เจาะโมเดลธุรกิจ “Formula 1” ทำเงินอย่างไร ถึงเป็นกีฬาแข่งรถที่ “แพง” สุดในโลก?

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เจาะโมเดลธุรกิจ “Formula 1” ทำเงินอย่างไร ถึงเป็นกีฬาแข่งรถที่ “แพง” สุดในโลก?

Date Time: 24 ก.ค. 2567 13:34 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • เปิดโมเดลธุรกิจของกีฬาแข่งรถที่เรียกได้ว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในโลก "Formula 1" ภายใต้การบริหารงานของ Liberty Media สามารถทำเงินไปได้กว่า 2,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 และในบทความนี้จะพาไปส่องกลยุทธ์ว่า Formular 1 ทำเงินได้อย่างไร?

Latest


เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อ “Formula 1” หรือ “F1” กีฬาแข่งรถที่เร็วที่สุดในโลก หนึ่งในกีฬาที่เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายคน แล้วช่วงที่ผ่านมาคงได้ยินกันอย่างหนาหูมากขึ้น หลังจากที่นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน กำลังผลักดันให้มาจัดแข่งขันในประเทศไทยอีกด้วย

Thairath Money คอลัมน์ How to make money จะพาไปทำความเข้าใจว่า กีฬา F1 คืออะไร ทำไมถึงแพง ใครเป็นเจ้าของ F1 กันแน่ และมีโมเดลธุรกิจหาเงินอย่างไร? เพราะทั้งมูลค่ารถแข่ง ค่าตัวนักแข่ง อีกทั้งเงินทุนในการจัดการแข่งขันแต่ละรอบใน 24 สนามทั่วโลกนั้นไม่ใช่น้อยๆ เลย


Formula 1 คือกีฬาอะไร ทำไมถึงมี “มูลค่าสูง”?


Formula 1 หรือ F1 หรือ ฟอร์มูลา 1 คือ กีฬาแข่งรถที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรถที่ “เร็วที่สุดในโลก” โดยทาง Cardilac เผยข้อมูลว่า รถ F1 ที่วิ่งเร็วที่สุดบนทางตรงในสนามทำความได้เกือบ 375 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว และด้วยชื่อนี้ที่ได้มา ทำให้มูลค่าในการพัฒนารถและจัดการแข่งขันแต่ละครั้งสูงมากเช่นกัน 

สำหรับ F1 ในซีซั่น 2024 นี้ มีทีมที่แข่งขันกันทั้งหมด 10 ทีม แต่ละทีมมีนักแข่ง 2 คน ซึ่งเท่ากับว่าต้องใช้รถแข่งทั้งสิ้น 20 คัน จากข้อมูลของ SCMP รายงานว่า มีการกำหนดมูลค่าในการพัฒนารถแข่งไว้ที่ไม่เกินปีละ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก่อนจะมีข้อกำหนดเช่นนี้ บางทีมใช้งบประมาณกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้กว่า 200 ล้านดอลลาร์ ไปกับการพัฒนาเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว ข้อกำหนดในการใช้งบประมาณพัฒนารถของแต่ละทีมเกิดขึ้นมา เนื่องจากต้องการให้เกิดความยั่งยืนในธุรกิจ (Sustainable) นั่นเอง

ด้วยวัสดุและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตรถ F1 หนึ่งคันนั้น เป็นสิ่งที่มีมูลค่าสูง ยกตัวอย่างเช่น โครงของรถจะใช้คาร์บอนไฟเบอร์ (Carbon Fiber Chassis) ที่มีนำหนักเบาและทนทาน แต่ต้องแลกมาด้วยมูลค่าที่สูงทะลุเพดาน นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ต้องนำมาประกอบเข้ากัน หรือเรียกง่ายๆ ว่ารถแข่ง 1 คันเริ่มต้นมาจากศูนย์ ทุกอย่างคิดออกแบบ และประกอบขึ้นมาที่ละชิ้นเลยทีเดียว ทำให้มูลค่ารถ F1 แต่ละคันมีมูลค่าที่ประมาณ 12-14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากมูลค่าในการพัฒนารถแล้ว มูลค่าด้านอื่นๆ ก็แพงตามไปด้วยเช่นกัน โดยในปี 2024 นี้มีการแข่งขันทั้งหมด 24 ครั้ง ใน 24 สนามทั่วโลก มูลค่าที่ใช้ในการขนส่งทั้งรถแข่ง อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ห้องพักนักกีฬา ออฟฟิศที่สามารถติดตั้งและรื้อถอนได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ต้องขนส่งและติดตั้งภายในระยะเวลาเพียง 1-2 สัปดาห์ เพื่อที่ให้ทันการแข่งขันในแต่ละสนาม รวมไปถึงสตาฟฟ์ของแต่ละทีมอีกหลายพันชีวิต จากข้อมูลของ Prestige พบว่ามูลค่าทั้งหมดที่ใช้ในด้านโลจิสติกส์เพียงอย่างเดียวอยู่ที่ 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้นในแต่ละปีแต่ละทีมแข่งจะต้องจ่ายค่าสตาฟฟ์ ซึ่งรวมไปถึงค่าตัวนักแข่งปีละประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ (10 ทีม ค่าใช้จ่ายรวมก็จะประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์)

และที่กล่าวมาข้างต้นก็ทำให้เห็นว่าทำไม Formula 1 ถึงเป็นกีฬาที่มีราคาแพง โดยล่าสุดในปี 2024 พบว่า ตั๋วเข้าชมการแข่งขันมีราคาอยู่ที่ 199-1,617 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวสำหรับเข้าชมการแข่งขันทั้ง 3 วัน ตั้งแต่รอบทดสอบไปจนถึงวันแข่งจริง ซึ่งสนามที่แพงที่สุดคือ Las Vegas ที่มูลค่า 1,617 ดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 59,000 บาท) และสนามที่ราคาต่ำที่สุด คือ Shaghai ในจีน มีมูลค่าที่ 199 ดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 7,300 บาท)


ใครเป็นเจ้าของ Formula 1?


ปัจจุบันเจ้าของ Formula 1 คือ “Liberty Media” บริษัทมีเดียสัญชาติอเมริกัน หนึ่งในลิสต์ Fortune 500 ได้เข้าซื้อ Formula 1 Group ในเดือนมกราคม 2017 ด้วยงบประมาณกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่บริหารโดย Bernie Ecclestone

การแข่งขันที่เรียกได้ว่าเป็น Grand Prix เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1901 แต่การแข่งขัน F1 ที่เกิดแชมป์โลกขึ้นคนแรกนั้นคือในปี 1950 ภายใต้การดำเนินการของ Fédération Internationale de l'Automobile (FIA) สมาคมไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งขึ้นตามความสนใจของสมาชิกที่ชื่นชอบในยานยนต์ ซึ่งปัจจุบัน FIA คือเบื้องหลังของการแข่งขัน ทั้งเป็นผู้ออกกฎเกณฑ์ ดูแลความปลอดภัยในการแข่ง F1

การบริหารภายใต้ Bernie Ecclestone ดำเนินมาเป็นระยะเวลากว่า 40 ปี เป็นจุดริเริ่มในการพา Formula 1 ไปเป็นองค์กรที่มีมูลค่ากว่า 1,900 ดอลลาร์ ก่อนจะเปลี่ยนมือมาสู่ Liberty Media ในปี 2017 โดยได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารให้แตกต่างออกไปจากเดิม ที่มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าไปที่มหาเศรษฐีรุ่นใหญ่ ให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น ผ่านการเพิ่มช่องทางสตรีมมิง (Streaming) เปิดให้ผู้ที่สนใจกีฬาชนิดนี้เข้าชมการถ่ายทอดสดได้ โดยผ่าน F1 TV โปรแกรมจ่ายรายเดือน (Subscription) อีกทั้งยังเสริมภาพลักษณ์ โปรโมตโปรแกรมแข่งขันผ่านนักแข่ง (Drivers) ดึงดูดลูกค้ากระเป๋าหนักให้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ (Sponsors) และจับมือกับ Netflix ถ่ายทำซีรีส์กึ่งสารคดี “Formula 1: Drive to Survive” เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าถึงและเข้าใจการแข่งขันผ่านมุมมองของนักแข่งและคนในวงการที่ไม่เคยเปิดเผยมาก่อน


แล้ว Formula 1 ทำเงินได้ยังไง? 


จากที่กล่าวมาข้างต้น การที่ Liberty Media เปลี่ยนเกมมาลุยแนวสตรีมมิงมากขึ้น ทำให้กระแสความนิยมในกีฬาชนิดเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปี ในปี 2022 มีรายงานออกมาว่า Formula 1 สามารถทำเงินได้กว่า 2,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 93,000 ล้านบาท ปัจจุบัน Liberty Media มีมูลค่าตามตลาดอยู่ที่ 7,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ


โดย Formula 1 มีกลยุทธ์ทำเงินจาก 5 ช่องทาง ได้แก่

  1. ขายใบอนุญาตเพื่อถ่ายทอด F1 แก่สถานีโทรทัศน์ จากความนิยมที่มีมาอย่างยาวนาน และนโยบายใหม่ของ Liberty Media ที่เปิดโซเชียลมีเดียขึ้นมาใหม่ ทำให้คนหลายกลุ่มเข้าถึงได้มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทสามารถกอบโกยรายได้มหาศาลจากสถานีโทรทัศน์ต่างๆ ที่ต้องการจะถ่ายทอดสดกีฬา F1

    จากข้อมูลของ Investopedia พบว่า สถานีถ่ายทอดกีฬาเจ้าใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอย่าง ESPN ต้องจ่ายให้ F1 ปีละ 70-90 ล้านดอลลาร์/ปี เพื่อขอใบอนุญาตถ่ายทอดสด ในขณะที่ Sky Sport สื่อกีฬาชื่อดังในสหราชอาณาจักรต้องจ่ายกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์เพื่อถ่ายทอดในปี 2019-2024

  2. จับมือกับ Netflix ถ่ายซีรีส์ “Formula 1: Drive to Survive” มูลค่าที่ทาง Netflix ต้องจ่ายให้กับ F1 ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาอย่างชัดเจน แต่ซีรีส์ Drive to Survive นี้ทำให้ F1 กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่นิยมเท่าไร จากข้อมูลของ GQ รายงานว่า 53% ของชาวอเมริกันที่หันมาดู F1 รู้จักกีฬาชนิดนี้เพราะซีรีส์นี้

    อย่างไรก็ตามก็มีข่าวออกมาว่า Netflix ต้องจ่ายให้ F1 เพื่อเข้าไปถ่ายทำ และได้คุยข้อมูลเชิงลึกกับนักแข่งและหัวหน้าทีม (Team Principals) โดย F1 จะมีการจ่ายส่วนแบ่งให้กับแต่ละทีมในภายหลังนั่นเอง

  3. ดึงดูดสปอนเซอร์ให้แต่ละทีม เราจะเห็นว่าทั้งบนชุดขับของนักแข่งบนรถ F1 รวมไปถึงป้ายต่างๆ ในสนามจะมีชื่อของสปอนเซอร์ติดอยู่มากมาย และนี่คือหนึ่งในกลยุทธ์ของ F1 ที่จะดึงดูดสปอนเซอร์กระเป๋าหนักให้มาสนับสนุน F1 และทีมแข่งต่างๆ

    ยิ่งได้พื้นที่ใหญ่เท่าไร ก็เท่ากับว่าจ่ายมากเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น Oracle บริษัทเทคโนโลยีผู้ให้บริการคลาวด์ ได้มีชื่ออยู่ในทีม F1 คือ Oracle Red Bull Racing โดยดีลที่ Oracle ทำร่วมกับทีมคือ ให้การสนับสนุนทางเทคโนโลยีและจ่ายให้กับทีมปีละ 100 ล้านดอลลาร์ เป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นสปอนเซอร์หลัก และเช่นเดียวกันกับป้ายต่างๆ รอบสนามในแต่ละประเทศ อย่างเช่น Rolex ที่ต้องจ่ายให้กับ F1 กว่า 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี

  4. ส่วนแบ่งจากการขายตั๋ว อีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้สำคัญของ F1 คือส่วนแบ่งจากการจำหน่ายตั๋ว โดย F1 มีการจำหน่ายตั๋วเองผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง และยังมีการขายผ่านพาร์ตเนอร์อื่นๆ

    จากรายงานของ Forbes พบว่า ในปี 2015 รายได้จากการขายตั๋วเพียงอย่างเดียวอยู่ที่ประมาณ 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังพบว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5% ทุกปี ตามจำนวนแฟนคลับและคนที่สนใจที่มีเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

  5. เก็บค่าธรรมเนียมจากสนามที่จัดแข่งขัน ในการจัดแข่งขันในแต่ละสนามของแต่ละประเทศนั้นจะมีการทำสัญญาเป็นทั้งระยะสั้นและระยะยาวแตกต่างกันไป การจัด F1 แต่ละเป็นตัวช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้กับแต่ละประเทศที่จัดเป็นอย่างดี เนื่องจากจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากแห่แหนกันเข้าไปในช่วงนั้น

    สำหรับค่าธรรมเนียมของแต่ละสนามที่ต้องจ่ายจะอยู่ระหว่าง 15-55 ล้านดอลลาร์ตามสัญญาที่ทำ ยกตัวอย่าง สนาม Marina Bay ในสิงคโปร์จะต้องจ่ายที่ 35 ล้านดอลลาร์สำหรับจัดแข่งขัน ซึ่งยอดรวมรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมในปี 2022 มีมูลค่ากว่า 700 ล้านดอลลาร์ และทุกเหรียญจะเข้าสู่กระเป๋า F1

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ