วันที่ 11 ม.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือกับธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยและอาเซียน
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศเดินหน้าเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรมสำคัญ ภาพที่เห็นได้ชัดเจน คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัล
โดยคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กันยายน 2566) มีจำนวน 910 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49 คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 398,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 โดยเป็นการลงทุนจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ด้านนายตัน ชุน ฮิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม ซัพพลายเชน และแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว
โดยธนาคารจะร่วมมือกับบีโอไอในการเชื่อมโยงภาคธุรกิจ สนับสนุนธุรกิจทั้งบริษัทต่างชาติที่สนใจจะมาตั้งฐานการผลิตในไทย และช่วยเหลือบริษัทไทยที่สนใจไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ ธนาคารยูโอบีได้จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ในปี 2554 และให้การสนับสนุนธุรกิจกว่า 4,200 บริษัท ในการขยายธุรกิจในภูมิภาค ซึ่งมี 370 บริษัทได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
และนับตั้งแต่ปี 2562 ได้ช่วยให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทย รวมมูลค่ากว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ และการจ้างงานอีกกว่า 18,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ยังให้ความเห็นว่า เมื่อต่างชาติเข้าไปลงทุนในประเทศใด นอกจากประเด็นเรื่องต้นทุนค่าแรงแล้ว ทักษะของแรงงาน และความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ ได้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณา ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงาน จึงสามารถชดเชยต้นทุนค่าแรงที่สูงกว่าประเทศในอาเซียนได้
โดยประเทศไทยมี 3 อุตสาหกรรมหลัก ที่ต่างชาติสนใจลงทุน ได้แก่
1. Hightech Manufacturing ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับธุรกิจอุตสาหกรรม ดึงดูดให้บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ไฟฟ้า สนใจขยายฐานการผลิตในประเทศไทย
2. Future Mobility เนื่องจากประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้ต่างชาติมองว่าไทยมีศักยภาพในการสร้างซัพพลายอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ครบวงจร
3. Smart city development ประชากรไทยมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การขยายตัวของประชากรในเขตเมือง ซึ่งจะดูดการลงทุนด้านการพัฒนาพลังงานทดแทน และระบบขนส่งอัจฉริยะ