"งงมากแม่ กับนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์" คือ บทสรุปสำคัญ ของแบบสำรวจออนไลน์ ความคิดเห็นประชาชนไทย ที่มีต่อคำว่า : ซอฟต์พาวเวอร์ โดย The Attraction (ดิ แอทแทรคชั่น) เว็บไซต์ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ในทุกแง่มุมของประเทศไทย
โดยจริงอยู่ ที่แบบสำรวจดังกล่าวพบว่า คนไทยกว่า 70% ให้คะแนนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft Power ของตัวเองในระดับสูง และมองว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องสำคัญและอยู่รอบตัว แต่เมื่อเจาะถึงนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น เสียงคนไทยเกินกว่า 60% เทไปในฝั่งเดียวกัน คือ ยังไม่ค่อยเข้าใจ และนำมาซึ่งบทสรุป ด้วยคำนิยามว่า “งงมากแม่”
อย่างไรก็ตาม ในแบบสำรวจ “Soft Power ไทย” ยังพบว่ามีหัวข้อที่น่าสนใจในเชิงแบรนด์ และองค์กร ให้ได้ศึกษาต่อ ในมุมภาพสะท้อนความสำเร็จ หลังจากคนไทยส่วนใหญ่ ยกว่า มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน Soft Power ของไทย ไปสู่ระดับโลก โดยมีด้วยกัน 5 แบรนด์ ดังต่อไปนี้
สำหรับ KING POWER (คิง เพาเวอร์) ที่ถูกยกเป็นแบรนด์ทรงอิทธิพลมากที่สุด ในแง่เมื่อเราพูดถึง คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” นั้น เป็นบริษัทด้านธุรกิจค้าปลีกสินค้าปลอดอากรของไทย ก่อตั้งโดย วิชัย ศรีวัฒนประภา
ปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้าปลอดอากร ขายอาหารและสินค้าที่ระลึก ทั้งที่ รางน้ำ, สาทร (มหานครคิวบ์), ศรีวารี, พัทยา และภูเก็ต รวมถึง ร้านค้าในพื้นที่สนามบินระดับชาติหลายแห่ง ได้แก่ สนามบิน สุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, เชียงใหม่, ภูเก็ต, หาดใหญ่ และอู่ตะเภา
แต่นอกเหนือไปจากนั้น ยังเป็นเจ้าของโรงละครอักษรา โรงละครหรูที่ตั้งอยู่ในคิงเพาเวอร์ ซอยรางน้ำ ซึ่งภายในจะถูกตกแต่งด้วยหุ่นละครไทย มีรูปปั้นเหล่าเทพบุตรเทพธิดาสวยงามสุดตระการตา เป็นพื้นที่ อนุรักษ์แบบแผนดั้งเดิม ของศิลปะการเชิดหุ่นของไทย ไว้อย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีการแสดงมวยไทย, การชนไก่ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก และส่งต่อคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ในระดับสากลได้อย่างชัดเจน
ไม่นับรวม การที่คิงเพาเวอร์ได้ขึ้นเป็นเจ้าของกิจการสโมสรฟุตบอลระดับโลก เลสเตอร์ซิตี้ และเปลี่ยนชื่อสนามจาก วอล์กเกอร์ส สเตเดียม เป็น คิงเพาเวอร์สเตเดียม อีกด้วย
ด้าน "สิงห์" หรือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ที่ถูกยกเป็น แบรนด์ทรงอิทธิพล อันดับ 2 นั้น นอกจากเรารู้จักกันในนาม ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่และรายแรกของประเทศไทย เจ้าของตำนาน 90 ปี กระป๋องเบียร์ลายสิงห์ ที่อยู่กับคนไทยในทุกๆ เทศกาล และเป็นที่หลงใหลของนักดื่มชาวต่างชาติด้วยนั้น
แต่รู้หรือไม่? สิงห์ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง การเจรจาความร่วมมือกับ พันธมิตรระดับโลกมากมาย ทำให้โลโก้สิงห์ สัตว์ในตำนานของไทย ไปสู่สายตาระดับสากล ผ่านกลยุทธ์สปอร์ต มาร์เก็ตติ้ง ที่ถูกยกว่า เป็น Soft Power ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าไทยอีกทางหนึ่งด้วย
จะเห็นได้ว่า ภาคเอกชน ถือเป็นอีกหนึ่งแกนสำคัญ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของชาติ ซึ่ง ดิ แอทแทรคชั่น ชี้ว่า ที่ผ่านมา แม้จะยังไม่ได้มีการวางแผน เพื่อสร้างความร่วมมือในระดับนโยบายในหลายภาคส่วน
แต่สิ่งที่ภาคเอกชนดำเนินแผนการตลาดในช่วงที่ผ่านมา ก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยไปสู่ระดับโลก แต่จะดีกว่านี้ ถ้ารัฐบาลช่วย “ให้ทุนสนับสนุน” หรือ “ช่วยเป็นตัวกลางในการประสานงาน” ก็จะทำให้คำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น
ที่มา : ดิ แอทแทรคชั่น