เปิดแผนคืนชีพ “การบินไทย” ลุย 4 เรื่องใหญ่! หาเงิน 1.2 แสนล้านบาท

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดแผนคืนชีพ “การบินไทย” ลุย 4 เรื่องใหญ่! หาเงิน 1.2 แสนล้านบาท

Date Time: 21 ส.ค. 2566 05:40 น.

Summary

  • การบินไทยผ่าแผนดำเนินงานปี 66–70 เดินหน้าลุยทำ 4 เรื่องใหญ่ หาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบ ใน 8 ปี มั่นใจปี 66 โกยกำไร 2 หมื่นล้าน กำเงินสดในมือ 5 หมื่นล้าน ลั่น! ไตรมาส 3 ปี 67 เก็บกระเป๋าเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

Latest

Jane Sun ซีอีโอ Trip.com พาธุรกิจท่องเที่ยวฝ่าวิกฤต ขายทริปหรูหลักล้าน หมดใน 17 วิ

การบินไทยผ่าแผนดำเนินงานปี 66–70 เดินหน้าลุยทำ 4 เรื่องใหญ่ หาเงิน 1.2 แสนล้านบาท คืนเจ้าหนี้ทุกรายครบ ใน 8 ปี มั่นใจปี 66 โกยกำไร 2 หมื่นล้าน กำเงินสดในมือ 5 หมื่นล้าน ลั่น! ไตรมาส 3 ปี 67 เก็บกระเป๋าเดินหน้าออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ไตรมาส 1 ปี 68 พร้อมแบ่งเงินสดสะสม 2,000 ล้านบาท ปรับใหญ่แพลตฟอร์มดิจิทัล อุปกรณ์เครื่องบิน ช่องทางขายออนไลน์ และเร่งเพิ่มฝูงบินใหม่ให้ครบ 110 ลำ

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ว่า การบินไทยตั้งเป้าหมายในการจัดทำแผนระหว่างปี 2566-2570 ซึ่งจากที่ดำเนินการตามแผนที่ผ่านมา จึงมั่นใจว่าการบินไทยมีความพร้อมที่จะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการภายในไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะเดียวกันก็จะนำบริษัทกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้ภายในต้นปี 2568 และจะทยอยชำระหนี้ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 120,000 ล้านบาท ให้กับลูกหนี้ให้ครบทั้งหมดภายในประมาณ 8 ปีหน้า ดังนั้น ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นไป บริษัทจึงเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจการบินของการบินไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ตามพันธกิจหลักมีกำหนดไว้ใน 3 ประเด็นหลัก คือ ให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินที่มีคุณภาพสูง เป็นศูนย์กลางการให้บริการเครือข่ายเส้นทางบินอย่างครบสมบูรณ์ (Network Airlines) และ มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย

เปิด 4 แผนกลยุทธ์โกยรายได้

ทั้งนี้ จากพันธกิจทั้ง 3 ประเด็นหลักนั้น ถือเป็นกุญแจความสำเร็จที่การบินจะต้องทำไปพร้อมกับการทำ 4 เรื่องหลัก ดังนี้คือ เรื่องที่ 1 การดำเนินการการบินไทยจะต้องเพิ่มกำไรให้ได้เกินกว่า 20,000 ล้านบาท พร้อมกับหาเงินสดสะสมไว้ให้ได้เกินกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งแนวทางจะเร่งทำให้ได้ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566-2567 หลังจากครึ่งปีแรกสิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2566 พบว่าการบินไทยมีเงินสดสะสมแล้ว 51,153 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 14,795 ล้านบาท ดังนั้น หากการบินไทยยิ่งทำให้มีผลประกอบการดีขึ้นมากเท่าไร เงินสดก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งผลพลอยได้ก็จะทำให้ราคาหุ้นรอบใหม่ดีขึ้นตามไปด้วย

นายชายกล่าวต่อว่า ดังนั้น ขั้นตอนต่อจากนี้การบินไทยจะต้องบริหารจัดการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่ติดลบอยู่ 56,253 ล้านบาท ด้วย 2 วิธีคือ 1.แปลงหนี้เป็นทุน 37,500 ล้านบาท ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็จะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นเหลือติดลบอยู่ประมาณ 19,000 ล้านบาท 2.ทำกำไรสุทธิปี 2566 ให้ได้เกิน 19,000 ล้านบาท ซึ่งหากดำเนินการได้ก็จะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นติดลบหายไปได้ทันที

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการจะเป็นไปได้การบินไทยก็จะต้องจัดการกับ 3 ตัวแปรหลัก ประกอบด้วย ตัวแปรที่ 1 การทำ “กำไรสุทธิ” เปรียบเทียบการดำเนินงานของการบินไทยและบริษัทย่อยครึ่งแรกปี 2566 ทำได้แล้ว 14,795 ล้านบาท ดังนั้น การบินไทยจะต้องรักษามาตรฐานนี้ไว้ต่อในช่วงครึ่งหลังปีนี้ แล้วทำให้กำไรรวมตลอดทั้งปีนี้ให้ได้เกิน 20,000 ล้านบาทขึ้นไป ผนวกกับปี 2567 การบินไทยจะต้องเดินหน้าทำรายได้ และกำไรต่อเนื่องต่อไป ตัวแปรที่ 2 กำไรก่อนหักค่าเช่าเครื่องบิน (EBITDA) ช่วงครึ่งปีแรก 2566 ทำได้แล้ว 23,361 ล้านบาท ตัวแปรที่ 3 การเพิ่มทุน ตามสมมติฐานตั้งเป้าหมายที่จะขายหุ้นเพิ่มทุนให้ได้ถึง 40,000 ล้านบาท จากราคาหุ้นแปลงหนี้เป็นทุนอยู่ที่ 2.5452 บาท/หุ้น ดังนั้นเมื่อเพิ่มทุนก็จะมีโอกาสขายหุ้นได้ในราคาสูงกว่านี้แน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องประเมินผลอีกครั้งหลังมีงบการเงินออกมาอย่างชัดเจน

เร่งเพิ่มฝูงบินใหม่ให้ครบ 110 ลำรับนักเดินทาง

เรื่องที่ 2 ด้วยการจัดหาฝูงบินใหม่เข้ามาเพิ่มจำนวนที่นั่งบริการผู้โดยสาร อนาคตตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป การบินไทยจะต้องมีเครื่องบินประมาณ 110 ลำ จากปัจจุบันมี 67 ลำ พร้อมกับรับสมัครลูกเรือเพิ่มตามจำนวนฝูงบิน ตอนนี้มีรวม 3,500 คน เป็นลูกเรือเก่า 3,000 คน และเพิ่งเปิดรับเพิ่มใหม่กำลังฝึกอบรมอยู่ 500 คน

อย่างไรก็ตาม ตามแผนจัดหาฝูงบินจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.เครื่องบินกำลังจะหมดสัญญาเช่า 2.เครื่องบินใหม่ที่จะเพิ่มจำนวนที่นั่งและรายได้ ซึ่งเครื่องบินตอนนี้ล็อตแรกเข้ามาเพิ่มได้แล้วเป็นแอร์บัส A350 จำนวนรวม 11 ลำ แต่ก็ต้องเร่งหาให้ครบตามเป้าหมายสอดคล้องตามวางแผนอนาคตเพื่อใช้เครื่องบินบริการ ปัจจุบันเครื่องบินที่ใช้งานนำมาบินในตลาดอาเซียน อินโดจีน 20% เอเชียทั้งในเกาหลี ญี่ปุ่น จีน และประเทศอื่นๆอีกกว่า 30% ยุโรป 30% ที่เหลือเป็นออสเตรเลียเกือบ 10%

ส่วนสถานการณ์ตลาดขณะนี้กำลังแข่งขันกันหาเครื่องบินไกลขนาดใหญ่ลำตัวกว้างไว้รองรับความต้องการของผู้โดยสารอนาคต คือ โบอิ้ง B787-9 กับ แอร์บัส A350-900, A350-1000 ล่าสุด โบอิ้งผลิตเครื่องรุ่นใหม่ B77X มีขนาดใหญ่กว่า B777-300ER เพราะแบบของเครื่องบินแต่ละรุ่นจะมีผลต่อประสิทธิภาพการลงทุนด้วยเงื่อนไขเรื่องเครื่องยนต์ที่ติดตั้งมากับเครื่องบินแต่ละรุ่น ดังนั้น การบินไทยหรือสายการบินต่างๆจำเป็นจะต้องใช้อำนาจการเจรจาต่อรองให้ได้มากที่สุดวิธีเดียวเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันโบอิ้ง B787-9 ใช้ GE กับโรลส์รอยซ์ ส่วนแอร์บัส A350-900, A350-1000 ใช้โรลส์รอยซ์เท่านั้น

ทุ่ม 2 พันล้านปรับแพลตฟอร์มดิจิทัล

เรื่องที่ 3 วางแผนลงทุนทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ โดยจะนำเงินสดสะสมที่มีขั้นต่ำรวมๆเกือบ 2,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 ปรับปรุงเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากร บริการทางดิจิทัลเทรนด์ใหม่ๆเพื่อเตรียมความพร้อมแข่งขันกับตลาดทั่วโลก เพราะมีฝูงบินอายุมากใกล้หมดสัญญาเช่าช่วงปี 2569-2570 ได้แก่ โบอิ้ง B777-330ER จำนวนทั้งหมด 17 ลำ แบ่งย่อยเป็น 2 ส่วน คือ การบินไทยเป็นเจ้าของ (financial least) สามารถปรับปรุงได้ตามปกติ มีไม่ถึง 10 ลำ และเช่าปฏิบัติการบิน (Operating least) จะต้องเจรจากับผู้ให้เช่าเครื่องบิน

ส่วนที่ 2 การลงทุนพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มครั้งใหญ่ทั้งระบบการบินจะใช้เงิน 400-500 ล้านบาท เพิ่มผลผลิตและรายได้ให้การบินไทยเต็มที่ เช่น รายได้จากการขายผ่านช่องทางออนไลน์เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน โดยจะทำเป็นเฟส เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2567 ใช้เวลาทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปีหน้า

ส่วนที่ 3 พัฒนาแพลตฟอร์ม ERP SAP ลงทุนอีกกว่า 1,000 ล้านบาท จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านบริการให้คำปรึกษาและวางระบบซอฟต์แวร์แบบครบวงจร ตอนนี้ใกล้จะหมดสัญญาบริการแล้วปี 2568 (ปกติทำสัญญาจ้างประมาณ 5-10 ปี) จะต้องเริ่มศึกษาหาแพลตฟอร์มใหม่เข้ามาแทนภายให้ทันภายใน 2 ปีนี้

จับมือ “ทอท.”เพิ่มประสิทธิภาพสู่ระดับโลก

เรื่องที่ 4 เพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพบริการร่วมกับธุรกิจสนามบินของไทย โดยการบินไทยจะจับมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) “AOT/ทอท.” ขยับอันดับในเวทีโลกให้ดีขึ้น จากปัจจุบันนี้การบินไทยอยู่อันดับ 40 ส่วน AOT อยู่อันดับ 48 โดยมีเป้าหมายหลักต้องการทำให้คุณภาพบริการของทั้งสององค์กรดีขึ้น แล้วทำให้ได้รับการโหวตขยับขึ้นสู่อันดับต้นๆของโลกได้ด้วย

ล่าสุดได้นำเสนอโดยตรงกับ ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. บ้างแล้ว นำร่องทำเรื่อง “หลุมจอดเครื่องบินในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ” อำนวยความสะดวกให้การบินไทยมีโซนจอดชัดเจน ทำให้ธุรกิจ วิน วิน ไปด้วยกัน

โดย “การบินไทย” จะได้ประโยชน์เรื่องช่วยลดต้นทุนขั้นตอน ทั้งการเคลื่อนย้ายเครื่องบิน อุปกรณ์แต่ละเที่ยวได้รวดเร็ว ขณะเดียวกันทำให้ผู้โดยสารทุกเที่ยวบินลดเวลาใช้บริการต่อเที่ยวบินสั้นลงได้ ส่วน “ทอท.” ก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน คือ สามารถจัดกิจกรรมและปริมาณจราจรขนส่งในสนามบินลดความวุ่นวายลงได้อย่างมาก รวมถึงยังคงรับรายได้จากการบินไทยตามปกติด้วย

ปัจจุบัน การบินไทยกับไทยสมายล์มีส่วนแบ่งผู้โดยสารใช้บริการในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ 28% จากเดิมเคยทำได้กว่า 30% เปรียบเทียบกับสายการบินที่ให้บริการอยู่ในสนามบินแห่งชาติของตนเอง (homebase) แล้วจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 40% ขึ้นไป แต่สัดส่วนดังกล่าวสะท้อนถึงการบินไทยเองทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) เนื่องจากไม่สามารถขยายการเติบโตได้ตามต้องการ เพราะฝูงบินใหม่เข้ามาเพิ่มปริมาณที่นั่งได้ ช่วงอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการได้พยายามหาเครื่องมาเพิ่มกำลังการผลิตที่นั่งโดยสารได้แล้ว 20% ของทั้งหมด แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

“จึงต้อง “วางแผนระยะยาว” จัดหาเครื่องบินให้ได้ แต่ยังมีอุปสรรคเพราะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกทั้งแอร์บัสและโบอิ้งไม่สามารถผลิตเครื่องบินได้ตามความต้องการของตลาดโลก ตอนนี้ในสต๊อกผลิตเครื่องบิน (backlog) มีสายการบินสั่งจอง ทั้งเช่าและซื้อเป็นเจ้าของกันไว้หมดแล้ว การบินไทยต้องไปต่อคิวเป็นลูกค้ารายใหม่ เป็นอีกหนึ่งความท้าทายซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จต่อไป” นายชายกล่าวย้ำ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ