รู้หรือไม่ ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ถูกคิดค้นเพื่อช่วยบรรเทาความหิวโหยของโลกหลังสงคราม ก่อนที่ในปัจจุบันจะถูกมองว่าเป็นอาหารแห้ง ราคาประหยัด อย่างไรก็ตาม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็เป็นเมนูที่หลายคนชื่นชอบ เพราะความง่ายสะดวกรวดเร็วในการปรุงเพียงฉีกซอง และต้มน้ำร้อน แต่ก็สามารถเติมเต็มความอิ่มอร่อยได้อย่างสมบูรณ์แบบ
หากพูดถึงหนึ่งในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปฮอตฮิตทั่วโลก จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากแดนกิมจิที่เรามักเรียกติดปากกันว่า รามยอน (라면) บะหมี่ซองแดงรสเผ็ดยี่ห้อ ‘ชินรามยอน’ (Shin Ramyun) ที่ปรากฏบ่อยๆ ใน K-Series พร้อมซีนการซู้ดเส้นอย่างเอร็ดอร่อยของนักแสดง โดยล่าสุดก็ได้สร้างเสียงฮือฮาให้กับคนไทย หลังจากฟู้ดไอคอนระดับมิชลินอย่าง เจ๊ไฝ ที่ได้บินลัดฟ้าเพื่อเผยโฉม ‘ชินรามยอนสูตรเจ๊ไฝ’ สู่สาธารณะเป็นครั้งแรก
หลายคนรู้จักอาจจะรู้จัก ชินรามยอน แต่อาจจะไม่คุ้นกับชื่อ ‘นงชิม’ หรือ ‘นองชิม’ (Nongshim) บริษัทผู้ผลิตที่มีจุดเริ่มต้นในปี 1965 ช่วงที่หลายประเทศเข้าสู่ยุคแห่งการฟื้นฟู สร้างชาติขึ้นใหม่หลังผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และเข้าสู่ช่วงสงครามเย็น ‘ครอบครัวชิน’ ผู้มีหัวการค้า นำโดย ชิน คยุก โฮ (Shin Kyuk-Ho) พี่ชายคนโตของบ้านที่เริ่มทำธุรกิจ ฝ่าฟันจนสามารถตั้งบริษัทผลิตขนมที่ชื่อว่า Lotte Industrial Company ซึ่งปัจจุบัน คือ กลุ่มบริษัทค้าปลีก Lotte Group ผู้นำกลุ่มบริษัทอาหารรายใหญ่ของเกาหลีใต้
เมื่อช่วงเวลาแห่งการสร้างตัวดำเนินต่อไป ครอบครัวชินก็ได้ขยับขยายกิจการย่อยๆ ด้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็ คือ การก่อตั้งธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Nongshim โดยมี ชิน ชุน โฮ (Shin Choon-Ho) น้องชายเป็นผู้ดูแล
Nongshim ถูกพัฒนาขึ้นโดยให้คุณค่าเรื่องโภชนาการและรสชาติอันเผ็ดร้อนสไตล์เกาหลี เพื่อตอบโจทย์แรงงานทั่วประเทศที่จำเป็นต้องได้รับคุณค่าทางอาหาร อร่อย และอิ่มท้อง เพราะขณะนั้นประเทศกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือรามยอน จะถูกมองเป็นมื้ออาหารประทังชีวิต จนกระทั่งยุคสมัยได้หล่อหลอมให้เรื่องราวของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นเป็นสัญลักษณ์ของคนไม่มีกำลังซื้อที่ต้องทำงานหนัก และใช้ชีวิตอย่างยากลำบากก็ตาม
ต่อมา ชิน ชุน โฮ เริ่มเห็นแววของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลีใต้ที่เติบโตเป็นอย่างมากจนตัดสินใจแยกบริษัท Nongshim เป็นอิสระจาก Lotte ซึ่งขณะนั้นไม่ต้องการลงทุนพัฒนาเพิ่มในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระทั่งในปี 1986 ที่สินค้าเรือธงอย่าง “ชินรามยอน” (Shin Ramyun) บะหมี่รสเผ็ดซองแดงในตำนานออกวางขายเป็นครั้งแรกและประสบความสำเร็จสุดขีดในฐานะ ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ดีที่สุด’ ในเกาหลีใต้ ดันให้ Nongshim ครองส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบัน
การผสมผสานที่ลงตัวระหว่างน้ำซุปรสเผ็ดแบบเกาหลี ผักอบแห้งปริมาณมาก และเส้นบะหมี่หนาหนึบรสชาติดี ทำให้ดูรามยอนเกาหลีดูน่ารับประทานมากกว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วไป แน่นอนว่าทุกอย่างถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้น เพื่อให้แตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลีใต้นั้นมีขนาดใหญ่มาก ถามว่าใหญ่แค่ไหน? ข้อมูลจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodles Association:WINA) บอกไว้ว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในอัตราส่วนต่อหนึ่งคนมีปริมาณที่มากที่สุดในโลกเลยทีเดียว
ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ชิน ชุน โฮ สร้างแผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเน้นย้ำเสมอว่าผลิตภัณฑ์ควรได้รับการพัฒนาด้วยมือของพวกเขาเอง เพื่อให้ได้มาตรฐานรสชาติที่ชาวเกาหลีชอบ และมากไปกว่านั้นยังเป็นที่ถูกอกถูกใจสำหรับคนชาติอื่นๆ เช่นเดียวกัน
New York Times ถึงขั้นยกให้ Nongshim เป็นสุดยอดรามยอนที่ดีที่สุดในโลก โดยเมนูฮอตฮิตในบรรดาฝรั่งตะวันตก คือ ‘Shin Black’ ชินรามยอนเวอร์ชันพรีเมียม ที่มีเครื่องปรุงรสพิเศษ "Sul-long-tang" (กระดูกวัว) ที่ทำให้ได้น้ำซุปกระดูกน้ำนมรสชาติเนื้อ ที่ครีมมี่มากขึ้น มีรสเผ็ดน้อยกว่าชินรามยอนสูตรดั้งเดิม โดยปัจจุบัน Nongshim ก็พัฒนาสินค้าหลากหลายรสชาติให้ได้ลิ้มลอง และได้รับความนิยมไม่แพ้รสดั้งเดิม เช่น จาจังมยอนหรือชาปาเก็ตตี้บะหมี่แห้งซอสถั่วดำ (Chapagetti), รามยอนซุปรสซีฟู้ด (Neoguri) และบะหมี่ซุปรสกิมจิ (Ansungtangmyun) เป็นต้น
ในปี 2022 การส่งออกรามยอนเกาหลีทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 765.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.5% จากปีที่แล้ว ตามข้อมูลของกรมศุลกากรเกาหลี เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้ได้รับความนิยม แม้แต่สหภาพยุโรปก็ตัดสินใจที่จะผ่อนปรนกฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าโดยทำให้กระบวนการตรวจสอบความปลอดภัยง่ายขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่า ตลาดอาหารสำเร็จรูปของเกาหลีใต้มีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าถึง 7 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2571 ซึ่ง รามยอนเกาหลีจะมีส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดอีกด้วย
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ อาหารเกาหลี แพร่กระจายและเริ่มเป็นที่ชื่นชอบมากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างแดน โดยเฉพาะ ‘รามยอนเกาหลี’ นั่นก็คือ ‘กระแสฮันรยู’ ที่แข็งแกร่งและทรงอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม K-pop วงไอดอลสายเลือดใหม่ที่เน้นกลยุทธ์ตีตลาดโลกและมีความเป็นตะวันตกมากขึ้น K-drama ซีรีส์และภาพยนตร์เกาหลีที่ขึ้นชื่อเรื่องบทและการแสดงที่ยอดเยี่ยมได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ บวกกับ วัฒนธรรมมุกบัง หรือการถ่ายทอดสดการกินบน YouTube ซึ่งได้กลายเป็นเทรนด์หลักในเกาหลีใต้ช่วงปี 2010 และแพร่กระจายไปทั่วโลกในปี 2014
แน่นอนว่าอิทธิพลของวัฒนธรรมเกาหลี ทั้งชีวิตความเป็นอยู่ การแต่งกาย อาหารการกินแทรกซึมมากับสื่อที่ผ่านตาคนทั่วโลก เราจะเห็นว่าไม่เพียงแต่ หน้าตาอาหารรามยอน แต่เราจะเห็นถึงการนำเสนอ วัฒนธรรมการกิน วิธีการต้มเส้นด้วยหม้อทองเหลือง การคีบเส้นโดยมีฝาหม้อรองนั้น นับเป็นฉากที่เห็นบ่อยที่สุดในซีรีส์หรือภาพยนตร์เกาหลี ซึ่งการออกแบบและจัดวางที่ผ่านการคิดและออกแบบมาอย่างเฉียบขาดนั้นทำให้คนดูอยากลิ้มลองไปตามๆ กัน
ฉากต้ม 'จาปากูรี' (Chapaguri) เมนูบะหมี่ในตำนานจาก “Parasite” ภาพยนตร์เกาหลีที่ได้รับรางวัลออสการ์ในปี 2019 โดยมี บอง จุน โฮ เป็นผู้กำกับ ทำให้ทั่วโลกรู้จักรามยอนเกาหลีและรู้จัก NongShim มากขึ้นไปอีก เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จที่ตัวละครใช้ในฉาก คือ เมนูที่ใช้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสองยี่ห้อมาผสมกัน คือ Chapaghetti และ Neoguri นั่นเอง หลังจากนั้น ยูทูบเบอร์ตะวันตกจำนวนมากก็เริ่มอัดคลิปรีวิวแชร์ประสบการณ์กับ Chapaghetti ทางออนไลน์ ร้านอาหารในนิวยอร์กพากันเปิดตัว Chapaghetti เวอร์ชันของตัวเอง เรียกได้ว่าฉากนี้ทำให้ยอดขาย Nongshim พุ่งกระฉูดอีกด้วย
ปัจจุบัน Nongshim กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหาร และเครื่องดื่มของเกาหลีใต้ โดยมีรายได้หลักจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คิดเป็น 80% จากรายได้โดยรวมของบริษัท มีเครือข่ายศูนย์จัดจำหน่ายและโรงงานผลิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน และเวียดนาม ส่งออกรามยอนออกไป 100 กว่าประเทศทั่วโลก โดยเริ่มตีตลาดจากเอเชีย และค่อย ๆ โกมาร์เก็ตสู่สหรัฐฯ ยุโรป และโอเชียเนีย มียอดขายในต่างประเทศที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากช่วงการแพร่ระบาดโควิดที่ทำให้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกคึกคักอีกครั้ง
ปี 2560 Walmart เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ Nongshim ที่ร้านค้าทุกแห่งในอเมริกาเหนือ ซึ่งช่วยให้บริษัทอาหารมียอดขาย 1.14 พันล้านดอลลาร์ในต่างประเทศ โดยปี 2566 Nongshim มีกำไรจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า จากการส่งออกและการขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่แข็งแกร่ง โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำไรจากการดำเนินงานได้รับจากยอดขายในต่างประเทศ นอกจากยังตั้งเป้าหมายใหญ่ในการครองตำแหน่งผู้นำตลาดรามยอนในสหรัฐฯ อีกด้วย
การแข่งขันในตลาดอย่างดุเดือดของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในเกาหลียังทำให้อุตสาหกรรมอาหารของเกาหลีใต้มีชื่อเสียงในด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ บะหมี่ถ้วยพร้อมที่กรอง ซอสที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ เมนูง่ายๆ ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในตลาดโลก
สำหรับ Nongshim การผลิตและพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสำหรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างจริงจังมาเป็นเวลาเกือบ 60 ปี ทำให้โลกรู้จัก 'รามยอนเกาหลี' ในฐานะอาหารเกาหลีและสัญลักษณ์แสดงความเป็นชาติที่สะท้อนวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของประเทศสู่สายตาคนทั่วโลกได้อย่างประสบความสำเร็จ
อ้างอิง Nongshim , Koreatimes1 , Koreatimes2 , NST , Korea Herald