ผู้สื่อข่าวรายงานจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามในสัญญาจัดหาเครื่องบินและเครื่องยนต์ร่วมกับบริษัท โบอิ้ง และบริษัท จีอี แอโรสเปซ เพื่อจัดหาเครื่องบินแบบลำตัวกว้างพิสัยกลางและไกลพร้อมเครื่องยนต์จำนวน 45 ลำ พร้อมสิทธิในการจัดหาเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่งเพื่อนำเข้าประจำการในฝูงบินของบริษัทตั้งแต่ปี พ.ศ.2570-2576 ตามแผนเครือข่ายเส้นทางบินที่จัดทำขึ้น
ทั้งนี้ การจัดหาเครื่องบินในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีกำหนดจะปลดระวางและทยอยหมดสัญญาเช่าลงในกรอบระยะเวลาข้างต้นเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทที่ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โดยส่วนแบ่งการตลาดของบริษัท เฉพาะ ณ สนามบินสุวรรณภูมิมีสัดส่วนลดลงจาก 51.3% ในปี 2556 เหลือเพียง 27% ในปี 2566 ส่วนหนึ่งด้วยข้อจำกัดด้านฝูงบินของบริษัท ทั้งในเชิงปริมาณและประสิทธิภาพของเครื่องบินในฝูงบิน ในปี 2556 บริษัทมีเครื่องบินรวมทั้งสิ้นจำนวน 100 ลำ ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับการที่บริษัทเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ บริษัทได้ปลดระวางเครื่องบินจำนวนหนึ่งส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565 มีเครื่องบินเหลือเพียงจำนวน 64 ลำ
โดยระหว่างปี 2565-2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้แก้ไขข้อจำกัดด้านฝูงบินโดยการจัดหาเครื่องบินด้วยวิธีเช่า จากความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยเป็นเครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 21 ลำ ซึ่งทยอยรับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องบินแบบ Airbus 350 และจะเริ่มทยอยรับเครื่องบินลำตัวแคบแบบแอร์บัส 321neo ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2568 เป็นต้นไป ทำให้จำนวนเครื่องบินในฝูงบินของบริษัท เพิ่มขึ้นเป็น 70 ลำ ในปี 2566 ที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 79 ลำในปี 2567 และ 90 ลำ ในปี 2568 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนเครื่องบินที่อยู่ในแผนปลดระวางและสัญญาเช่าจะทยอยหมดอายุลงในปี 2576 ฝูงบินของบริษัทจะมีจำนวนเครื่องบินเหลือเพียง 51 ลำ และเมื่อจัดหาเพิ่มเติมในคราวนี้จำนวน 45 ลำ ในปี 2576 บริษัทจะมีเครื่องบินรวม 96 ลำ ซึ่งก็ยังคงน้อยกว่าจำนวนเครื่องบินในฝูงบินของบริษัท เมื่อปี 2556.