UOB ชี้ลูกค้าธุรกิจใหญ่ลุยลงทุน “เวียดนาม” ค่าแรงต่ำ-มาตรการภาษีเพียบ มอง “ไทย” โตดีจากรถยนต์ไฟฟ้า

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

UOB ชี้ลูกค้าธุรกิจใหญ่ลุยลงทุน “เวียดนาม” ค่าแรงต่ำ-มาตรการภาษีเพียบ มอง “ไทย” โตดีจากรถยนต์ไฟฟ้า

Date Time: 14 ส.ค. 2567 15:28 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เผยผลสำรวจ ลูกค้าธุรกิจส่วนใหญ่ลุยขยายตลาดต่างประเทศใน 3 ปี เพื่อขยายฐานลูกค้า หารายได้เพิ่ม ชี้เวียดนามมาแรงจากจำนวนประชากรสูง ค่าแรงต่ำ และมีสิทธิประโยขน์ภาษี ขณะเดียวกัน มองไทยยังน่าลงทุน หลังเทรนด์บริษัทยานยนต์ไฟฟ้าปักหมุดไทยเป็นฐานผลิต ทำเม็ดเงิน FDI จีนแซงญี่ปุ่น พร้อมมองภาคธุรกิจมีข้อจำกัดเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน หลังเป็นต้นทุนกระทบการทำกำไร และขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐ-สถาบันการเงิน ลุยปล่อยสินเชื่อยั่งยืน สนับสนุน 6 อุตสาหกรรมหลัก

Latest


ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจ UOB Business Outlook Study ประจำปี 2567 ในประเทศไทย ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จำนวน 525 ราย ถึงความเชื่อมั่นและแนวโน้มทางธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ 


โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่าสนใจในด้านการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการไทยสนใจการลงทุนในเวียดนามอย่างมาก ขณะเดียวกันพบว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ผู้ประกอบการต่างชาติสนใจมาลงทุน สะท้อนจากเม็ดเงินลงทุนตรง (FDI) ที่เพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า


ภาคธุรกิจลุยลงทุนต่างประเทศ ปักหมุดเวียดนาม หวังเพิ่มรายได้-ขยายฐานลูกค้า


วีระอนงค์ จิระนคร ภู่ตระกูล กรรมการผู้จัดการ Deputy CEO และ Wholesale Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจพบว่ามี 3 เทรนด์สำคัญของภาคธุรกิจที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ความสนใจที่เพิ่มขึ้นด้านการขยายการเติบโตในต่างประเทศ โดยภาคธุรกิจไทยส่วนใหญ่มีเป้าหมายที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศภายใน 3 ปีข้างหน้า


ทั้งนี้ เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ และหารายได้เพิ่มเติมในอาเซียนและจีน โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักสำหรับการเติบโตนี้


ส่วนเหตุผลที่ทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายอันดับต้นๆ ของนักลงทุน เนื่องจากมีแนวโน้มการเติบโตที่เห็นได้ชัด มีประชากรจำนวนมาก พร้อมมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสอดคล้องไปกับข้อตกลงเขตการค้าเสรี และมีค่าแรงที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ยังเป็นคู่ค้าหลักของประเทศไทยในอาเซียน โดยมีมูลค่าการค้าทวิภาคีเกินกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566

ประเทศไทยยังฮอต อีวีจีนเข้าลงทุนเพียบ

ขณะเดียวกันภาคธุรกิจมองว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน สะท้อนจากเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์เดิมที่มีความแข็งแกร่ง ที่ผ่านมาผู้ผลิตอีวีจีนเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับต้นๆ จนถึงปัจจุบันเม็ดเงินจากการลงทุนสูงกว่าญี่ปุ่นแล้ว


นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการในประเทศอื่นๆ ก็ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน จากทั้งการย้ายฐานผลิตออกจากจีนและขยายการลงทุนใหม่ๆ โดยกระจายอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเฮลท์แคร์ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต


อย่างไรก็ดี ธนาคารยูโอบี ได้จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIA) ตั้งแต่ปี 2554 ธนาคารได้สนับสนุนธุรกิจกว่า 4,200 บริษัทในการขยายธุรกิจในภูมิภาค ซึ่งมี 370 บริษัทได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และนับตั้งแต่ปี 2562 หน่วยงานนี้ได้ช่วยให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทย รวมมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการจ้างงานอีกกว่า 18,000 ตำแหน่งทั่วประเทศไทย


ชี้ภาคธุรกิจยังมีข้อจำกัดในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน


วีระอนงค์ กล่าวอีกว่า แม้ว่ากว่า 90% ของธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของความยั่งยืน แต่มีเพียงประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้นำแนวปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอุปสรรคหลักๆ มาจากประเด็นเรื่องต้นทุนทางธุรกิจที่อาจกระทบความสามารถในการทำกำไร ขาดการตื่นตัวในภาคธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงการขาดแรงสนับสนุนจากภาครัฐและสถาบันการเงินด้วย


ทั้งนี้ ธนาคารยูโอบี ได้จัดทำกรอบการบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อช่วยธุรกิจในการเดินทางไปสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน นอกจากนี้ยังมี UOB Sustainability Compass ซึ่งเป็นเครื่องมือแรกในอุตสาหกรรมที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีในทุกอุตสาหกรรม ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้วยการทำแบบประเมินออนไลน์ เพื่อรับรายงานที่ระบุแผนงานและขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน 


ขณะเดียวกัน ธนาคารยูโอบี ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อยั่งยืนมากขึ้น เพื่อสนับสนุน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 จากปัจจุบันธนาคารได้ขยายการให้สินเชื่อที่ยั่งยืนเป็นมูลค่า 3.31 หมื่นล้านบาท ในปี 2566 และประมาณ 25% ของสินเชื่อที่ได้รับการอนุมัติใหม่เป็นสินเชื่อสีเขียว


ภาคธุรกิจเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลปรับใช้มากขึ้น


วีระอนงค์ ชี้ให้เห็นว่าการนำดิจิทัลมาใช้ยังคงอัตราที่สูงในหมู่ธุรกิจไทย โดยเกือบ 40% ได้นำโซลูชันดิจิทัลมาใช้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน ซึ่งเกินค่าเฉลี่ยระดับภูมิภาค การปรับสู่ดิจิทัลได้เพิ่มการเข้าถึงลูกค้า สร้างประสบการณ์อันดีแก่ลูกค้า และเพิ่มความเร็วในการเข้าสู่ตลาด อย่างไรก็ตามการปรับใช้ดิจิทัลกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และการจัดการคู่ค้ายังคงตามหลังอยู่


ยูโอบีตอบสนองความต้องการเหล่านี้ผ่านการจัดการห่วงโซ่อุปทานทางการเงินดิจิทัล (FSCM) ฟีเจอร์ใหม่บนบริการธนาคารดิจิทัลสำหรับลูกค้าธุรกิจนี้ ช่วยให้การดำเนินธุรกิจง่ายขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพผ่านแพลตฟอร์มเดียว โดยสามารถช่วยธุรกิจบริหารจัดการคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด โดยการเปลี่ยนจากการทำงานแบบดั้งเดิมที่มีเอกสารมากมายไปสู่กระบวนการดิจิทัล ช่วยให้ธุรกิจได้รับความสะดวก รวดเร็ว และมีความโปร่งใส สร้างการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่ง พร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจ


“ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าและพันธมิตร ยูโอบีจึงเข้าใจถึงภูมิทัศน์ธุรกิจในปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการปรับใช้เรื่องความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ ด้วยจุดแข็งหลักของเราในฐานะธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค ที่มีรากฐานมั่นคงในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารผู้นำด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านผลกระทบทางความยั่งยืน และมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้” วีระอนงค์ กล่าว.

 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการไทยรัฐออนไลน์