อสารและเพื่อยกระดับให้ทัดเทียมต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานแรกที่รับผิดชอบ คือ “กรมไปรษณีย์” เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 4 สิงหาคม ปี 2426 รับฝากส่งจดหมายหรือหนังสือในเขตพระนครและธนบุรี
ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “กรมไปรษณีย์โทรเลข” ในปี 2441 หลังจากควบรวมกรมโทรเลขที่ก่อตั้งมาก่อนหน้านี้เข้ากับกรมไปรษณีย์เพื่อความสะดวกในการดำเนินงาน และได้ย้ายที่ทำการมาใช้อาคารเดิมของสถานกงสุลอังกฤษ ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก ในปี 2469 ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า "ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขกลาง" (General Post Office) หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก แลนมาร์กที่ยังคงให้บริการจัดส่งไปรษณีย์ในปัจจุบัน ขณะนั้นดำเนินกิจการหลักๆ อยู่ 3 กิจการ ได้แก่ กิจการไปรษณีย์ กิจการโทรเลข กิจการโทรศัพท์
ต่อมาในปี 2497 กิจการโทรศัพท์ที่เปิดให้ประชาชนในกรุงเทพฯ และธนบุรีใช้ ถูกโอนกิจการให้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กระทั่งปี 2520 ได้มีการจัดตั้ง “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” หรือ กสท. โดย พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 โดยรับมอบกิจการจากกรมไปรษณีย์โทรเลขมาดำเนินการต่อ โดยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งขณะนั้น กสท. ได้พัฒนาการให้บริการทั้งด้านโทรคมนาคมและไปรษณีย์มาอย่างต่อเนื่องจน ไปรษณีย์ไทย เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีระบบเชื่อมโยงเครือข่ายที่มีมาตรฐานทั่วประเทศ
ในปี 2546 นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประวัติศาสตร์การไปรษณีย์อีกครั้งหนึ่ง จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เทียบเท่าภาคเอกชน โดย กสท. เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินการตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคมและพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ส่งผลให้กรม การสื่อสารแห่งประเทศไทยต้องแยกกิจการเป็น 2 บริษัท คือ “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” และ “บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)” ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546
ปัจจุบัน บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ “ปณท” ตั้งอยู่ที่ อาคารสำนักงานใหญ่ ปณท ถนนแจ้งวัฒนะ มีบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนและเครือข่ายไปรษณีย์ที่ครอบคลุมกว่า 30,000 แห่งทั่วประเทศ มีการเปลี่ยนโฉมมาต่อเนื่องยุคต่อยุคเพื่อปรับปรุงการให้บริการที่มีความเป็นธุรกิจมากขึ้น ทันสมัยมากขึ้น และยังคงสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจนถึงปัจจุบัน โดยมี ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
แน่นอนว่าในมุมธุรกิจ ไปรษณีย์ไทย มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ ไปรษณีย์ไทย ยังคงยืนหยัดได้ ไม่ว่าจะเป็นการทรานส์ฟอร์มโมเดลธุรกิจ สร้างบริการที่อิงไปกับพฤติกรรมตามยุคสมัย การสร้างประสบการณ์ที่รู้ใจลูกค้า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการแตกไลน์สู่การให้บริการด้านอื่นๆ สอดคล้องไปกับจุดแข็งเดิมจนเรียกได้ว่า แม้จะมีอายุ 140 ปีแต่ระบบการให้บริการทันสมัย และมีกลยุทธ์ที่อินเทรนด์สานต่อ Core Value เดิมของไปรษณีย์ได้เป็นอย่างดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยหลักที่นับเป็นจุดแข็งของ ไปรษณีย์ไทย นั่นก็คือ การปั้นแบรนด์ดิ้ง โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย ให้ความสำคัญกับการสื่อสารถึงเป้าหมายและตัวตนของแบรนด์อย่างสม่ำเสมอเพื่อสื่อให้เห็นว่า 140 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่ขนส่ง อีกทั้งยังต้องการเป็นองค์กรไทย หรือแบรนด์ไทยแท้ที่อยากส่งพลัง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไทย ซึ่งความเรียบง่ายในการถ่ายทอดถึงจุดประสงค์เหล่านี้ของแบรนด์ยิ่งทำให้แบรนด์ไปรษณีย์ยิ่งแข็งแกร่ง
ไปรษณีย์ไทยเปรียบเหมือนกับคนที่อยู่มาแล้วหนึ่งศตวรรษ แม้จะเก่าแก่แต่เก๋าเกม มีโพสิชั่นเป็นแบรนด์แห่งการสื่อสารและขนส่งหลักของชาติ จากหนังโฆษณาหลายตัวที่ปล่อยออกมา จะเห็นว่า ไปรษณีย์ไทย ทำให้ “ความเก่าแก่” กลายเป็น “จุดขาย” นำ Core Value ของตัวเองในเรื่องความไว้ใจของลูกค้าที่มีต่อพื้นฐานการให้บริการจัดส่งเป็นเวลา 141 ปี มาเป็น Key Message
ต้องยอมรับว่า การให้บริการมาอย่างยาวนานกว่าร้อยปี คือ จุดแข็งสำคัญที่ได้สร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่าง ไปรษณีย์ไทย และลูกค้า กล่าวคือ ความสัมพันธ์อันดี จากความสม่ำเสมอในการให้บริการที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะด้วยระบบจัดเก็บข้อมูลและความเชี่ยวชาญด้านพื้นที่ สร้างความแม่นยำในการให้บริการ ทำให้ผลที่ตามมา คือ ความไว้วางใจ ที่มีต่อการให้บริการของแบรนด์ไปรษณีย์ไทย
ว่ากันว่าแม้จะเขียนที่อยู่ผิดก็ยังส่งถูกบ้าน แบบไม่ต้องคอนเฟิร์มว่าจะวางไว้ตรงไหน ทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบที่ชัดเจนกับผู้ให้บริการรายใหม่ที่ต้องติดต่อผู้รับของเพื่อยืนยันที่อยู่ก่อนจัดส่งบ่อยครั้ง ทำให้ความรู้ใจรายบุคคลของไปรษณีย์ไทยสร้างประทับใจให้กับลูกค้าคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ “บุรุษไปรษณีย์” ของไปรษณีย์ไทยได้รับการยกย่องว่าไม่ใช่เพียงจัดส่งตามสั่ง แต่ยังเต็มไปด้วยมิตรภาพ ซึ่งนี่เองก็คือสิ่งที่นักการตลาดทุกวันนี้เรียกกันว่า CRM “ระบบริหารจัดการลูกค้า” นั่นแหละค่ะ
จะเห็นว่า ความเป็นแบรนด์ไปรษณีย์จากอดีตถูกนำมาผสมผสาน สตอรี่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพื่อเข้าถึงลูกค้ารุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากทำให้คนไทยจดจำแบรนด์ได้จนถึงปัจจุบันแล้วยังสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการที่ต่อเนื่องอีกด้วย โดยช่วงที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทย ก็มุ่งตอกย้ำถึงบทบาทของไปรษณีย์ไทยที่เข้าใจคนไทยในทุกยุคสมัยผ่านแคมเปญและกิจกรรมทางการตลาดสุดครีเอต สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คนอย่างหลากหลายไม่ต่างจากมิติทางธุรกิจ
ไปรษณีย์ไทย คว้าสองรางวัลด้านการตลาดจากเวที MARKETING AWARD OF THAILAND ในปี 2022 ซึ่งเป็นการประกวดแคมเปญการตลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (รางวัลระดับ Silver Award ประเภท Brand Experience & Communication และ รางวัลระดับ Bronze Award ในประเภท Strategic Marketing แคมเปญการตลาดที่มีความเป็นเลิศด้านกลยุทธ์) จากผลงานภาพยนตร์สั้นออนไลน์ “The Resume (จากใจ..ไปรษณีย์ไทย)” โดยล่าสุดในปีที่ผ่านมาก็ได้คว้ารางวัล Winner ของกลุ่ม Best Brand Performance On Social Media สาขา Logistics ที่เน้นสื่อสารชัดเจน ตรงกลุ่ม คอนเทนต์โดนใจเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการ ในงาน Thailand Social Awards 2023 อีกด้วย
โดยล่าสุด ไปรษณีย์ไทย ก็ได้ฉายสปอตไลต์ให้ทุกคนหันมองแบรนด์เก๋าอายุ 141 ปีอีกครั้ง กับ POST Cafe' คาเฟ่แห่งแรกของไปรษณีย์ไทย ที่มาพร้อมกับสไตล์โมเดิร์น แต่ยังคงสีขาวแดง เอกลักษณ์ต้นฉบับไปรษณีย์ไทยไว้ให้คนหวนคิดถึงอดีต
ภาพลักษณ์สดใหม่ล่าสุดในครั้งนี้ตั้งใจเพิ่มปฏิสัมพันธ์ของลูกค้ากับแบรนด์ ด้วยการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ๆ ที่รักการไปคาเฟ่ เพิ่มฟังก์ชันให้พื้นที่ที่ทำการไปรษณีย์กลายเป็นจุดเช็กอิน ที่นั่งทำงาน พักผ่อน และเพลิดเพลินไปกับอาหารและเครื่องดื่มที่หลากหลาย
โดยภายในคาเฟ่ยังมีมุมขายสินค้า (Merchandise) กิมมิกที่สื่อถึงความเป็นไปรษณีย์ไทยวางขายในรูปแบบที่ระลึกอีกด้วย ปัจจุบัน POST Cafe' เปิดให้บริการเพียงสาขาเดียวในตอนนี้ นั่นก็คือ ที่ทำการไปรษณีย์สาขาสามเสนในใกล้บีทีเอสสะพานควาย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ไปรษณีย์ไทยก็ได้สร้างเสียงฮือฮาครั้งใหญ่กับการเปิดตัวสินค้าเฮาส์แบรนด์ภายใต้ชื่อ “สินค้าตราไปร” (PRAI) ผลิตสินค้าของตัวเองเจาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีความพรีเมียมและราคาเอื้อมถึงง่ายโดยสามารถซื้อได้ที่ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ รวมถึงเว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ThailandPostMart.com
นับเป็นสานต่อกลยุทธ์ปั้น House Brand ที่ต่อยอดจากการนำข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าทั้งในเรื่องพื้นที่ สินค้าที่ผู้บริโภคให้ความสนใจ และศักยภาพของเครือข่ายเพื่อสร้างช่องทางหารายได้ใหม่ๆ ปัจจุบันมีสินค้า ได้แก่ น้ำดื่มตราไปร (PRAi Water) ข้าวสารตราไปร และไปรคอฟฟี่กาแฟสำเร็จรูป (PRAi Coffee) กาแฟสำเร็จรูปจากกาแฟอาราบิกาแท้ 100%
เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ เรียกได้ว่า การที่แบรนด์ “ไปรษณีย์ไทย” ยังคงยืนหยัดมาได้หนึ่งศตวรรษครึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็ทำได้ ขณะที่หลายแบรนด์ในอดีตกลับร่วงหายไปตามเวลา ไปรษณีย์ไทย คือ องค์กรไทยที่พัฒนาตัวเองรวมถึงพิสูจน์ฝีมือการให้บริการกับผู้ใช้เพื่อตอกย้ำในฐานะ “ที่สุดขนส่งแบรนด์ไทยคุณภาพ” ผ่านมิติต่างธุรกิจและการสื่อสาร ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ผู้ใช้ไว้วางใจการให้บริการของไปรษณีย์ไทยมานานกว่าศตวรรษ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney
อ้างอิง Thailand Post