Uniqlo เผยมุมมองต่อเทรนด์ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ประกาศเป้าหมายสร้างค่านิยมการหมุนเวียนใช้เสื้อผ้าให้กับสังคม ทำให้คนไทยรู้จักใช้เสื้อผ้าให้คุ้มค่า ระบุ “เราไม่ได้มองตัวเองเป็นฟาสต์แฟชั่น แต่สร้างแฟชั่นเพื่อชีวิต ผลิตเสื้อผ้าตามความต้องการผู้บริโภค ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ”
ช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะสังเกตเห็น ‘โดราเอมอนสีเขียว’ ที่ยืนอยู่หน้าร้าน Uniqlo แต่รู้หรือไม่ โดราเอมอนสีเขียวตัวนี้ ไม่ได้ถูกจับมาวางข้างๆ กล่องไม้เพื่อชักชวนให้คนนำเสื้อผ้าไม่ได้ใช้แล้วมาบริจาคเท่านั้น แต่เจ้าโดราเอมอนสีเขียวตัวนี้ได้มาร่วมงานกับ Uniqlo ในฐานะทูตด้านความยั่งยืนระดับโลก เพื่อสื่อสารกับผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ดีขึ้น
แน่นอนว่าการจับมือกับตัวการ์ตูนโด่งดังระดับโลกและยังเป็นที่รักทั่วทั้งญี่ปุ่น ช่วยให้ Uniqlo สื่อสารด้านความยั่งยืนได้ดีขึ้น การแสดงสัญญะด้วยการเปลี่ยนสีจากสีน้ำเงินอันเป็นเอกลักษณ์เป็นสีเขียว สะท้อนให้เห็นในการเปลี่ยนแปลง และสื่อถึงเป้าหมายของ Uniqlo ที่มุ่งมั่นรักษาโลก สังคม และผู้คน
บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง (Fast Retailing Co., Ltd.) ในนามบริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้า “Uniqlo” ได้ประกาศวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น พร้อมมุ่งปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจของบริษัท เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความยั่งยืนกับการเติบโตของธุรกิจเสื้อผ้า โดยมีเป้าหมายหลักในการทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นด้วยพลังของเสื้อผ้า (The Power of Clothing)
โดยที่ผ่านมา Uniqlo นำเสนอการเป็น ‘แฟชั่นเพื่อชีวิต’ LifeWear Fashion บนปรัชญา “ออกแบบเสื้อผ้าให้ผู้สวมใส่ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น” ดังที่เราจะเห็นจากเสื้อผ้าของแบรนด์ที่จะเน้นฟังก์ชัน ด้วยการดึงจุดเด่นของวัสดุประเภทต่างๆ มาผลิตเพื่อปลดล็อกพลังของเสื้อผ้าที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ ในปี 2558 Uniqlo เปิดตัวด้วยโครงการ “RE.UNIQLO” ที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้ว โดยมีจุดประสงค์ผลักดันแนวทาง ‘การใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด’ ตลอดอายุการใช้งานให้กับผู้บริโภคและสังคม ผ่าน 4 หลักการ ได้แก่
เขมจิรา เทศประทีป ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า Uniqlo มีการควบคุมกระบวนการผลิตเสื้อผ้าที่ยึดหลักตามปริมาณความต้องการของผู้ซื้อ การกระจายสินค้าให้ตรงกับความต้องการในแต่ละท้องถิ่นที่แตกต่างกัน มุ่งลดความสูญเสียที่เกิดจะกระบวนการผลิตให้ได้มากที่สุด ตลอดจนการผลักดันให้ลูกค้าใช้เสื้อผ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับ Sustainable Fashion มากขึ้น อีกทั้งมีผลตัดสินใจในการซื้อเสื้อผ้า โดย Uniqlo ทั่วโลกมีความพยายามในการสร้างแนวทางความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเสื้อผ้าอย่างยั่งยืนด้วยวัสดุทางเลือก หรือการรีไซเคิลเสื้อผ้า (Uniqlo Down Recycling) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบทบาทในการสร้างการตระหนักรู้ให้ผู้คน เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมการทิ้งเสื้อผ้า”
เขมจิรา เปิดเผยถึงแผนงานด้านความยั่งยืนของ Uniqlo ประเทศไทยในปี 2567 ที่จะผลักดันเรื่องค่านิยมการนำเสื้อผ้ากลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้นในประเทศไทย สร้างความตระหนักรู้เรื่องการหมุนเวียนเสื้อผ้าให้กับลูกค้า ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปและการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ โดยในปีนี้ Uniqlo ทั่วโลกตั้งเป้าบริจาคเสื้อผ้าทั่วโลกไว้ที่ 10 ล้านตัวต่อปีให้ได้ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตเสื้อผ้าของแบรนด์ด้วยวัสดุรีไซเคิลให้ได้ 50% ภายใน 6 ปีนี้
ขณะเดียวกันได้รายงานความสำเร็จของโครงการ RE.UNIQLO ในประเทศไทย ที่ได้ร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งได้ทำการบริจาคเสื้อผ้ายูนิโคล่ที่ไม่ใช่แล้วให้กับพันธมิตรองค์กรการกุศล ส่งมอบเสื้อผ้าให้ผู้ที่ขาดแคลนแล้วกว่า 200,000 ตัว
นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งโครงการ “RE.UNIQLO 50,000 Warm Clothes” ของประเทศไทย ที่ริเริ่มในปี 2566 ซึ่งได้ทำการรวบรวมเสื้อผ้ากันหนาวทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร โดยร่วมกับองค์กรการกุศล อาทิ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิบ้านร่มไทร และ UNHCR ประเทศไทย เพื่อส่งต่อให้กับผู้ที่ต้องการ โดยยอดบริจาคนับถึงปลายเดือนธันวาคม 2566 มีผู้บริจาคเสื้อผ้าทั้งหมดกว่า 94,155 ตัว ซึ่งสูงกว่าการบริจาคเสื้อผ้าในปี 2565 กว่า 4 เท่า
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney