ตั้งบริษัทลูกบริหาร 25 สนามบิน

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ตั้งบริษัทลูกบริหาร 25 สนามบิน

Date Time: 4 มิ.ย. 2567 07:20 น.

Summary

  • นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย ความคืบหน้าการโอนสิทธิ์และเข้าบริหารจัดการ 3 สนามบินภูมิภาค คือ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่

Latest

แบนมาแบนกลับ Uniqlo เจอมรสุม หุ้นบริษัทแม่ร่วงหนักในรอบ 2 เดือน เซ่นกระแสแบรนด์ไม่ใช้ฝ้ายซินเจียง

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผย ความคืบหน้าการโอนสิทธิ์และเข้าบริหารจัดการ 3 สนามบินภูมิภาค คือ สนามบินอุดรธานี สนามบินบุรีรัมย์ และสนามบินกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ได้ให้นโยบาย ทอท. เร่งโอนย้าย พร้อมสั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เร่งรัดออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะให้กับทั้ง 3 แห่ง

“การออกใบรับรอง เป็นปัญหาอุปสรรคหลักที่ทำให้เกิดความล่าช้า เพราะในบางจุดยังไม่ได้มาตรฐานตามที่ กพท. กำหนด เช่น ทางเข้า-ออก หาก กพท.ออกใบรับรองแล้ว ถึงจะโอนย้ายให้ ทอท.ได้ จากนั้น ทอท.ก็พร้อมลงทุนตามกรอบวงเงินเดิม 10,360 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของสนามบิน และพัฒนาศักยภาพรองรับผู้โดยสาร”

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมอบนโยบายให้ ทอท.บริหารจัดการอีก 25 สนามบินของ ทย.จากที่เหลืออีก 26 สนามบิน ไม่รวมสนามบินตาก ที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นสนามบินให้บริการเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ ทอท.จะศึกษารูปแบบและแนวทางบริหารจัดการทั้ง 25 สนามบิน พร้อมวิเคราะห์ว่าจะบริหารสนามบินใดบ้าง รวมถึงรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะการตอบสนองผู้ถือหุ้น และศักยภาพเชิงพาณิชย์ เช่น สนามบินขอนแก่น สนามบินตรัง สนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินแพร่ สนามบินน่าน สนามบินแม่ฮ่องสอน เป็นต้น โดยจะใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 6 เดือน

ขณะเดียวกัน ทอท.จะว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาศึกษาและวิเคราะห์โครงการภายใน 2 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 67 และการเข้าบริหารสนามบิน จะเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ ยืนยันว่า การบริหาร 25 สนามบิน ไม่กระทบแผนการลงทุนของ ทอท. และผลประกอบการ พร้อมกันนั้น ทอท.ยังมีแผนจัดตั้งบริษัทลูกมาบริหาร 25 สนามบินด้วย

สำหรับการโอนสนามบินของ ทย.มาบริหารเองนั้น เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ เพราะแต่ละปี รัฐต้องจัดสรรงบ ประมาณให้ ทย.กว่า 3,000-4,000 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ ทย. ก็จะมีภารกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หรือสนามบินใหม่เป็นหลัก แล้วให้รัฐวิสาหกิจ หรือ ทอท.บริหารจัดการ ส่วนข้าราชการของ ทย. มี 2 ทางเลือก คือ โอนย้ายกลับกระทรวงคมนาคม และสมัครเป็นพนักงานของบริษัทลูกของ ทอท.

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ